xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องราวความสุข...ที่ไม่มีชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ประกาศ  สว่างโชติ
 

เช้าวันหนึ่งที่โต๊ะอาหาร ภายหลังจากการรับประทานมื้อเช้าเสร็จสิ้น ผมก็เปิดประเด็นสนทนากับผู้ร่วมโต๊ะอาหารว่า ช่วยบอกผมหน่อยว่าอะไรในชีวิตที่ทำให้มีความสุขที่สุดสามลำดับ
 
หญิงสาวผู้หนึ่งเรียงลำดับความสุขของเธอดังนี้ การได้กลับไปอยู่กับครอบครัวในบางโอกาสทำให้มีความสุขมากที่สุด การได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงานเป็นความสุขรองลงมา และการที่ได้ทำให้ชีวิตมีคุณค่าต่อผู้อื่นเป็นลำดับที่สาม
 
หญิงสาวอีกคนตอบว่า สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุขที่สุดคือ การที่เธออยากทำอะไร (ที่เธอรักที่จะทำ) ก็ได้ทำ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การมีเสรีภาพในชีวิตที่จะคิดจะทำได้ตามใจปรารถนา ลำดับที่สองคือ การได้กลับไปยังที่ที่เธอผูกพันมาตั้งแต่เด็ก และสุดท้ายคือ ความรู้สึกที่ชีวิตมีคุณค่า

ผมได้สอบถามผู้คนอีกห้าหกคน ทั้งหญิงและชาย ซึ่งอยู่ในวัยเรียน และก็มีฐานะทางครอบครัวที่สามารถจะส่งเสียให้เล่าเรียนได้ ก็พบว่า ความสุขในชีวิตของพวกเขานั้นล้วนมาจากความรู้สึกทางจิตใจ ที่ไม่โยงเข้ากับวัตถุทั้งสิ้น และเป็นความสุขที่ดูเหมือนจะหาได้โดยลงมือกระทำง่ายๆ เท่านั้น เช่น ถ้าอยู่กับครอบครัวแล้วมีความสุข ก็แค่หาโอกาสไปอยู่กับครอบครัว ถ้าอยากให้ชีวิตมีคุณค่าก็แค่คิดและลงมือทำอะไรง่ายๆ แก่ส่วนรวม เช่น เห็นขยะก็เก็บ หรือไปเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กกำพร้า คนชรา เป็นต้น หรืออยากทำอะไรโดยเสรี ก็ไปทำสิ่งนั้นเสียก็มีความสุขแล้ว
 
ถึงแม้ว่าจะดูง่าย แต่ผู้คนก็ยังไม่สามารถทำได้ตามนี้ด้วยปัจจัยต่างๆ มากมายเป็นข้อจำกัด หรือแม้กระทั่งเมื่อได้ทำแล้วกลับพบว่าไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิด จึงยังมีผู้คนมากมายที่เดินอยู่บนเส้นทางแห่งการแสวงหาความสุข และก็คงมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่พบความสุขอย่างที่ตนต้องการ
 
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ผมสนทนาด้วยนั้น ล้วนเป็นผู้คนที่ไม่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็ไม่มีจนถึงขั้นขาดโอกาสทางการศึกษา และหน้าที่การงาน ผมนึกเอาว่า หากผมได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้คนที่หาเช้ากินค่ำ ผมจะได้คำตอบที่ผิดแผกแตกต่างออกไปอย่างมากทีเดียว หรือไม่ก็อาจจะมีอะไรที่คล้ายคลึงกันบ้างก็ได้ แต่สิ่งที่ผมจะคาดเดาก็คือว่า ผู้คนกลุ่มนี้จะรู้สึกสุขก็ต่อเมื่อได้รับการสนองทางด้านปัจจัยสี่พื้นฐาน ซึ่งก็คือวัตถุนั่นเอง และนี่ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้คนน่าจะเป็นตัวกำหนดเหตุแห่งความสุขได้ด้วย

หากสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้คนเป็นตัวกำหนดเหตุแห่งความสุขได้  ถ้าอย่างนั้นเราจะพูดได้ไหมว่า ยิ่งเรามีเงินทองมากเท่าไร เราก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ข้อนี้เป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่มากในสังคมโลก เป็นบริบทของเป้าหมายในชีวิตของผู้คน เป็นความพยายามไปถึงเป้าหมายโดยวิธีการทางวัตถุที่คัดง้างกับวิธีการทางจิตวิญญาณ เป็นพัฒนาการของเศรษฐศาสตร์วัตถุ ลัทธิบริโภคนิยม และโลกานุวัตรที่ใครจะเห็นว่าอย่างไรก็ตาม แต่ผมเห็นว่าโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ระบบนิเวศเสื่อมโทรมลงจนใกล้ล่มสลาย ภัยธรรมชาติมีมากขึ้น จนทำลายทรัพย์สิน และความสุขที่เราคิดว่าจะได้จากทรัพย์สินที่เราได้มาจากการใช้ทรัพยากรนั้น
 
เมื่อความคิดผมเคลื่อนมาถึงตรงนี้ ผมก็นึกถึงหนังสือ “เส้นโค้งแห่งความสุข ที่เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล (กัลยาณมิตรผู้หนึ่งของผมแนะนำให้อ่าน) และนึกถึงข้อความที่ว่า

“ทรัพย์นั้นจะก่อให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ความสุขที่หมายมุ่งนั้นยังเป็นความสุขเพื่อยังชีวิตระดับอยู่รอด แต่ถ้าต้องการใช้ทรัพย์เพื่อความอยู่ดีกินดี หรือเพื่อชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยแล้ว ความสุขจะลดต่ำลง 
 
ซึ่งหมายความว่า ลัทธิบริโภคนิยมเชื่อว่าเส้นความสุขของผู้คนเป็นเส้นตรงที่เพิ่มขึ้นได้ไม่รู้จบ ขณะที่ความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า เส้นความสุขเป็นเส้นโค้ง เมื่อถึงจุดหนึ่งไม่ว่าจะมีทรัพย์สินมากเท่าใดความสุขก็ไม่เพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามความทุกข์อาจเพิ่มมากขึ้นแทนจากการเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ หรือกลายเป็นบ้าหอบฟาง
 

นี่น่าจะเป็นประเด็นงอกงามออกไปเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขได้ทีเดียว ซึ่งอาจมีหนังสืออีกเล่มที่น่าอ่าน และเกี่ยวข้องในประเด็นนี้ชื่อว่า Small is beautiful (เขียนโดย E.F.Schumacher) ที่มีผู้แปลเป็นไทย แล้วโดยใช้ชื่อว่า “เล็กนั้นงาม” 
 
ความสุขเป็นเส้นตรง หรือเส้นโค้ง ข้อนี้จะเป็นจริงแท้อย่างไรก็ต้องใช้ความคิดไตร่ตรองเอาตามประสบการณ์ของแต่ละคนนะครับ

สำหรับผมความสุขนั้นเป็นเส้นโค้งจริงๆ หากใครได้อ่านหนังสือ ศิลปะแห่งความสุข” หรือ The Art of Happiness” (เขียนโดย โฮเวิร์ด ซี คัทเลอร์ จากประสบการณ์การสนทนากับองค์ทะไล ลามะ ที่ 14 และแปลโดย คุณวัชรีวรรณ ชัยวรศิลป์) จะเห็นว่าความสุขมีธรรมชาติอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ผมคิดว่าเราทุกคนเคยเรียนรู้มา นั่นก็คือ...
 
ความสุขถูกกำหนดโดยสภาพของจิตใจ มากกว่าโดยสถานการณ์ภายนอก 
 
ผมขอขยายความสักนิดหนึ่งว่า โดยปกติผู้คนจะมีเส้นระดับความสุขของตนเองอยู่ ซึ่งเรียกว่าระดับพื้นฐาน หรือระดับปกติ (อาจเทียบเคียงได้กับทางสายกลางกระมังครับ) เหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตจะทำให้ระดับนี้กระเพื่อมขึ้นลงได้ นั่นหมายความว่า ทำให้เกิดความรู้สึกสุข หรือทุกข์ได้

ตอนที่ผมสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบได้ หัวใจพองคับอกอยู่นาน (เป็นสุข) เมื่อเวลาผ่านไปผมก็ไม่รู้สึกอะไรอย่างนั้นอีก จนสอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของห้อง เส้นความสุขก็ถูกดึงขึ้นไปอีก แล้วก็กลับมารู้สึกเฉยๆ อย่างเดิมอีก ส่วนความรู้สึกทุกข์ที่คะแนนไม่ดีก็เป็นลักษณะเดียวกัน ไม่อยู่ตลอด เดี๋ยวมา เดี๋ยวก็ไป หากจะอธิบายสั้นๆ ก็คือ ความสุขโดยรวมของเรามักกลับสู่ระดับพื้นเดิมของมัน
 
จนถึงเดี๋ยวนี้ที่วัยล่วงเลยมา เส้นความสุขนั้นก็ยังขึ้นยังลงอยู่เช่นเดิม เหมือนจะเตือนว่า ตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่ เจ้าก็จะต้องเผชิญกับความจริงข้อนี้ต่อไป เมื่อเข้าใจธรรมชาติของความสุขข้อนี้ก็คงกล่าวได้ว่า ความสุขเป็นรสนิยมของแต่ละคน บางคนอาจชอบ และติดใจกับการเคลื่อนขึ้นลงของความสุขแบบนั้น (ตราบใดที่ยังไม่มากเกิน จนทนให้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปไม่ได้) ขณะที่บางคนไม่ชอบ และพยายามแสวงหาทางที่จะลด หรือแม้กระทั่งไม่ให้เกิดการเคลื่อนขึ้นลงแบบนั้น
 
คงจะไม่เกินเลยที่ อริสโตเติล และนักปราชญ์อีกหลายท่านกล่าวไว้ว่า ความสุขนั้นเป็นความหมาย และเป้าหมายทั้งหมดของมนุษย์ และคงจะเป็นเรื่องที่หาทางสิ้นสุดในข้อสรุปได้ยากมากเมื่อเรายกประเด็นความสุขมาสนทนากัน อย่างเช่น อะไรคือความสุขที่แท้? เราจะมีความสุขได้อย่างไร? เราจะมีความสุขได้มากเท่าไร? และเราจะรักษาความสุขนั้นให้คงอยู่ได้หรือไม่? เพราะเราต่างมีความคิด และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจว่าโลกนี้มีผู้คนที่มีความสุขในชีวิต และผู้คนที่มีความทุกข์ในชีวิตตามมาตรฐานการรับรู้ที่มีอยู่ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่เราจะเป็นหนึ่งนั้น ความคิดเล็กๆ เกี่ยวกับความสุขนี้เกิดจากการใช้เวลาสั้นๆ ทบทวนเรื่องความสุขตามประสบการณ์ ไม่ได้ตั้งใจให้มีข้อสรุปชัดเจน (เพราะเป็นไปไม่ได้) แต่ก็ขอบอกอย่างนี้ครับ
 
ความสุขนั้นแท้ที่จริงก็เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่ให้ความรู้สึกดีๆ ในชีวิต และก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนความคิด ความรู้สึก และการกระทำ เพื่อจะได้มาเหมือนกัน ผมชอบหลักการง่ายๆ ในการฝึกฝนตนให้เกิดสุขที่ส่งๆ ต่อกันมาทางอีเมลที่เรียกว่า หลัก 6 ประการเพื่อความสุข (6 rules to be happy) คือ
 
1.อย่าโกรธ อย่าเกลียด (Never hate คุณไม่ปฏิเสธแน่ว่ามันทุกข์แค่ไหนที่มีความรู้สึกนั้น)
 
2.อย่ากังวล (Don’t worry มันบ่อนทำลายความสุขอย่างเหลือเชื่อ ตั้งใจ ตั้งสติให้ดี แล้วทุกอย่างมันจะมีทางไปของมัน ดั่งสายน้ำครับ)
 
3.อยู่ กินอย่างเรียบง่าย (Live simple อันนี้พูดยากนะ ผมนอนแบบเสื่อผืนหมอนใบ ผ้าห่มอีกผืน ตอนนี้มีความสุขจริงๆ)
 
4.อย่าคาดหวังมากเกินไป (Expect a little ทั้งความคาดหวังที่เรามีต่อสังคม และผู้คน ทั้งการที่เราถูกคาดหวังมันก็สร้างทุกข์พอกันนะผมว่า)
 
5.เรียนรู้การให้ๆ มาก (Give a lot ใจที่คิดให้ สุขกว่าใจที่คิดรับ และจงอย่ากลัวความตาย แต่จงกลัวที่จะมีชีวิตอยู่โดยไร้ความหมายต่อผู้คนรอบข้างคุณ)
 
6.ยิ้มอยู่เสมอ (ถ้าคุณเป็นเสือยิ้มยากนะ ลองยิ้มให้ง่ายหน่อย กับคนที่ไม่รู้จักด้วยยิ่งดี คุณจะพบว่าโลกนี้น่าอยู่ขึ้นเป็นกองต้องลองครับ)

ผมขอเพิ่มเองอีกข้อเป็นข้อที่ 7 ว่า อยู่ใกล้ธรรมชาติอยู่เสมอ (Stay close to the nature) เนื่องจากผมพบว่า การอยู่ใกล้ธรรมชาติทำให้อัตตา โทสะ และโมหะของผมเล็กลงๆ ขณะที่ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และสรรพชีวิตโตขึ้น ผมจึงสามารถฝึกฝนข้อ 1 ถึงข้อ 6 ได้ง่ายขึ้น และทั้งหมดนี้ก็เป็น “เรื่องราวความสุขที่ไม่มีชื่อ” ของผมครับ
 
  
-------------------------------------------------------------
ข้อมูลจาก “เศรษฐ์ตังค์” จุลสารเพิ่มพูนความรู้เศรษฐศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2555 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 

กำลังโหลดความคิดเห็น