เอเยนซี--เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวทิเบต 2 รายจุดไฟเผาตัวเองไล่เลี่ยกัน นับเป็นชนชาติทิเบตรายที่ 40 กว่า ในรอบปีกว่าที่อัตวินิบาตกรรมด้วยวิธีการช็อคโลก เพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาลจีน
ตามคำแถลงการณ์ของกลุ่มรณรงค์อิสรภาพทิเบต หรือ กลุ่มฟรีทิเบตในกรุงลอนดอน ระบุว่า มีหนุ่มทิเบตจุดไฟเผาตนเองบนถนนในชุมชนทิเบต แห่ง Ngaba เมืองอาป้า ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ของจีน เมื่อวันจันทร์ (6 ส.ค.) ที่ผ่านมา จากนั้น มีเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง รีบเข้ามาดับไฟ และนำตัวขึ้นรถไป
หลังเกิดเหตุ หนุ่มทิเบตที่เผาตัวเองยังรอดชีวิต แต่ช่วงบนของร่างกายถูกไฟคลอกสาหัส
ส่วนทางเจ้าหน้าท้องถิ่นปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
กระทั่ง วานนี้ (7 ส.ค.) เกิดเหตุหญิงทิเบตวัย 26 ปี จุดไฟเผาตัวเช่นกัน ในชุมชนทิเบต ในมณฑลกานซู่ แถบภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เพื่อเรียกร้องให้ทะเล ลามะ กลับคืนมาสู่ดินแดนบ้านเกิด และเปิดกว้างเสรีภาพในการนับถือศาสนา และขณะนี้ร่างของหญิงดังกล่าว ได้รับการดูแลและคุ้มกันโดยพระทิเบต
กลุ่มฟรีทิเบต เผยว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชนชาติทิเบตและลามะ กว่า 40 คน ได้จุดไฟเผาตัวตามเขตชุมชนทิเบต เพื่อประท้วงนโยบายที่กดขี่ของรัฐบาลจีน
ชาวทิเบตตามเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต ชี้ว่ารัฐบาลจีนได้ริดรอนเสรีภาพในการนับถือศาสนา นอกจากนี้ ยังได้ส่งชาวฮั่นมาในดินแดน ล้างวัฒนธรรมทิเบต
ทว่า ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่า ชาวทิเบตยังคงมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และยังจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอีกด้วย
นางสเตฟานี่ บริกเดน ผู้อำนวยการฟรีทิเบต เผยว่า “สื่อมวลชนของโลกให้ความสำคัญข่าวการกวาดเหรียญของนักกีฬาจีนนั้น จีนก็ยังคงบีบ กดขี่ชาวทิเบตจนเกิดกรณีเผาตัวตาย โดยสื่อในประเทศได้ปิดข่าวเหล่านี้”
“จีนได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก กรุงลอนดอน แม้ว่าจะผิดคำมั่นสัญญาสิทธิมนุษยชน ที่ลั่นวาจาไว้ในตอนที่ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อปี 2008 ก็ตาม”
ศูนย์กลางชาวทิเบตเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (TCHRD) กล่าวว่า เหตุการณ์จุดไฟเผาตัวในปีนี้ เริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา
จนเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ลามะทิเบต 2 รูป จุดไฟเผาตัวในนครลาซา ซึ่งเป็นกรณีการเผากายที่เกิดขึ้นในนครหลวงของทิเบตเป็นครั้งแรก
ต่อมาในเดือนมิ.ย. หนุ่มวัยรุ่นชาวทิเบตจุดไฟเผาตัว และเสียชีวิตเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหวไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา
ในปี 2008 เกิดเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลจนบานปลายเป็นศึกรุนแรงในนครลาซา และขยายไปตามเขตชุมชนทิเบตในมณฑลใกล้เคียง อาทิ เสฉวน นับจากนั้นมารัฐบาลได้ระดมกองกำลังคุมเขตชุมชนทิเบต
ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้นำคอมมวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้ส่งกองกำลังไปยังทิเบตพร้อมกับประกาศผนวกดินแดนอยู่ภายใต้การปกครองจีนในฐานะเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต แต่ชาวทิเบตได้ลุกฮือต่อต้านและเกิดสงครามปะทะรุนแรงระหว่างชาวทิเบตและกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปี 1959 ฝ่ายทิเบตพ่ายแพ้ ทะเล ลามะผู้นำจิตวิญญาณทิเบตได้ลี้ภัยไปยังอินเดีย และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ธรรมศาลา ความขัดแย้งระหว่างจีนและรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน แม้มีการเจรจาระหว่างสองฝ่ายหลายครั้งแต่ก็ล้มเหลว จีนยังคงกล่าวหาทะไล ลามะ เป็นผู้ยุแหย่ศึกรุนแรงและลัทธิแบ่งแยกดินแดน.