xs
xsm
sm
md
lg

จีนอนุญาตทูตมะกันเยี่ยมชุมชนทิเบต ส่งสัญญาณแก้ปัญหาสดใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์--กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่า แกรี่ ล็อค เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำกรุงปักกิ่งของจีน ไปเยือนชุมชนทิเบตในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่เกิดเหตุชาวทิเบตเผาตัวตาย ประท้วงรัฐบาลจีนอยู่บ่อยครั้ง ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาทิเบต

วิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวในกรุงวอชิงตันว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา (26 ก.ย.) ล็อค ไปเยี่ยมเมืองอาป้า ซึ่งอยู่ในการท่องเที่ยวเมืองฉงชิ่งและมณฑลซื่อชวน โดยเขามีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการค้าจีน-สหรัฐฯ และยังไปอารามทิเบต 2 แห่ง เพื่อพบกับชาวเมืองท้องถิ่นและลามะทิเบต

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทมส์ ยกคำพูดของล็อกว่า “ผมได้ไปอาป้าและเห็นกับตาตัวเอง ผมตะลึงในวัฒนธรรมทิเบตที่โดดเด่น และชาวทิเบตหลายคน ได้เรียนรู้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตและทำงานอย่างไร อย่างเช่น ลามะ อายุ 88 ปี ในอารามแห่งหนึ่งที่ผมไป ความแตกต่างทางเชื้อชาติเพิ่มสีสันให้กับสังคม ผมหวังว่าคนอื่นๆ จะมาเยี่ยมชมเช่นกัน”

เมืองอาป้า ซึ่งเป็นที่ตั้งของอารามกีรติ เกิดเหตุลามะทิเบตและชาวทิเบตจุดไฟเผาตัวหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2552 โดยขณะนี้มีสถิติผู้เผาตัวเองแล้ว 55 ราย

รัฐบาลจีนมักจะไม่อนุญาตให้ผู้นำต่างชาติเข้ามาเยี่ยมเยือนชุมชนทิเบต แต่ล็อคก็ได้ไปหมู่บ้านและอารามเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวทิเบต และยังมีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขา และการเยือนนี้เป็นสัญญาณว่า จีนต้องการแสดงให้เห็นถึงการจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อยให้เปิดกว้างมากขึ้น

โฆษกฯ นูแลนด์ มิได้ระบุระยะเวลาที่ล็อคไปเมืองอาป้า และไม่เปิดเผยความเห็นเกี่ยวกับการเยือนนี้ของเขา เพียงแต่กล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นกังวลเกี่ยวกับการจุดไฟเผาตัวของชาวทิเบตอย่างมาก “เราเร่งให้เกิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลจีนและชาวทิเบตอย่างต่อเนื่อง เพื่อพูดคุยถึงความคับข้องใจ” เขากล่าว

ชุมชนทิเบตในจีนมักเป็นสถานที่ที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามา เมื่อตั้งคำถามว่า จีนจะให้สหภาพยุโรปส่งกลุ่มการทูตอิสระเข้ามาในทิเบตหรือไม่ นายจู เหวยฉวิน รัฐมนตรีช่วยฝ่ายบริหารของฝ่ายการแนวร่วมกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party Central Committee's United Front Work Department) กล่าวเมื่อปีที่ผ่านมา (2554) ว่า “ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จีนไม่เคยอนุญาตให้กลุ่มคนต่างชาติเข้ามาแทรกแซงเรื่องภายในจีนเลย”

จู กล่าวอีกว่า “ผมไม่เคยคิดเลยว่า การที่กลุ่มคนต่างชาติเข้ามาแทรกแซงเรื่องภายในของประเทศอื่นๆ นั้น จะสามารถแก้ไขปัญหา หรือเป็นผลดี ตรงกันข้าม มันจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นและนำไปสู่สงครามได้”

ด้านนักวิเคราะห์เห็นว่า การอนุญาตอย่างมีนัยของรัฐบาลจีนหรืออย่างน้อยก็มาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ทำให้ล็อคสามารถไปเยือนเมืองอาป้าได้ และแสดงให้เห็นว่าจีนต้องการรับเอาแนวทางที่จะแก้ปัญหาชาวทิเบต

จีนอาจจะไม่ได้เปลี่ยนนโยบายทิเบตอย่างทันทีทันใด แต่อาจใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือเผยแพร่ที่จะยับยั้งการวิจารณ์ที่น่าเคลือบแคลงนี้ได้

ศาสตราจารย์แบรี่ ซาวท์แมน อาจารย์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฮ่องกง ผู้ที่ศึกษากรณีปัญหาทิเบต กล่าวว่า “รัฐบาลจีนอาจมีความคิดให้เกิดสันติสุขในปัจจุบัน และเมื่อล็อคไปที่นั่น เขาก็จะได้เห็นภาพความเงียบสงบ และพูดเกี่ยวกับการเยือนโดยไม่มีความเห็นในทางลบเลย บางที่รัฐบาลจีนอาจกำลังคิดว่า ล็อคจะมีข้อสรุปที่แตกต่างไปจากกลุ่มชาวทิเบตพลัดถิ่นก็เป็นได้”

เจ้า กานเฉิง ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันวิเทศศึกษาแห่งเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า “รัฐบาลจีนต้องการลดความคลางแคลงใจต่อจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ”

จากข้อมูลกลุ่มฟรีทิเบต และกลุ่มรณรงค์ฯ เผยว่า ชาวทิเบตจุดไฟเผาตัวในจีนตั้งแต่เดือนก.พ. 2552 เป็นต้นมา โดยรายแรกคือ ลามะหนุ่มนามว่า ทาเพย์ จากอารามกีรติ ขณะจุดไฟเผาตัว ก็ป่าวประกาศต่อต้านรัฐบาลจีน และเรียกร้องให้องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบต และเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ให้กลับสู่บ้านเกิด และจนถึงขณะนี้มีเหตุชาวทิเบตประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวกว่า 55 รายแล้ว

ฝ่ายรัฐบาลจีน ประณามองค์ทะไล ลามะ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ และรัฐบาลฯ ยังคงกวาดล้างลามะทิเบตและแม่ชี ที่สนับสนุนองค์ทะไล ลามะ และกลุ่มเคลื่อนไหวปลดปล่อยชาวทิเบต

ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้นำคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้ส่งกองกำลังไปยังทิเบต พร้อมกับประกาศผนวกดินแดนให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ในฐานะเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต แต่ชาวทิเบตได้ลุกฮือ ต่อต้าน และเกิดสงครามปะทะกันอย่างรุนแรง ระหว่างชาวทิเบตและกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปีพ.ศ. 2502 ฝ่ายทิเบตพ่ายแพ้ ทำให้องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดทิเบต ต้องลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ธรรมศาลา

ความขัดแย้งระหว่างจีนและรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน แม้มีการเจรจาระหว่างสองฝ่ายหลายครั้ง แต่ก็ยังล้มเหลว จีนยังคงกล่าวหาองค์ทะไล ลามะ ว่าเป็นผู้ยุแหย่ศึกรุนแรงและลัทธิแบ่งแยกดินแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น