xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ห้ามจุดพลุ บทอาเศียรวาทมติชน แดงเหิมขายตีนตบวันมหามงคล 3 วิชามารแห่งรัฐไทยใหม่????!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ห้ามจุดพลุเฉลิมพระเกียรติ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช ประจำปีพุทธศักราช 2555 ซึ่งเป็นวันที่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าพร้อมใจกันเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต สังคมไทยจะต้องเผชิญกับเรื่องที่เสมือนหนึ่งเป็น “วิชามารแห่งรัฐไทยใหม่” ซึ่งทำให้อุณหภูมิในร่างกายของผู้จงรักภักดีร้อนฉ่าซ้ำแล้วซ้ำ เล่าหลายต่อหลายเรื่อง

วิชามารแห่งรัฐไทยใหม่วิชาแรกคือคำสั่งของ “กระทรวงมหาดไทย” ที่ห้ามทุกจังหวัดในผืนแผ่นดินนี้ “จุดพลุเพื่อเฉลิมพระเกียรติ” ในวาระอันเป็นมหามงคลของราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ หลักฐานที่ชัดเจนคือ การที่ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือที่ มท.0201.๓/ว ๕0๒๗ ลงวันที่ 30 ต.ค.2555 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.2555 โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาฯ โดยกำหนดให้ทุกจังหวัดดำเนินการเหมือนกันเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดงานส่วนกลางที่กรุงเทพฯ และกำชับให้งดการจุดพลุ

นั่นคือความจริงที่สร้างความปวดร้าวอย่างไม่อาจประเมินค่าออกมาได้ เพราะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ทำให้พลุที่เคยจุดสว่างไสวเพื่อเฉลิมพระเกียรติทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

และนั่นคือความเหิมเกริมที่พสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีมิอาจยอมรับได้

ด้วยเหตุดังกล่าว สิ่งที่จำเป็นต้องค้นหาคำตอบให้ได้ก็คือ ทำไมปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ชื่อวิบูลย์ สงวนพงศ์ถึงได้กล้าทำเช่นนี้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นคนสั่งใช่หรือไม่ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มให้มีคำสั่งเช่นนี้ออกมา หรือมีอ้ายอีหน้าไหนเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง

ทั้งนี้ ในช่วงแรกหลังจากจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีกระแสข่าวออกพยายามบิดเบือนว่า สำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ในที่สุดความจริงก็ปรากฏเมื่อ “นายดิสธร วัชโรทัย” รองเลขาธิการสำนักพระราชวังให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า “ทางสำนักพระราชวังไม่ได้ห้าม และไม่เกี่ยวกับสำนักพระราชวัง ต้องไปถามกระทรวงมหาดไทย เราไม่รู้ และคณะกรรมการดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ห้าม ซึ่งจริงๆ แล้วการจุดพลุเป็นการแสดงผมเป็นคนจัดงานผมยังจุดเองเลย ถ้าผมเป็นคนจัดเอง ผมก็จะเอาอันนี้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง จำได้มั้ยตอนเปิดสะพานภูมิพล เพราะเราต้องการดึงตาคน ทั้งนี้ต้องดูที่ความเหมาะสมด้วย”

คำถามจึงย้อนกลับมาที่นายวิบูลย์ สงวนพงศ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นายวิบูลย์ ชี้แจงหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้ทุกจังหวัดงดการจุดพลุในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่การไม่จงรักภักดีตามที่สังคมออนไลน์วิจารณ์กัน แต่เป็นเพราะมติของคณะกรรมการฯ ที่สั่งการมายังมหาดไทย ให้แจ้งไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ส่วนสาเหตุ คงต้องไปถามคณะกรรมการฯ ซึ่งในวันงานทุกส่วนในภูมิภาคจะมีพิธีพร้อมกับ กทม.

คณะกรรมการฯ ที่นายวิบูลย์เอ่ยถึงหรือโบ้ยให้เป็นผู้รับผิดชอบมีชื่อเต็มว่า “คณะกรรมการดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 2555” โดยมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

“เราคุยเรื่องอื่นดีมั๊ย”

นั่นคือคำตอบจากปากของนายวิวัฒน์ธำรง

“ไม่ได้สั่ง เป็นลักษณะของความร่วมมือ ถ้ายังมีข้อสงสัย จังหวัดไหนระบุมาได้เลย เดี๋ยวผมจะมาทำความเข้าใจ คิดว่าปัญหานี้จะหมดไป”

นั่นคือคำตอบจากปากของนายจักรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ชี้แจงแทนนายนิวัฒน์ธำรง

และสุดท้ายเมื่อสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและไม่สามารถบอกปัดความรับผิดชอบได้ นายวิบูลย์ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งก็พลิกลิ้นในฉับพลันทันทีว่า “เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ผมได้แจ้งผลดังกล่าวไปยังทุกจังหวัดแล้ว ซึ่งทุกจังหวัดก็สามารถจุดพลุและจัดงานเฉลิมพระเกียรติได้เป็นปกติเหมือนทุกปี”

แม้สุดท้ายแล้ว นายวิบูลย์จะพลิกลิ้น แต่คำถามที่ยังคงดังก้องในสังคมก็คือ ใครคือผู้บงการให้ออกคำสั่งดังกล่าวออกมา

วิชามารแห่งรัฐไทยใหม่วิชาที่สองเกิดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2555

กล่าวคือขณะที่พสกนิกรจากทั่วทุกสารทิศพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลืองเดินทางมาเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งส่งผลทำให้ดัชนีความสุขของคนไทยพุ่งสูงสุดในรอบปี กลับปรากฏ “คนเสื้อแดง” ใส่ผ้ากันเปื้อนสีแดงสกรีนรูปนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี นำสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดง อาทิ ตีนตบ แก้วน้ำ ออกมาวางจำหน่าย ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน ท่ามกลางประชาชนสวมเสื้อสีเหลืองที่จงรักภักดีอย่างไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ

เดชะบุญที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เพราะคนเสื้อเหลืองที่พบเห็นขอร้องให้หยุดขาย และออกนอกพื้นที่ทันที

สมมติว่า ถ้าเกิดคนเสื้อเหลือง(บางคน) ไม่อาจหักห้ามใจได้แล้วจะเป็นอย่างไร มิใช่กลายเป็นข่าวใหญ่โตให้เสื่อมพระเกียรติในวันมหามงคลดอกหรือ

ดังนั้น จึงทำให้สังคมอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า นี่ไม่ใช่เป็นความบังเอิญหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากแต่การจัดตั้ง เป็นบทละครที่วางแผนเอาไว้แล้วล่วงหน้า

ที่สำคัญคือ ตำรวจที่วางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างดาษดื่นทั่วทั้งบริเวณปล่อยให้แม่ค้าเสื้อแดงคนนี้เข้ามาในพื้นที่ได้อย่างไร ถ้าไม่เจตนาปล่อยมาเพื่อให้เกิดเรื่องขึ้น

และวิชามารแห่งรัฐไทยใหม่วิชาที่สาม ซึ่งถูกวิจารณ์หนักไม่แพ้กันก็คือ บทอาเศียรวาทของ “หนังสือพิมพ์มติชน” ที่ตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2555

วันหนึ่งฟ้าสว่างกระจ่างแจ้ง   ลมแล้งในใจไห้โหยหาย
ข้าวกล้านาไร่ได้กลิ่นอาย   ยามฝนขวนขวายมุ่งหมายมา
วันหนึ่งเมฆคลุ้มเป็นกลุ่มก้อน   ลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา
พฤกษ์พุ่มชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา   ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร

เป็นบทอาเศียรวาทที่ต้องบอกว่า ผิดไปจากจารีตและขนบประเพณีของชนชาติไทยที่เคยได้พบเห็น เพราะถ้าหากอ่านบทกวีดังกล่าวจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่านี่คือคำถวายพระพร แถมยังเป็นบทอาเศียรวาทในลักษณะการตั้งคำถามอีกต่างหาก ดังนั้น จึงมีผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงจิตเจตนาของมติชน ว่ามีเป้าประสงค์เช่นไร รวมทั้งมีผู้แต่งบทกวีตอบโต้เอาไว้อย่างถึงพริกถึงขิงไม่แพ้กัน
ยกตัวอย่างเช่น “บิลลี่ โอแกน” ดารานักแสดงชื่อดัง โพสต์บทกลอนตอบโต้ ระบุว่า

“อาเจียรวาทชาติหมาประสาหนอน
แต่งคำหอนโหยหวนชวนคลื่นเหียน
มติหมาภาษาสัตว์ร่วมกัดเกรียน
จงวนเวียนเดียรัจฉานสถานเอย”

ขณะที่ผู้ใช้นามว่า “พี่คนดี กวีสมัครเล่น” ได้เขียนกลอนผ่านทางเฟซบุ๊ก P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น) เพื่อตอบโต้ “มติชน” ความว่า

“วันนี้มี เมฆคลุม เพราะกลุ่มโจร
ที่อยากโค่น แบ่งข้าง สร้างปัญหา
จิตใจมืด หม่นสลัว มัวในตา
ทุรยศ บดบังฟ้า ด้วยฝ่ามือ

ฟ้าสว่าง เป็นอย่างไร คงไม่เห็น
แค่เขียนกลอน ยังซ่อนเร้น เล่นไม่ซื่อ
เขียนกำกวม ไม่น่าฟัง บังควรฤา
อย่างนี้หรือ คือร่าย ถวายพระพร

ฟ้าสว่าง กระจ่างใจ ไม่ต้องฝัน
ถ้าไม่ปัน ใจให้ จัญไรหลอน
มีเมฆน้อย เมฆหนา ไม่อาทร
มีลมร้อน ลมเย็น ไม่เป็นไร

ช่างเก่งเหลือ เหนือเมฆ โหวกเหวกกล้า
คิดจะเหิน เทียบฟ้า หรือไฉน
คิดจะรวม เมฆคลั่ง บังฟ้าไกล
อย่าลืมว่า เมื่อเมฆใหญ่ จะตกลง

เพราะว่าฟ้า อย่างไร ก็คือฟ้า
ไม่มีวันต่ำลงมา อย่าประสงค์
ใจย่อมรู้ อยู่แก่ใจ ใฝ่จำนง
ว่าสรรเสริญ หรือยุยง ที่ลงไป

อาเศียรวาท อาจแต่ง เป็นโคลงกลอน
จากผู้น้อย อำนวยพร ถึงผู้ใหญ่
เมื่ออ่านดู ได้รู้ซึ้ง ถึงจิตใจ
รู้ว่าใคร เป็นใคร ได้ระวัง”

ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมของบทอาเศียรวาทดังกล่าวว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาโดยละเอียดแล้วพบว่าผู้ประพันธ์มีเจตนาที่จะส่อเสียด หรือก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันไปมากกว่าจะเป็นถวายพระพรตามปกติ เหมือนที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่คนอ่านแล้วจะเข้าใจความหมาย ถือเป็นการกระทำที่แยบยลของผู้ประพันธ์ เช่น คำว่าฟ้า ในวรรคที่หนึ่งดูเหมือนจะมีความหมายถึงในหลวง แต่พอวรรคท้ายกลับมีการตั้งคำถามว่าฟ้าดีอย่างไร หรือคำว่าฝนในวรรคที่สี่ ซึ่งน่าจะทำให้ลมแล้งหายไปกลับกลายเป็นปัญหาในวรรคที่ห้า

ทั้งนี้ บทประพันธ์นี้ตั้งแต่วรรคหนึ่งถึงวรรคสี่ไม่มีปัญหา เพราะเหมือนจะสื่อว่าในหลวงคือฟ้าสว่างที่นำเอาฝนมาให้ข้าวในนาได้งอกงาม แต่พอเริ่มวรรคห้าที่ว่าลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา จึงเกิดคำถามว่าแล้วฝนที่มาจากฟ้าหรือจากในหลวง เหตุใดจึงทำให้เกิดปัญหา วรรคที่ห้านี้พลิกความหมายที่ปูมาตั้งแต่วรรคหนึ่งถึงวรรคสี่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นว่าฟ้าสว่างทำให้เกิดปัญหา จากนั้นก็ตามด้วยพฤกษ์ชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา กลายเป็นต้นข้าวถูกน้ำท่วมซ้ำ สุดท้ายก็ตั้งคำถามว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร ไม่มีตรงไหนที่จะบอกว่าเป็นบทประพันธ์ที่ถวายพระพรในหลวงเลย

“บทประพันธ์นี้หากนำออกไปตีพิมพ์เดี่ยวๆโดยตัดคำว่าอาเศียรวาทและภาพในหลวงออกไป คนอ่านจะไม่รู้เลยว่านี่คือบทประพันธ์ถวายพระพรในหลวง ยิ่งหากดูบริบทอื่นๆประกอบ เช่น บทความหรือข้อเขียนต่างๆในหนังสือพิมพ์มติชนที่มีแนวทางเช่นนี้ ก็จะยิ่งเห็นว่าบทประพันธ์เจตนาอย่างไร”ดร.อนันต์ชำแหละบทอาเศียรวาทอย่างตรงไปตรงมา

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา อดีตคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ของประเทศไทยที่แสดงความคิดเห็นไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตนอ่านแล้วงง มีข้อสังเกตว่า เป็นบทอาเศียรวาทที่ผิดแผกไปจากขนบการประพันธ์ ถามว่าไม่ทำตามขนบได้ไหม ตอบว่าก็ได้ บทอาเศียรวาทอาจจะไม่ต้องใช้ศัพท์แสงหรูหรา หรือฉันทลักษณ์แบบที่ยาก เช่น สัททุลวิกีฬิตฉันท์ อาจใช้คำง่าย สื่อภาพสื่อความคิดที่จับใจ อาจจะเลือกเขียนเป็นบทร้อยแก้วสั้นๆ เขียนเป็นบทสารคดีสั้นๆ ก็ได้ แต่ด้านเนื้อหา คงต้องดำเนินตามกรอบคือการสดุดี สรรเสริญ ผู้แต่งแต่ละคนสามารถเลือกประเด็นมาเล่าความคิด

“บทอาเศียรวาทใน นสพ.มติชน นี้ มีเนื้อหาคลุมเครือ เนื้อความแบ่งเป็นสองส่วน และใช้สัญลักษณ์ที่ไม่แน่ใจว่าตั้งใจจะสื่อถึงอะไร ท่อนแรกว่า วันหนึ่งฟ้าสว่าง ข้าวนาอุดมสมบูรณ์ ความทุกข์ความโศก (ลมแล้ง) ปลาตหายไป ท่อนที่สอง เนื้อความต่อเนื่อง ทำนองว่า เวลาผ่านไปจนวันหนึ่ง มีเมฆคลุ้ม ซึ่งไม่รู้ว่าผู้แต่งเขาตั้งใจจะให้หมายถึงใคร มีลมร้อนลมเย็นซึ่งก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าจะให้หมายถึงอะไร แต่แน่นอน ต้องหมายถึงสิ่งที่ไม่ดี ที่เข้ามาทำลาย “ฟ้า” ที่เคยสว่าง และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน นอกจากนี้ “เมฆคลุ้ม” นี้ ยังส่งผลให้ “พฤกษ์พุ่มชอุ่ม” นั้น เกิด “ช้ำท่วมน้ำตอ พฤกษ์พุ่มชอุ่มนี้หมายถึง ใคร หมายถึงประชาชนหรือ ถ้าใช่ แปลว่าอะไร แปลว่า “ฟ้าคลุ้ม” ในวันนี้ได้ย่ำ ยีประชาชนให้ได้ทุกข์เช่นนั้นหรือ? และผู้แต่งตบท้ายว่า “ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร” ฟ้าสว่าง ในช่วงท้ายต้องหมายถึงบุคคลเดียวกันกับ ฟ้าสว่าง ในบทแรก ฟ้าสว่างคือใครหรือ ? ผู้แต่งปรารถนาให้ “ฟ้าสว่าง” มาดูแลบ้านเมือง เพราะบอกว่า ฝันว่าฟ้าสว่างนั้นดีอย่างไร อยากให้ “ฟ้าสว่าง” กลับมา” ผศ.ดร.ธเนศ กล่าว

ผศ.ดร.ธเนศ กล่าวอีกว่า ที่พยายามวิเคราะห์แยกแยะนัยข้างต้น ไม่ได้ตั้งใจจะบอกว่าผู้แต่งคนนี้ตั้งใจจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเราอาจตีความว่า “ฟ้าสว่าง” หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ “เมฆคลุ้ม” หมายถึง กลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้แก่บ้านเมืองที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ตาม เนื้อความก็ยังคลุมเครือ สุ่มเสี่ยงต่อการตีความเป็นอื่นให้เกิดความแคลงใจว่าตั้งใจจะสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือไม่ และสดุดีสรรเสริญประเด็นใดกันแน่ โดยสรุปช่างเป็นบทอาเศียรวาทที่แปลก อ่านแล้วอึ้ง งง ไม่คุ้นเคย ไม่กล้าชม ไม่กล้าด่า แต่คิดว่า นสพ.มติชนคงไม่กล้าสื่อความหมายหรือน้ำเสียงที่ มีนัยลบอย่างโจ่งครึ่มแน่นอน ซึ่งตนคิดในแง่ดี แม้ว่ายังตะขิดตะขวงใจเมื่ออ่านบทประพันธ์นี้ทวนซ้ำไปซ้ำมา

เมื่อเสียงวิจารณ์ดังขรมทั้งแผ่นดิน วันที่ 6 ธ.ค. เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้ออกคำชี้แจงกรณีอาเศียรวาทเอาไว้ว่า“....อาเศียรวาทสองบทนี้ มีความหมายตรงตามตัวอักษรทุกประการด้วยวิธีการเขียนบทกวีที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ จึงใช้วันฟ้าสว่างกับวันฟ้ามืดครึ้ม วันฟ้าสว่างนั้นแม้แต่ลมแล้งในใจผู้คนที่โหยไห้ก็ยังหาย ข้าวกล้านาไร่ยังได้กลิ่นอายฝนที่มุ่งหมายมาตกต้องตามฤดูกาลย่อมหมายถึงความสว่างในพระบรมเดชาเมตตาบารมี ที่ปกเกล้าพสกนิกรและทุกสรรพสิ่ง อันเนื่องมาจากพระวิริยะอุตสาหะเช่นฟ้าฝน ชลประทาน หรืออ่างเก็บน้ำอันยังประโยชน์ สม่ำเสมอแก่ไร่นาดังนั้น เมื่อมีวันมืดครึ้ม ซึ่งแม้แต่ธรรมชาติปัจจุบันเช่นที่เห็นกันก็ผันผวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นเป็นปัญหาจึงมีหรือที่จะไม่นึกฝันถึงวันฟ้าสว่าง วันที่กระจ่างแจ้งร่มเย็นอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร ว่าดีอย่างไร ดีขนาดไหน คือความหมายซึ่งอธิบายได้ตามตัวอักษรทุกวรรคตอน”

“กองบรรณาธิการหวังว่า คำอธิบายความหมาย สัญลักษณ์ และเจตนาของผู้ประพันธ์ น่าจะสร้างความกระจ่างและทำให้เกิดการตีความที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของผู้ประพันธ์”

จากนั้นก็อธิบายเพิ่มเติมในเวลาต่อมา เนื่องเพราะคำชี้แจงในครั้งแรกเป็นคำชี้แจงที่ต้องบอกว่า เอาสีข้างเข้าถูชนิดที่ไม่สามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจได้เลยแม้แต่น้อย แต่ยิ่งอธิบาย กระแสวิพากษ์วิจารณ์กลับยิ่งดังหนักเข้าไปอีก

“อนึ่ง ที่ยังมีข้อสงสัยต่อความหมายในบาทสุดท้าย ที่ว่า “ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร” นั้น หากติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ย่อมเห็นแล้วว่า ปัจจุบันมีปัญหามากมาย ที่ทำให้คนส่วนมากเดือดเนื้อร้อนใจ มีแต่คนส่วนมากเรียกร้องความสงบสุขในสังคม เพื่อจะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน เช่นนี้แล้ว ทำไมจึงจะไม่คิดถึงล่ะว่าวันที่ฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งนั้นดีอย่างไร วันที่ธรรมชาติดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามฤดูกาล ไร่นาประชาชนสมบูรณ์ วันที่พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล ปราศจากฝุ่นละอองใดๆ มาแผ้วพาน”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 3 เหตุการณ์ ไล่เรื่อยมาตั้งแต่คำสั่งกระทรวงมหาดไทยห้ามจุดพลุเฉลิมพระเกียรติในวันที่ 5 ธันวาคม ตามต่อด้วยแม่ค้าเสื้อแดงเหิมเกริมขายตีนตบในวันมหามงคลและตบท้ายด้วยบทอาเศียรวาทของหนังสือพิมพ์มติชน ทำให้สังคมไทยต้องขบคิดกันแล้วว่า เกิดขึ้นอะไรในราชอาณาจักไทย และคนไทยจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน


คนเสื้อแดงที่เหิมเกริมนำตีนตบ รวมถึงสัญลักษณ์มาขายในวันที่ 5 ธันวาคม
บทอาเศียรวาท 5 ธันวาคมของหนังสือพิมพ์มติชนที่ถุกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น