xs
xsm
sm
md
lg

สมการความสุขร่วมกันของมนุษย์ และโลกใบนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย…ประสาท มีแต้ม
HPI
เป็นอยู่ดีขึ้น, ใช้สอยน้อยลง (จำนวนปีที่ชีวิตมีความสุข) x (ความพึงพอใจในชีวิต) (ทรัพยากรธรรมชาติที่บริโภค)
 
แม้ข้อความในกล่องสี่เหลี่ยมนี้จะดูแปลกๆ อยู่บ้าง แต่โปรดอย่ากังวล หรือกลัวนะครับ เพราะมันเป็นแค่ข้อความง่ายๆ ที่มีความสำคัญมากต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต มันคือ สมการคณิตศาสตร์เบื้องต้นที่สะท้อนปรัชญาชีวิตซึ่งมีเป้าหมาย และวิถีปฏิบัติอย่างชัดเจน นั่นคือวิถีปฏิบัติที่ความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่การใช้สอยน้อยลง โดยมีเป้าหมายรวบยอดอยู่ที่ความมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข และความพึงพอใจในชีวิต

ในขณะที่เป้าหมายของการพัฒนากระแสหลักในปัจจุบันนี้ ได้เน้นที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยใช้จีดีพี หรือผลผลิตรวมที่ผลิตขึ้นในประเทศ (โดยไม่สนใจว่าจะเป็นของคนต่างชาติหรือไม่) เป็นตัวชี้วัด ส่งผลให้มีการเร่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยัง และไม่คำนึงว่าคนรุ่นหลังจะอยู่กันอย่างไร จะมีอะไรใช้สอย ขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติก็ถูกทำลายจนเกิดเป็นวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับ 50 ปีก่อน มหาอุทกภัยในประเทศไทยเราเองคงเป็นพยานในเรื่องนี้ได้

ไม่เพียงแต่ธรรมชาติที่ได้ถูกทำลายจนเกินสภาพสมดุลไปมากแล้ว แม้แต่ระบบเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งระบบการปกครองที่ถูกเรียกว่า ประชาธิปไตย (แต่เพียงรูปแบบนั้น) ก็กำลังมีอาการร่อแร่ รอวันที่จะพังครืนลงมา

จากความล้มเหลวของระบบปัจจุบัน และความพยายามหาทิศทางใหม่ในอนาคตที่กล่าว โดยย่อข้างต้นในรูปของสมการคณิตศาสตร์นี้ คือ ทางออกเพียงทางเดียวที่มนุษยชาติจะหลุดพ้นจากมหาวิกฤตได้ เพราะเป็นทิศทางที่เน้นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต คือ ความมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุขของทั้งมนุษย์ และของโลกที่เราอาศัยอยู่ แต่ก่อนที่จะทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมการนี้ เรามาทำความรู้จักกับองค์กรที่คิดสมการนี้สักเล็กน้อยครับ

องค์กรที่ว่านี้ คือ มูลนิธิเพื่อเศรษฐกิจใหม่ (New Economics Foundation) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2529 ได้อธิบายตนเองว่า เป็นองค์กรนักคิดและทำ (think-and-do tank) ที่อิสระเพื่อจุดประกาย และทำให้เห็นถึงเศรษฐกิจ เพื่อความอยู่ดีกินดีที่แท้จริง มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต โดยส่งเสริมแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ท้าทาย ความคิดกระแสหลักใน 3 ประเด็น คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เราทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยถือเอามนุษย์และโลกเป็นความสำคัญเป็นอันดับแรก (ที่มา www.happyplanetindex.org)

นักวิจัยที่มีส่วนสำคัญในการคิดสมการนี้ คือ Nic Marks ซึ่งเป็นนักสถิติ (เดิมเป็นสาขาหนึ่งของคณิตศาสตร์) ผลงานของเขาและองค์กรนี้มีมากมาย ซึ่งสอบถามได้จากอาจารย์กูเกิลครับ

ผมยังมีอีก 2 ประเด็นที่จะนำเสนอ คือ (1) ความหมายของสมการ และแนวคิด (2) องค์ประกอบ หรือปัจจัยที่นำไปสู่ความสุข มาเริ่มกันเลยครับ

คำว่า HPI (ย่อมาจาก Happy Planet Index) ทางซ้ายมือของสมการ คือ ดัชนีความสุขโลก ทางขวามือมี 3 องค์ประกอบคูณ และหารกันอยู่ คือ (1) จำนวนปีที่ชีวิตมีความสุข (Happy life years) ซึ่งอาจจะใช้ความมีอายุยืนยาวแทนก็ได้ ถ้าคนไทยมีอายุเฉลี่ย 69 ปี ก็แทนค่าองค์ประกอบแรกด้วย 69 องค์ประกอบที่ (2) คือ ความพึงพอใจในชีวิตซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 10 ได้จากการสอบถาม จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยอยู่ที่ 6.25

ถ้าสององค์ประกอบนี้มีค่ามาก ผลคูณของสององค์ประกอบนี้ก็จะมากด้วย แต่เท่านี้ยังไม่พอครับ เพราะยังมีองค์ประกอบที่ 3 คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่บริโภคซึ่งเป็นตัวหารอยู่ทางขวามือของสมการ ถ้าปัจจัยนี้มีค่ามาก (คือ ใช้ทรัพยากรมาก) จะส่งผลให้ค่าดัชนีความสุขโลกทางขวามือลดลง ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีการใช้ทรัพยากรน้อย จะทำให้ดัชนีความสุขโลกมากขึ้น โลกจะยั่งยืนขึ้น
โดยสรุป ปัจจัยที่นำมาคิดในสมการคณิตศาสตร์ดังกล่าว ได้สะท้อนถึงคุณค่าของชีวิตทั้งต่อมนุษย์ และโลก ผมเชื่อว่านี่เป็นแนวคิดที่นำไปสู่เป้าหมายรวบยอดที่สอดคล้องกับหลักศาสนาต่างๆ ที่เรายึดถือกันอยู่แล้ว

เขียนมาถึงจุดนี้ ทำให้คิดถึงคำสอน คำเตือนอย่างเป็นองค์รวม (ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม) ของท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ว่า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ มาถึงประเด็นสุดท้ายครับ คือ องค์ประกอบของความมีอายุยืนอย่างมีความสุขในชีวิต แผนผังข้างล่างมาจากเอกสารของมูลนิธิ เพื่อเศรษฐกิจใหม่ซึ่งผมได้พยายามแปลกำกับไว้แล้ว เราจะเห็นว่า วิถีทางที่นำไปสู่เป้าหมายรวบยอดมีถึง 11 องค์ประกอบ วิถีทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไทยกอดแน่นมาตลอดนั้น เป็นเพียงหนึ่งในนั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สมการข้างต้นนี้ได้ใช้ตัวแปรรวบยอดเพียง 3 อย่างที่กล่าวมาแล้ว

ผมอยากจะเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับดัชนีความสุขมวลรวม (Gross National Happiness) ของประเทศภูฏาน ซึ่งมี 9 องค์ประกอบ แต่ละองค์ประกอบ มีน้ำหนักที่สะท้อนถึงความสำคัญไว้ด้วยตามลำดับ คือ 1.การใช้เวลา (13%) 2.ธรรมาภิบาลในการปกครอง (12%) 3.สุขภาพ (12%) 4.วัฒนธรรม (12%) 5.ความเข้มแข็งของชุมชน (12%) 6.ความรู้สึกว่าอยู่ดีมีสุข (11%) 7.มาตรฐานการครองชีพ (11%) 8.ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ (10%) 9.การศึกษา (เพียง 7% แต่คนไทยได้ทุ่มเทเงินทอง และเวลาลงไปมากที่สุด)

เราจะเห็นว่า สองแนวคิดนี้คล้ายคลึงกันมาก แต่สิ่งที่เราไม่เคยเก็บมาคิด มานับเลยในบ้านเมืองเราก็ คือ ความมีธรรมาภิบาลในการปกครอง หรือพูดสั้นๆ ก็คือ ปัจจัยการคอร์รัปชัน และประสิทธิภาพในการบริหาร

ถึงตอนนี้ ผมคิดถึงคำพูดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะนับได้ และไม่ใช่ทุกสิ่งที่นับได้จะสำคัญ เห็นไหมครับ นักการเมืองไม่ยอมนับ เรื่องการคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เราจนลงๆ และขาดความสุขมาเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา ในขณะที่บางประเทศ และนักคิดบางกลุ่มเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก INPUT ปัจจัยนำเข้า PLANETARY RESOURCES ทรัพยากรธรรมชาติ MEANS วิถีทาง Community, Technology, Healthcare, Economy, Values, Family and friends, Education, Governance, Employment, Consumption, Leisure time 1.ชุมชน 2.เทคโนโลยี 3.การดูแลสุขภาพ 4.เศรษฐกิจ 5.คุณค่า 6.ครอบครัวและเพื่อน 7.การศึกษา 8.ธรรมาภิบาล 9.การจ้างงาน 10.การบริโภค 11.เวลาพักผ่อน ENDS เป้าหมาย LONG, HAPPY, FULFILLING LIVES อายุยืน มีความสุข และความพึงพอใจในชีวิต

ข้อมูลจาก “เศรษฐ์ตังค์” จุลสารเพิ่มพูนความรู้เศรษฐศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2555 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กำลังโหลดความคิดเห็น