xs
xsm
sm
md
lg

ชนะใจเธอหรือเขา...ด้วยเศรษฐศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...Economagician
 
ณ ห้องสี่เหลี่ยมสีฟ้า
 
...ดังในใจความบอกในกวีว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง...เนื้อเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่คุ้นเคย เดินทางผ่านสายลมเข้ามาเยี่ยมเยือนโสตประสาทของผมอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นห้วงเวลาแห่งความรักสำหรับใครหลายๆ คน บนโลกกลมๆ ใบนี้
 
เขาคนนั้น หรือเธอคนโน้นจะอาศัยช่วงเวลาพิเศษสุดนี้ในการสารภาพรัก เพื่อสื่อสารแห่งรักจากดวงใจออกไปให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้โดยการอาศัยสื่อกลางแทนใจ เช่น การแอบวางกุหลาบช่อโตไว้บนโต๊ะ หรือสรรหาขนมหวานรูปหัวใจ ฝากให้แก่อีกฝ่าย เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม การสารภาพรักโดยอาศัยสื่อกลางนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการเสี่ยงทายเหรียญแห่งโชคชะตา ซึ่งการจะถูกตอบปฏิเสธ หรือได้รับการตอบรับนั้นมีโอกาสเท่ากัน ดังนั้น บทความฉบับนี้ผมจึงของอาสาทำตัวเป็น Guru ทางความรักเพื่อเสนอสื่อกลางแทนใจที่อาศัยหลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เรื่องการส่งสัญญาณ (Signaling) และการคัดกรอง (Screening) เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกตอบปฏิเสธ และเพิ่มโอกาสในการตอบรับสำหรับการบอกรักในครั้งต่อไป
 
ถ้าเปรียบความรักเป็นสินค้า ลักษณะของตลาดแห่งความรักก็คงจะใกล้เคียงกับตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Competitive market) ที่มีผู้ผลิต และผู้บริโภคเป็นชายหนุ่ม หรือหญิงสาวจำนวนมากที่อยากเป็นคนที่ถูกรัก และอยากเป็นคนที่มอบ ความรักให้ใครสักคน มือที่มองไม่เห็น (The invisible hand) หรือกลไกราคาแห่งความรักจะปรับตัวให้อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) แห่งความรักมาพบกัน ณ จุดดุลยภาพที่มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพนั่นก็คือ การที่ชายและหญิงคู่นั้นก้าวเข้ามาเป็นเพื่อนร่วมชีวิต และลงเอยด้วยการแต่งงานในที่สุด
 

อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบดังละครน้ำดีหลังข่าวเสมอไป ใครเอยไม่เคยได้ยินคำว่าอกหัก ใครเอยไม่เคยได้ยินคำว่ารักเขาข้างเดียว วลีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานของกลไกราคาแห่งความรักที่ไม่อาจจะชักจูงให้อุปสงค์ และอุปทานเข้ามาพบกัน ณ ระดับดุลยภาพที่ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพได้ ทำให้ตลาดแห่งความรักประสบกับความล้มเหลว ซึ่งศัพท์บัญญัติทางวิชาการ เรียกว่า ความล้มเหลวของตลาด (Market failure)
 
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตลาดเกิดความล้มเหลว คือ ความไม่สมมาตรในสารสนเทศ (Asymmetric Information)1 ซึ่งแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลข่าวสารของบุคคลที่กระทำธุรกรรม ตัวอย่างเช่น ในตลาดรถยนต์มือสอง (Lemon market) การทำธุรกรรมซื้อขายรถยนต์มือสองนั้นผู้ขายรถยนต์จะมีข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของรถดีกว่าผู้ซื้อ เป็นต้น เรื่องความไม่สมมาตรในสารสนเทศ เป็นเรื่องสำคัญทั้งนัยในเชิงนโยบาย และเชิงทฤษฎีเพราะทำให้นักเศรษฐศาสตร์ที่บุกเบิกเรื่องนี้ 3 ท่าน คือ George A. Akerlof Michael Spence และ Joseph Stiglitz ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ.2001 ตัวอย่างที่สำคัญของความไม่สมมาตรในสารสนเทศ
 
อีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องของความรัก เช่น นาย A. ลูกกำนันแอบชอบนางสาว B. ลูกนายอำเภอ ในธุรกรรมความรักที่เกิดขึ้นนี้ นาย A. เป็นผู้ที่มีข้อมูลเหนือกว่านางสาว B. เพราะนาย A. รู้ว่าตัวเขาแอบชอบนางสาว B. แต่ในทางกลับกัน นางสาว B. ไม่รู้ว่า นาย A. แอบชอบตน
 
คำถามสำคัญที่ทั้ง นาย A. และนางสาว B. จะต้องถามตนเองเพื่อสร้างกลยุทธ์ในการแสดงความรักก็ คือ นาย A. จะส่งสัญญาณอย่างไรเพื่อให้นางสาว B. รับรู้ว่าตนแอบชอบ และนางสาว B. จะอาศัยหลักอะไรในการคัดกรองว่านาย A. ชอบตนอย่างแท้จริง และไม่ได้หลอกลวง    
 
ท่านผู้อ่านอาจจะสังเกตพบว่า ฝ่ายที่มีข้อมูลข่าวสารมากกว่า ซึ่งในที่นี้คือ นาย A. จะใช้การส่งสัญญาณ แต่สำหรับฝ่ายที่มีข้อมูลน้อยกว่าซึ่งในที่นี้คือ นางสาว B. จะใช้การคัดกรองเพื่อเอาชนะปัญหาความไม่สมมาตรในสารสนเทศ
 

เมื่อดำเนินเรื่องมาจนกระทั่งถึงจุดนี้ คงมีท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านสงสัยว่า การส่งสัญญาณที่ดีเพื่อบอกรักควรมีลักษณะอย่างไร ในบทความฉบับนี้ได้จัดทำแบบสอบถามเพื่อวิเคราะห์ลักษณะของสื่อกลางดังกล่าว ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 95 คน เป็นเพศชาย 41 คน และเป็นเพศหญิง 54 คน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 21 ปี เพื่อให้เลือกสื่อกลางแทนใจที่เขา หรือเธอจะใช้ส่งสัญญาณบอกฝ่ายที่ตนเองแอบชอบ ซึ่งจากการสอบถามพบว่า ในกลุ่มนักศึกษา 95 คนเป็นคนที่กำลังมีความรัก 45 คน และยังไม่มีความรัก 50 คน และจากการสอบถามในกลุ่มที่กำลังมีความรักพบว่า กำลังแอบชอบเพื่อนนักศึกษาร่วมชั้นปี 19 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 42 เปอร์เซ็นต์
 
เมื่อพิจารณาสื่อกลางที่นักศึกษากลุ่มนี้ใช้ในการสื่อสารความรักจากแผนภาพที่ 1 พบว่า สื่อกลางแทนใจยอดนิยม คือ การใช้สื่อสาธารณะ (Social media) และภาพถ่าย โดยที่สัดส่วนของนักศึกษา 20 เปอร์เซ็นต์ นิยมใช้สื่อจำพวกสื่อสาธารณะ เช่น Facebook ในการสื่อความรัก และนักศึกษาอีก 20 เปอร์เซ็นต์ นิยมการถ่ายภาพคนที่ตนเองชอบ และตกแต่งทำเป็นโปสการ์ดแล้วส่งให้เพื่อแทนความในใจ โดยลักษณะของสื่อกลางที่มีประสิทธิภาพในความคิดของนักศึกษากลุ่มนี้ คือ ต้องสะท้อนความจริงใจ และตรงไปตรงมา ที่สำคัญ นักศึกษามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าสื่อรักแทนใจของพวกเขาจะทำให้อีกฝ่ายที่ถูกแอบชอบ หันมามอง และรับรักพวกเขา
 
มีความจริงอยู่ในความรักตั้งมากมาย เนื้อเพลงยังคงดำเนินต่อไปพร้อมกับการที่ผมจบการเขียนบทความด้วยความประหลาดใจเล็กน้อย เพราะผลการศึกษาไม่สอดคล้องกับสมมติฐานในใจของผม เพราะผมพบว่า สื่อกลางที่ใช้ในการส่งสัญญาณความรักนั้นไม่จำเป็นต้องลึกลับจนเข้าไม่ถึง หรือซับซ้อนจนยากที่จะเอื้อนเอ่ย หากแต่เป็นสื่อกลางที่สะท้อนความจริงใจ และตรงไปตรงมา เห็นเป็นภาพที่ชัดเจนแค่เท่านี้ ตลาดรักก็กลับเข้าสู่ดุลยภาพได้ดังเดิม
 
ที่มา : http://boonkij.guicontrol.com/uploads/673pdf/5.pdf อธิบาย สาระสำคัญของ Asymmetric information และแบบสอบถามเสีย 5 ชุด จาก 100 ชุด
 
หมายเหตุ : ข้อมูลจาก “เศรษฐ์ตังค์” จุลสารเพิ่มพูนความรู้เศรษฐศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2555 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กำลังโหลดความคิดเห็น