รอยเตอร์ส--ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต เผย เกิดสัญญาณที่ดีในท่าทีสู่ทิเบตในกลุ่มผู้นำจีน และหากรัฐบาลจีนเปลี่ยนใจจริงๆ แล้ว กลุ่มทิเบตพลัดถิ่นก็พร้อมที่จะกลับคืนสู่การเจรจา
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานคำสัมภาษณ์องค์ทะไล ลามะ เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) ณ ห้องประชุม ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย โดยท่าน กล่าวว่า มันยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่าสี จิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดีจีน จะรับรองจุดยืนใหม่ที่ฝ่าทางตันในการคลี่คลายความขัดแย้งทิเบต
ทะไล ลามะ ด้วยพระชันษา 77 ปี กล่าวว่า "เราไม่อาจพูดได้เต็มปาก แต่จากข้อมูลเพื่อนชาวจีนหลายคน พวกเขาบอกว่าผู้นำคนใหม่นี้ดูประนีประนอมมากกว่า หากฝ่ายจีนปรับความคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้นซึ่งก็เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง เราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับพวกเขา"
ทั้งนี้ จีนกำลังเปิดการประชุมเต็มคณะของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ในปลายปีนี้ (2555) โดยที่ประชุมจะรับรองการถ่ายโอนอำนาจการนำแก่ผู้นำรุ่นที่ห้า โดยสี จิ้นผิงจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหากมิมีอุบัติเหตุพลิกล็อก
ความคิดเห็นขององค์ทะไล ลามะดูจะมีความหวังมากขึ้นกว่าช่วง 2 - 3 สัปดาห์ก่อน ที่ท่านได้ประกาศว่าการกลับสู่โต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการซึ่งถูกแช่แข็งมาตั้งแต่ปี 2553 นั้น ไม่มีประโยชน์อะไร หากจีนไม่ปรับทัศนะคติที่สอดคล้องกับความจริง และก็ไร้ประโยชน์ที่จะยืนยันกับจีน ว่าท่านมิได้แสวงหาเอกราชทิเบต
ทะไล ลามะ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2532 กล่าวอีกว่า เคยมีอาคันตุกะจากจีนมาที่ธรรมศาลา ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เคยบอกพระองค์ว่า พวกเขามีสายสัมพันธ์กับผู้นำอาวุโสพรรคอมมิวนิสต์
"เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร ทุกอย่างเป็นความลับของรัฐ ดังนั้นมันยากที่จะพูด"
"ขณะนี้ผู้นำกลุ่มหนึ่งในจีน แสดงท่าทีเห็นด้วยกับกลุ่มปัญญาชน ที่เชื่อว่าแนวทางแก้ไขปัญหาทิเบตแบบใหม่ เป็นสิ่งจำเป็น...'นี่เป็นสัญญาณที่ดีมาก'" ทะไล ลามะ กล่าว
ทะไล ลามะ มั่นใจจีนจะพิจารณาในอนาคตอันใกล้นี้ว่า "การใช้กำลังตลอด 60 ปีมานี้ ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง" และความคิดของท่านเหมา เจ๋อตง ที่เชื่อว่ากำลังมาจากปืนที่เอาแต่ยิงกระหน่ำนั้น "ล้าสมัยแล้ว"
ทั้งนี้ เมื่อต้นปีนี้ ทะไล ลามะ กล่าวว่า ท่านได้ข้อมูลมาว่า มีการฝึกฝนสายลับหญิงจีนปฏิบัติการวางยาพิษที่ค่อยๆ ออกฤทธิ์ เพื่อกำจัดท่าน
ด้านการรักษาความปลอดภัยทะไล ลามะ ท่านกล่าวอีกว่า พระองค์รู้ว่าไม่มีการวางแผนอะไรอีก แต่ชาวทิเบตที่ถูกว่าจ้างมาสืบรายละเอียดความปลอดภัยของท่าน ก็มักสารภาพว่าตนเองเป็นสายลับให้กับจีน
"บางครั้งสายลับเหล่านี้ก็เป็นแหล่งข่าวข้อมูลชั้นดี ถ้าเราให้เงินหรือสิ่งของกับสายลับชาวทิเบตเหล่านี้ พวกเขาก็จะบอกเราทุกอย่าง" พระองค์กล่าว
ผู้นำจิตวิญญาณทิเบตซึ่งดูมีสุขภาพดี ยังกล่าวอีกว่า พระองค์กำลังมองชีวิตในอีก 10, 15 หรือ 20 ปีข้างหน้า และพูดติดตลกว่า รัฐบาลจีนคงจะให้ความสนใจว่าใครจะจุติใหม่ เป็นทะไล ลามะองค์ต่อไป หลังจากที่ท่านมรณภาพ มากกว่าสนใจตัวท่านอีกแล้ว
ทั้งนี้ การประท้วงนโยบายรัฐบาลจีนด้วยการจุดไฟเผาตัวของชาวทิเบตยิงทวีความรุนแรงขึ้นใน 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา
จำนวนลามะและชนชาติทิเบตจุดไฟเผากายพุ่งสูงถึงกว่า 50 รายในสัปดาห์นี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนในอินเดีย เผยว่า จีนระดมกำลังรักษาความมั่นคงอย่างแน่นหนาในเขตปกครองชนชาติทิเบตและชุมชนทิเบตในจีน
ทะไล ลามะ ยังค้านการจุดไฟเผาตัว โดยกล่าวว่า "เราจะไม่สนับสนุนการกระทำที่รุนแรงเช่นนี้ เป็นการกระทำที่สุดโต่ง น่าเศร้ามากๆ ตอนนี้ รัฐบาลจีนควรไต่สวนสาเหตุที่แท้จริง พวกเขาอาจประณามพวกเราหรือชาวทิเบตคนอื่นได้ง่ายๆ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา"
ในช่วงต้นปี 2493 องค์ทะไล ลามะ ได้รู้จักกับบิดาของสี จิ้นผิง คือ สี จงซุ่น ซึ่งเป็น 1 ในผู้นำแนวเสรีนิยมมากที่สุดของกลุ่มก่อการปฏิวัติจีนใหม่ ใครๆ ต่างรู้กันดีว่า สี จงซุ่น มีท่าทีแข็งกร้าวน้อยที่สุดในแนวทางสู่ทิเบต
ในปี 2493 นี้เอง รัฐบาลจีนเข้ามาปกครองทิเบต เมื่อกองทัพคอมมิวนิสต์ได้ส่งกองกำลังเข้าไป พร้อมประกาศ “การปลดแอกโดยสันติวิธี” โดยการผนวกดินแดนให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ในฐานะเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต แต่ชาวทิเบตได้ลุกฮือ ต่อต้าน และเกิดสงครามปะทะกันอย่างรุนแรง
กระทั่งในปี 2502 ฝ่ายทิเบตพ่ายแพ้ ทำให้องค์ทะไล ลามะ ต้องลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ธรรมศาลา ท่านกล่าวหาจีนว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม” ส่วนฝ่ายรัฐบาลจีนประณามองค์ทะไล ลามะเป็นกลุ่มลัทธิแบ่งแยกดินแดนผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ และไม่เชื่อคำยืนยันที่ว่า ท่านต้องการเพียงการปกครองตัวเองแบบมีความหมายเท่านั้น