xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ณัฐวุฒิ เผ่าทวี มหาวิทยาลัยลอนดอน

หลายๆ ท่านที่ได้ติดตามข่าวของประเทศภูฏาน และดัชนีความสุข อาจจะยังสงสัยว่าความสุขของคนเรานั้นวัดได้จริงหรือ วัดยังไง ข้อมูลความสุขเชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหน และจะเอามาวิเคราะห์ยังไง

การวิจัยเรื่องความสุขนี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ และในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศทางฝั่งตะวันตกก็มีการเก็บข้อมูลความสุขของประชาชนมาอยู่นานนับสิบๆ ปีแล้ว

ข้อมูลความสุขหรือ Happiness Data ซึ่งนำมาจากการกรอกแบบสอบถาม อย่างเช่น ถ้าคุณลองคิดทบทวนชีวิตของคุณจนถึงทุกวันนี้ คุณคิดว่า คุณมีความสุขกับชีวิตมากน้อยขนาดไหน จาก 1 ถึง 7 โดย 1.ความสุขน้อยที่สุด ไปจนถึง 7.ความสุขมากที่สุด

การศึกษา และวิจัยประเภทนี้ ดำเนินการโดยนักจิตวิทยามานานพอสมควร โดยผลของการวิจัยส่วนใหญ่สรุปว่า ข้อมูลความสุขนั้นมีความน่าเชื่อถือมากถึงระดับหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น คนที่กรอกในแบบฟอร์มว่าตัวเองมีความสุขกับชีวิตมาก ก็จะมีเปอร์เซ็นต์ที่จะแต่งงานในอนาคตสูงกว่า มีโอกาสที่จะป่วยน้อยกว่า และมีเปอร์เซ็นต์ที่จะมีอายุยืนมากกว่า คนที่บอกว่าตัวเองไม่ค่อยมีความสุขกับชีวิตเท่าไหร่ พูดง่ายๆ ก็คือว่า ข้อมูลความสุขหรือ Happiness Data นั้นสามารถนำมาใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสุขของคนเราได้จริง

การนำข้อมูลความสุขมาวิเคราะห์ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความสุข หรือ Economics of Happiness ส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์ และทางสถิติในทฤษฎีจุลภาค (Micro econometrics) มาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความสุข และปัจจัยชีวิต รวมทั้งปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ อย่างเช่น เงิน ประวัติการว่างงาน การศึกษา ชีวิตแต่งงาน และทุนทางสังคม โดย Easterlin นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Southern California ที่สหรัฐอเมริกา

ผลการวิจัยแรกๆ ของ Easterlin พบว่า คนที่มีเงินมากกว่า ส่วนใหญ่จะมีความสุขมากกว่าคนที่มีเงินน้อยกว่า แต่ว่าเมื่อรายได้ของคนทั้งประเทศเพิ่มขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่งแล้ว ความสุขกลับไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปรากฏการณ์นี้ หรือที่เรียกกันในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ว่า Easterlin Paradox สามารถอธิบายได้โดยใช้ทฤษฎี การเปรียบเทียบ (Social Comparison) และทฤษฎีการปรับตัว (Habituation) พูดง่ายๆ ก็คือว่า คนเรานั้นเมื่อมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มนำตัวเองเปรียบเทียบกับคนอื่น

การนำตัวเองเปรียบเทียบกับคนอื่น จะมีผลบวกกับความสุข ก็ต่อเมื่อเรามีรายได้ที่มากกว่าคนอื่นเท่านั้น คนที่มีรายได้ที่น้อยกว่าคนทั่วไปส่วนใหญ่ ก็จะมีสุทธิความสุข หรือ Net Happiness ที่ได้มาจากการเปรียบเทียบทางสังคมเป็นค่าลงไป เพราะฉะนั้น การเปรียบเทียบทางสังคมก็จะส่งผลให้คนทั่วไปส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในที่ทำงานมากขึ้น และมีเวลาให้แก่ครอบครัวน้อยลง เพื่อที่จะผลักดันให้ตนเองมีรายได้ที่ดีกว่าคนอื่น เพื่อจะได้มีความสุขมากกว่าคนอื่น

แต่ว่าการเปรียบเทียบทางสังคมนั้น กลับไม่ส่งผลประโยชน์ให้ต่อความสุขโดยรวม หรือ Social Happiness เลย เพราะว่าความสุขที่ได้มาจากการเปรียบเทียบเป็น Zero-sum Game ซึ่งจำนวนของคนที่ได้ จะเท่ากับจำนวนของคนที่เสีย ส่วนความสุขโดยรวมอาจจะลดลงไปด้วยซ้ำ ถ้าหากว่าความสุขที่เราได้มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น วัดได้น้อยกว่าความสุขที่เราควรจะได้รับมาจากการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและคนที่เรารัก

อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ คนเรานั้นสามารถปรับตัวไปกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นเร็วมาก จากผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ ชาวสวิส Alois Stutzer แห่งมหาวิทยาลัย Zurich สรุปให้เห็นว่า ความทะเยอทะยานทางด้านรายได้ (Income Aspiration) ของคนเรา ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กันกับรายได้ที่เราได้รับมาซึ่งก็จะทำให้ความพึงพอใจกับรายได้ และชีวิตเราลดลงไปด้วย

Andrew Oswald นักเศรษฐศาสตร์ ชาวอังกฤษ แห่งมหาวิทยาลัย Warwick กล่าวว่า ความสุขที่เราได้มาจากเงินนั้นมีค่าน้อยมาก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับความสุขที่เราได้มาจากปัจจัยอื่นๆ ในชีวิต

Oswald ได้ใช้เทคนิคที่ว่าด้วยสมการความสุข หรือ Happiness Equation มาแสดงให้เห็นว่า ถ้ารัฐบาลอังกฤษต้องการที่จะจ่ายค่าชดเชยคนคนหนึ่ง ที่มีความทุกข์จากการว่างงาน เพื่อที่จะทำให้คนคนนั้นกลับไปมีความสุขเทียบเท่ากับตอนที่เขายังมีงานประจำทำ รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินเขาเป็นจำนวน E 75,000 หรือเป็นเงินไทยก็ประมาณ 5.6 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนอังกฤษ (ประมาณ E 9,800) เกือบถึง 8 เท่า ส่วนคนที่แต่งงานแล้วนั้น เมื่อเทียบกันกับคนที่ยังไม่ได้แต่ง จะเหมือนกับมีเงินอยู่ในกระเป๋า E 70,000 หรือประมาณ 5.3 ล้านบาทต่อปี

นอกจากการวิจัยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และความสุขแล้วนั้น นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่หลายๆ ท่านก็ได้นำข้อมูลความสุขมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ และสังคมในอีกหลายๆ ด้าน Rafael Di Tella แห่งมหาวิทยาลัย Harvard และ Robert MacCoulloch แห่งมหาวิทยาลัย Imperial College ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คนที่อยู่กลุ่ม หรือพรรคการเมืองฝ่ายขวา จะไม่ชอบเงินเฟ้อ (Inflation) และความสุขก็จะลดลง ถ้ามีเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากในประเทศ ในทางกลับกัน คนที่อยู่กลุ่ม หรือพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ก็จะไม่ชอบการว่างงาน (Unemployment) มากกว่าเงินเฟ้อ

ส่วนทางด้านเศรษฐศาสตร์พัฒนา Carol Graham และ Stefano Pettinato จากศูนย์วิจัย Brooking Institute ที่สหรัฐอเมริกา ได้แสดงให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในสังคม (Income Inequality) จะมีผลกับความสุขของคนที่มีรายได้ต่ำในประเทศละตินอเมริกา แต่จะมีผลบวกกับความสุขของคนที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ

สรุปก็คือ สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างเช่นประเทศแถบละตินอเมริกานั้น การไม่มีความเท่าเทียมกันของรายได้ในสังคม ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีรายได้ต่ำจะรู้สึกว่าตนเองก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นไปจุดสูงสุดของรายได้ในสังคมได้ แต่กลับกลายเป็นว่า คนที่รวยในสังคมก็จะรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสที่รวยต่อไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่จนก็จะรู้สึกว่าตนเองนั้นจะจนอย่างนั้นต่อไป

น่าเสียดายที่เมืองไทยของเราในตอนนั้น ยังไม่ได้มีโครงการวางแผนที่จะเก็บข้อมูลความสุขที่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะฉะนั้น คนไทยเราก็เลยยังไม่รู้ว่าอะไรทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีความสุข และอะไรทำให้คนไทยมีความสุขที่สุด

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะเริ่มวัดความสุขกันอย่างเป็นจริงเป็นจังสักที

ที่มา : http://bbznet.pukpik.com/scripts2/view.php?user=prsnakhonnayok &board=1&id=154&c=1&order=numview

ข้อมูลจาก “เศรษฐ์ตังค์” จุลสารเพิ่มพูนความรู้เศรษฐศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2555 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กำลังโหลดความคิดเห็น