xs
xsm
sm
md
lg

"ไม่ให้เป็นกวี ผมเป็นเหี้ยก็ได้" อังคาร กัลยาณพงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ART EYE VIEW---ท่าทางที่กำลังชูแขนนี้ของ เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินและนักเล่านิทานชื่อดัง แห่งซอยวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ 

หากจะสื่อความหมายว่า “ท่านอังคารสุดยอด” ก็คงไม่ใช่การกล่าวเกินจริงนัก

เพราะในวงเสวนา “อัจฉริยภาพของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์” ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา เต็มไปด้วยความชื่นชมที่เทพศิริ มีต่อท่านอังคาร ผู้ล่วงลับ

หลังจากที่ได้พบกันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2504 ซึ่งยามนั้น ท่านอังคารได้ผ่านการทำงานคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ร่วมกับ เฟื้อ หริพิทักษ์ มาราว 10 ปี โดยเฉพาะที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

เทพศิริกล่าวว่า ยังจดจำและประทับใจคำบอกเล่าเกี่ยวกับอยุธยา ที่ท่านอังคารมีกับตนครั้งหนึ่งว่า

“ฟืนที่เผาอยุธยา คือไม้แกะสลักจากฝีมือช่าง ที่ฝีมือดีที่สุด บนผืนแผ่นดินนี้”

หรือแม้แต่ตอนที่ ชมรมวรรณศิลป์ ม.ธรรมศาสตร์ เชิญท่านอังคารไปเป็นวิทยากร เทพศิริก็ยังจดจำคำพูดประชดประชันที่ท่านอังคารมีต่อความเห็นของบางคนที่มองว่าท่านไม่ใช่กวี อีกด้วยว่า

“ผมทำงาน ชนิดอดตาหลับขับตานอน แถมเงินเดือนก็ยังไม่ได้ แค่จะเป็นกวีก็ยังไม่ให้เป็น ถ้าเช่นนั้น ผมเป็นเหี้ยก็ได้”

ประโยคบอกเล่านี้ทำเอาหลายคนส่งเสียงหัวเราะก้องอาคารไม้ภายในวัด

พอๆกับประโยคบอกเล่าของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ วิทยากรอีกท่านที่เล่าว่า ครั้งหนึ่ง ศิลปินใหญ่แห่งเมืองเชียงรายนาม ถวัลย์ ดัชนี เคยนำท่านอังคาร ชมอาณาจักร บ้านดำ ของตน เมื่อชมเสร็จ ก่อนกลับท่านอังคารได้เปิดถังขยะหน้าอาณาจักรของถวัลย์ดู แล้วกล่าวว่า

“ถวัลย์ ดัชนี ไม่ได้รวยจริงๆหรอก เพราะผมไม่เห็นว่าในนั้น จะมีเปลือกทุเรียนหมอนทองอยู่เลย”

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยๆที่ทั้งเทพศิริ และเนาวรัตน์ นำมาบอกเล่าให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงท่านอังคารด้วยความสุข นอกเหนือจากอัจฉริยภาพทั้งด้านกวีและภาพเขียน ที่เราเคยได้ยินได้ฟังในหลายโอกาส ซึ่งทั้งสองท่านก็ได้นำมาบอกเล่าให้ฟัง เพื่อให้เราเห็นภาพอันกระจ่างชัดอีกครั้ง

และเห็นว่า สมควรแก่การที่บ้านเมือง ควรจะมีการจัดทำสถานที่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและเก็บผลงานของ จิตรกรกวีชื่อ อังคาร กัลยาณพงศ์ อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งหลังจากที่วงเสวนาจบลง ก่อนที่จะมีการฉายบทสัมภาษณ์ของท่านอังคารครั้งสุดท้าย ที่ถูกบันทึกผ่านโทรศัพท์มือถือ ให้ทุกคนรับชม และรับฟัง เพลง "พลับพลึง" และ “คนดีมีค่า” จาก คณะนักร้องประสานเสียง วงสวนพลู

หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ ผู้ทำหน้าที่ดำเนินการเสวนา ได้แจ้งให้ทุกคนได้ทราบว่า ขณะนี้ลูกศิษย์และทายาทได้ทำการจดทะเบียน กองทุนอังคาร กัลยาณพงศ์ เรียบร้อยแล้ว

หากใครมีความประสงค์จะสมทบทุนเพื่อก่อสร้างสถานที่รวบรวมผลงานของท่านอังคาร ทางกองทุนฯ จะแจ้งข่าวให้ทราบในลำดับต่อไป

ด้าน ป๋วยเสวนาคาร มีของที่ระลึกให้กับทุกคนเป็น “ป๋วย” จุลสารแจกฟรี ที่มีปกเป็นภาพใบหน้าท่านอังคาร เขียนโดย พิพัฒน์ สว่างวงศ์อนันต์ และปกหลังที่เขียนโดย หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ

ขณะที่เนื้อหาภายในก็เต็มไปด้วยบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับท่านอังคาร อาทิ เพื่อนถึงเพื่อน จาก “สุลักษณ์” ถึง “อังคาร”,คิดถึงพ่ออังคาร(ความรู้สึกจากใจลูกสาว อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ที่มีต่อพ่อ)

ตลอดจนความรู้สึกของศิลปินหลากหลายท่านที่มีต่อท่านอังคารที่พวกเขารู้จัก อาทิ ถวัลย์ ดัชนี,ประเทือง เอมเจริญ,แนบ โสตถิพันธ์,ช่วง มูลพินิจ,ผ่อง เซ่งกิ่ง,เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,เทพศิริ สุขโสภา,ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,ซาการีย์ยา อมตยา,หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ ฯลฯ

"ท่านอังคารเป็นผู้ที่นำเอาการเขียนลายมาปลูกให้คนไทย โดยเฉพาะชาวศิลปากร มีไฟได้เขียนเรื่องไทยต่อ อันนี้สำคัญ เรื่องลายไทยนี่แหล่ะที่สำคัญ" ช่วง มูลพินิจ

"ท่านก็อายุมากแล้ว ทำคุณประโยชน์ รับใช้ชาติบ้านเมืองมามากมาย สังขารมันก็หมดวาระ ถึงเวลาก็ต้องไป เราก็คงเช่นเดียวกัน" ประเทือง เอมเจริญ

รวมถึงลายเส้นการ์ตูน ที่ อรุณ วัชชระสวัสดิ์ เขียนภาพท่านอังคาร ขณะนั่งพักเหนื่อย พร้อมไม้เท้าคู่กาย อยู่บนโลกใบกลมๆใบหนึ่ง

ดูแล้วชวนให้นึกถึง บุคลิกของท่านอังคารในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่บอกแก่ทุกคนในทำนองนี้เสมอว่า

“ไม่ไปนิพพาน ฉันจะเป็นกวี”

 เนาวรัตน์ ได้ตีความ การปฏิเสธไม่ไปนิพพานของท่านอังคารว่า เพราะยังต้องการท่องอยู่ในโลก เรียนรู้ที่สุดแห่งทุกข์ มุ่งเป็นพระโพธิ์สัตว์

“เวลาท่านอังคารเขียนกาพย์กลอน จะเอาเคล้าคติจากพุทธศาสนามาตลอด

และมีวรรคหนึ่งของบทกวีบางบท ในเล่ม 'ปณิธานกวี' ของท่านอังคาร ที่บอกว่า ไม่ไปกระทั่งนิพพาน ด้วย

ผมตีความว่า การที่ไม่ต้องการไปนิพพานของท่านอังคาร หมายถึง มิได้หวังพุทธภูมิ หมายถึง การเป็นปัจเจกพุทธะ หรือ อรหันต์ ที่มุ่งจิตนิพพาน

นิพพาน คือ ดับเย็น ดับกิเลส แต่ท่านอังคารไม่ต้องการที่จะดับเย็น ไม่ต้องการที่จากหมดกิเลส ยังมีโทสะ ยังมีความรักในการท่องอยู่ในโลก

ลักษณะนี้เป็น มหายาน นิกายหนึ่ง คือ วัชรยาน ยังอยู่ในโลก ข้องเกี่ยวอยู่กับโลก เกรี้ยวกราด ไล่ขับปีศาจ ยังต่อสู้ ยังต้องการช่วยคน ช่วยสังคม

 ถือเป็นนักบวชเหมือนกัน เป็นคติของผู้ที่มุ่งพระโพธิสัตว์เป็นใหญ่ คือผู้ที่ช่วยสัตว์โลก ให้ข้ามพ้นทุกข์ภัยทั้งปวง โดยเฉพาะทางวัชรยาน จะชัดมากที่สุด ชัดมากกว่ามหายาน นิกายอื่น

เพราะฉนั้นการกล่าวเช่นนี้ของท่านอังคาร มันกระเดียดไปทางวัชรยาน เป็นยานสายฟ้า วัชร แปลว่า สายฟ้า

มีคติธรรมที่คนมุ่งจะเป็นพระโพธิสัตว์ มากกว่าที่จะเป็นพุทธะโดยตรง อยู่ในสายของพุทธศาสนานั่นแหล่ะ แต่เป็นอีกนิกายหนึ่ง  ที่เชื่อใน ที่สุดแห่งทุกข์ก็คือ ทุกข์ที่สุด”

By ฮักก้า

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น