ผมได้รับเชิญให้บรรยายนำการเสวนาที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนกับแผนพัฒนาภาคใต้ หัวข้อที่ผมได้รับมอบหมายคือ “จินตภาพ นครศรีธรรมราชยั่งยืน” แต่เพื่อให้เหมาะกับท่านผู้อ่านทั่วไปและให้มีเนื้อหารัดคุมยิ่งขึ้น ผมจึงขอปรับมาเป็น “จินตภาพการพัฒนาภาคใต้ : ต้องยั่งยืนและเป็นธรรม”
ขอเรียนตามตรงว่าเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างยากสำหรับผม ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนภาคใต้ แต่ที่ยากนั้นไม่ใช่เพราะไม่มีข้อมูล แต่เป็นเพราะแนวคิดและหลักการที่นำไปสู่ “จินตภาพ” ซึ่งมีผู้ให้ความหมายว่า “ภาพที่เกิดจากความนึกคิดหรือที่คิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น” เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการถกเถียงแลกเปลี่ยน
ส่วนหนึ่งในความนึกคิดหรือจินตภาพของผมนั้นปรากฏอยู่แล้วในภาพข้างบนซึ่งถ่ายโดยคุณวันชัย พุทธทอง (ขอถือโอกาสขอบคุณด้วย)
ผมชอบภาพนี้มาก เพราะนอกจากเยาวชนซึ่งเป็นตัวแทนของความยั่งยืนที่มีสีหน้าสดใสร่าเริงแล้ว ยังมีข้อความว่า “ปลาคือชีวิต (Fish for Life)” พวกเขาร่วมกันชูภาพนี้ขึ้นมาก็เพื่อที่จะแสดงจินตภาพของตนให้พวกพ่อค้าและนักการเมืองตลอดจนสาธารณะชนที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวว่า พ่อค้าพลังงานข้ามชาติกำลังจะมาขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพวกเขาตลอดจนคนทั่วไปที่กินปลาด้วย
เหตุผลที่ผมต้องปรับเปลี่ยนหัวข้อมาเป็น “ต้องยั่งยืนและเป็นธรรม” ก็เพราะว่าการขุดเจาะปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบนั้นถือเป็นกิจกรรมหรือธุรกิจที่ “ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม” เอาเสียเลย
ภาคใต้เคยขุดดีบุกส่งออกมากเป็นอันดับสองของโลก (ยอดส่งออกรวม 1.5 ล้านตัน) ผู้ขุดเป็นบริษัทต่างชาติ นอกจากเจ้าของประเทศได้รับค่าภาคหลวงในราคาต่ำมากแล้ว เรายังถูกหลอกเอาแร่แทนทาลัมซึ่งปนมากับดีบุกไปด้วย ในวันนั้น (2522) เราขายปนกันไปในราคากิโลกรัมละประมาณ 30 บาท ในวันนี้แทนทาลัมอย่างเดียวกิโลกรัมละ 3 พันบาทถึง 1.5 หมื่นบาท ดีบุกกิโลกรัมละ 6 ร้อยบาท
เมื่อชาวภูเก็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หาดป่าตอง (แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก) ได้ลุกขึ้นมาประท้วง รัฐมนตรีอุตสาหกรรมในขณะนั้นได้ออกมาต่อว่าชาวบ้านว่า “จะเก็บชายหาดไว้ให้ฝรั่งแก้ผ้าเดินกระนั้นหรือ!”
นับว่าโชคดีมากที่เสียงเรียกร้องของชาวภูเก็ตและกระแสสังคมไทยในวันนั้นสามารถรักษาหาดป่าตองเอาไว้ได้ ปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาล แม้รายได้จะกระจุกตัวอยู่กับเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ชาวบ้านก็ยังสามารถสอดแทรกเข้าไปรับส่วนแบ่งได้บ้างระดับหนึ่ง
ที่สำคัญมากกว่ารายได้ก็คือ ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีวันสิ้นสุด
สำหรับการกระจายรายได้ แม้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะยังไม่เป็นธรรมมากนัก แต่ก็ยังดีกว่าการขุดเจาะน้ำมันซึ่งนอกจากชาวบ้านจะไม่ได้รับส่วนแบ่งใดๆ แล้วยังส่งผลเสียหายต่อแหล่งอาหารสำคัญของประเทศด้วย
ตัวอย่างชัดเจนที่ชาวประมงพื้นบ้านสามารถยืนยันได้ก็คือ บริเวณอำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา กี่ปีกี่ชาติที่ผ่านมา พื้นดินท้องทะเลแถบนั้นเป็นที่อยู่ของปลา พื้นดินสะอาด แต่หลังจากมีการขุดเจาะน้ำมันได้เพียง 2-3 ปี พื้นท้องทะเลก็กลายเป็นดินโคลน เหนียวและมีกลิ่นเหม็น ปลาไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ชาวประมงบางส่วนจึงต้องอพยพไปหากินที่ทะเลอันดามัน
ที่เล่ามานี้สะท้อนปัญหาที่ “ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม”
อาจมีคนบางส่วนแย้งว่า ประเทศก็ต้องการพัฒนา ประชาชนก็ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รัฐบาลก็ได้ภาษีไปบริหารประเทศ ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยก็ต้องเสียสละ
ช่างเป็นคำแย้งที่ดูดีครับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อแย้งดังกล่าวมีความจริงอยู่เพียงนิดเดียวเท่านั้น แถมยังมีหลักคิดที่ผิดพลาดและไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิชุมชนด้วย
ความจริงก็คือว่า (1) น้ำมันดิบที่ขุดได้ (โดยเฉพาะในอ่าวไทย) เขาส่งออกเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ส่งออกในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายให้คนไทย (2) ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากก๊าซธรรมชาติ เกินครึ่งก็เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมส่งออก (ซึ่งก็ไม่ใช่ของคนไทยอีก) (3) ค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้จากธุรกิจปิโตรเลียม ประเทศเราได้น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น พม่า มาเลเซีย เวียดนาม และ เขมร ที่ดูล้าหลังกว่าเรา
โดยสรุปคือการปล้นประเทศ ไม่ต่างจากกรณีดีบุก เหมืองทองคำ และแร่โปรแตสที่นายทุนข้ามชาติกำลังรุกอย่างหนักหน่วงในภาคอีสาน
เขียนมาถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงคำพูดของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ญาติผู้ใหญ่ของผมเคยเล่าให้ฟังว่า “ประเทศไทยนั้นอุดมสมบูรณ์มาก หากไม่มีการคอร์รัปชันเสียอย่างเดียว เราสามารถเอาทองคำมาทำถนนได้เลย”
ในจินตภาพของผม ผมเห็นด้วยกับการพัฒนาแต่การพัฒนานั้นจะขาดสองสิ่งไปไม่ได้ คือ “ต้องยั่งยืนและเป็นธรรม”
ที่ผมเล่ามาแล้วส่วนมากเป็นแค่ตัวอย่าง ต่อไปนี้ผมจะนำเสนออีก 3 สิ่งที่เป็นหลักการ คือ (1) ภาพรวมของความไม่เป็นธรรม (2) การพัฒนาแบบใดที่นำไปสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรม รวมถึงตัวชี้วัด และ (3) ทำอย่างไรให้กระบวนการพัฒนาในข้อที่สองเป็นจริง
ภาพรวมของความไม่เป็นธรรม
ข้างล่างนี้คือกราฟแสดงรายได้ต่อหัวของคนในบางจังหวัดตั้งแต่ปี 2538-2553
เส้นบนสุดคือรายได้ต่อหัวของชาวจังหวัดระยองซึ่งเป็นรายได้ที่สูงที่สุดในประเทศนี้ เส้นที่สองเป็นของจังหวัดภูเก็ต (อันดับ 10 ของประเทศ) สำหรับเส้นที่ 3 และ 4 (สีแดงล่างสุด) คือค่าเฉลี่ยของประเทศ และนครศรีธรรมราช (อันดับที่ 32) ตามลำดับ
ก่อนที่จะอ่านต่อไป ลองตรวจสอบตัวเองสักนิดนะครับ ถ้าท่านมีรายได้ไม่ถึงปีละ 1.6 แสนบาท (หรือเดือนละ 13,379 บาท) แสดงว่าท่านมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และนี่คือค่าเฉลี่ยนะครับ คือนับรวมถึงคนที่ยังไม่มีรายได้ในครอบครัวเราด้วยนะ อ้อ คนระยองท่านใดมีรายได้ปีละ 1.225 ล้านบาทบ้างครับ
มีสิ่งที่น่าสนใจ 2 อย่างอยู่ในกราฟนี้ครับ คือ
(1) เมื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำรายได้ของคนระยองกับค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ พบว่า ได้เพิ่มขึ้นจาก 3.9 เท่า ในปี 2538 เป็น 7.6 เท่า ในปี 2553 นักวิชาการหลายสำนักสรุปตรงกันว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมคือต้นตอบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งปวง
นั่นแปลว่าทิศทางการพัฒนาของประเทศเรากำลังเดินไปสู่ความเหลื่อมล้ำหรือไปสู่ความชั่วร้ายมากมาย ไม่ว่า ปัญหายาเสพติด ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร รวมถึงสิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือโรคอ้วนในเด็ก ต่างก็มาจากความเหลื่อมล้ำ
(2) เมื่อเจอวิกฤตสึนามิ รายได้ของคนภูเก็ตลดลง และเมื่อเจอวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาและวิกฤตยุโรป รายได้ของคนระยองลดลงอย่างมาก นั่นแปลว่า เศรษฐกิจของคนระยองขึ้นต่ออย่างมากกับเศรษฐกิจโลก
ผมเชื่อมั่นว่า การนำเศรษฐกิจของประเทศไปผูกติดกับเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นหนาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่างแน่นอน เศรษฐกิจที่ดีต้องเป็นเศรษฐกิจของคนท้องถิ่น เพื่อท้องถิ่นที่เป็นอิสระ
ในทางตรงกันข้าม เราจะเห็นจากกราฟว่า รายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศและคนนครศรีธรรมราชมีผลกระทบน้อยมากในปี 2552 ในขณะที่ชาวระยองโดนกระหน่ำอย่างรุนแรง
นี่คือจินตภาพการพัฒนาของผมครับซึ่งจะขยายความในตอนท้ายอีกครั้งหนึ่ง ยังมีข้อมูลที่สำคัญแต่ไม่อยู่ในกราฟนี้คือ
(1) จังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุดคือ อำนาจเจริญ 29,144 บาท คิดเป็น 1 ใน 42 เท่าของคนระยอง มันเป็นไปได้อย่างไรครับ ข้อมูลนี้มาจากสภาพัฒน์ครับ
(2) คนใน 6 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีรายได้สูงสุดเรียงลงมา มีประชากรรวมกัน 8% ของทั้งประเทศ แต่มีรายได้รวมกันถึง 27%
(3) กรุงเทพมหานครมีรายได้สูงเป็นอันดับ 7 ถ้านับรวมกับอีก 6 จังหวัดข้างต้นมีประชากร 18.7% แต่มีรายได้รวมกันถึง 56% ถ้าคิดคร่าวๆ (เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ) คนรวย 20% มีรายได้รวมกันถึง 60% มากกว่า 2551 ถึงประมาณ 4-5% นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่อันตรายมากครับ
ลองจินตนาการถึงขนมชั้นครับ ถ้ามีคนในครอบครัวอยู่ 5 คน มีขนมชั้นอยู่ 1 ชิ้น แต่ 5 ชั้น ถ้าเป็นธรรมจริงก็แบ่งกันกินคนละ 1 ชั้น เท่าๆ กัน แต่ในครอบครัวนี้ พี่คนโตคนเดียวลอกไปกินเสียถึง 3 ชั้น (60%) น้องๆ ที่เหลืออีก 4 คน (80%) จะรู้สึกอย่างไร?
(4) ในปี 2538 คน กทม. มีรายได้ใกล้เคียงกับคนระยองคือ 1 ต่อ 1.1 แต่ในปี 2553 กลายมาเป็น 1: 2.7
(5) จังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุดของภาคใต้คือพัทลุง ติดอันดับที่ 48 ของประเทศไทย(แต่ผมทราบเป็นการส่วนตัวว่าคนพัทลุงอายุยืนมาก)
การพัฒนาแบบใดที่นำไปสู่ความยั่งยืนและเป็นธรรมรวมถึงตัวชี้วัด
เขียนมาถึงตอนนี้ชักรู้สึกเกรงใจท่านผู้อ่านครับ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญก็กรุณาอดทนกันหน่อยครับ (นึกถึงเพลงของสุรชัย จันทธิมาธร ฉันคือประชาชนต้องอดทนได้ทุกอย่าง แม้นปัญหามันคับคั้ง ประเดประดั่งอยู่ในใจ …ฉันคือประชาชนที่ผอมโซเหมือนซังหญ้า แต่ประชาชนเราไม่ค่อยอดทนในการอ่านบทความ ดีๆ)
การพัฒนาต้องตั้งอยู่บนหลักการสำคัญสองอย่างคือความยั่งยืนและเป็นธรรม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับเรื่องความยั่งยืนนั้น ในฐานะที่ผมได้ติดตามเรื่องนโยบายพลังงานมายาวนานจึงได้ข้อสรุปว่า
นโยบายพลังงานของประเทศไทยได้ถูกกำหนดโดยข้าราชการประจำระดับสูงหลายกระทรวงทั้งพลังงาน การคลัง มหาดไทย ฯลฯ ที่ถักทอโยงใยกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยการสนับสนุนของกลุ่มพ่อค้าพลังงานผูกขาดและนักการเมือง นโยบายดังกล่าวได้ออกแบบให้ประเทศไทยต้องวิ่งไปสู่กับดักหรือไปสู่โศกนาฏกรรมใน 2 ทิศทางและในเวลาเดียวกัน คือ
(1) นำความทันสมัยของประเทศไปขึ้นต่อหรือผูกติดกับแหล่งพลังงานที่พ่อค้าได้รับสัมปทานคือแหล่งปิโตรเลียมซึ่งมีจำนวนจำกัด (Limit) มีจำนวนน้อย ราคาแพงขึ้นและนับวันจะหมดไป ขณะเดียวกันก็หันหลังให้กับแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพจำนวนมหาศาล คือ พลังงานจากดวงอาทิตย์ซึ่งยังไม่มีใครได้รับสัมปทานและไม่มีวันหมด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล เป็นต้น
(2) นำไปสู่ขีดจำกัดเชิงนิเวศ (Ecological Limit) ซึ่งหมายความว่าหากของเสียที่เกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิลเกินกว่าระดับขีดจำกัดดังกล่าว ก็จะเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่นซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรงและอย่างคาดไม่ถึง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า ต่อให้โลกนี้มีน้ำมันจำนวนมากและราคาถูกเหมือนราวกับน้ำทะเลก็ไม่สามารถนำมาใช้ในอัตราที่มากกว่านี้อีกต่อไปแล้ว
ทางออกจากปัญหานี้สามารถสรุปได้ดังแผนภาพข้างล่าง คือการออกแบบเมืองแบบใหม่ที่สามารถพึ่งตนเองได้ ในด้านอาหารทะเล ภาคใต้มีมากมายนอกจากจะเลี้ยงคนนอกพื้นที่แล้วยังสามารถเป็นครัวของโลกได้อีกด้วย
ในด้านพลังงาน ก็โดยการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ซึ่งในภาคใต้เรามีมากมายเช่นกัน รวมทั้งน้ำเสียในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรก็สามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วย
ในปี 2550 จังหวัดนครศรีธรรมราชใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในทุกภาคส่วนจำนวน 1,559 ล้านหน่วย (ประมาณ 1% ของทั้งประเทศ) หากคิดเป็นขนาดโรงไฟฟ้าก็ประมาณ 250 เมกะวัตต์ แต่ในขณะนี้กำลังมีแผนการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์จำนวน 2 โรง เพื่อนำไปป้อนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังจะมีขึ้น
ถ้าสร้างจินตภาพอย่างบูรณาการก็สามารถสรุปได้ว่า ภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครศรีธรรมราชกำลังจะเป็นดั่งมาบตาพุด จังหวัดระยองนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การพึ่งตนเองก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะไม่มีการนำเข้า อะไรที่จำเป็นก็สามารถนำเข้ามาใช้ได้ แต่เน้นการพึ่งตนเองเป็นสำคัญ
เพื่อยืนยันว่าขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้กำลังถูกทุนต่างชาติรุกคืบอย่างหนักทั้งนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ เขื่อน การขุดเจาะน้ำมัน ปิโตรเคมี ผมจึงได้นำเอกสารส่วนหนึ่งที่สภาพัฒน์ ได้ว่าจ้างให้บริษัทเอกชนศึกษามาลงให้ดูครับ ค่อยๆ อ่านครับ
ตัวชี้วัดการพัฒนา
ประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลก ที่ถูกหลอกให้ใช้รายได้หรือจีดีพีเป็นตัวชี้วัดการพัฒนา แต่ก็
อย่างที่เราทราบๆ กัน ชาวระยองป่วยเป็นโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจกันเป็นจำนวนมาก แม้จะมีรายได้มากเป็นอันดับหนึ่งก็จริง แต่นั่นคือการนำรายได้ของเจ้าของโรงงานมาเป็นตัวหารด้วย
ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา” อย่างประเทศภูฏาน เขาให้ความสำคัญกับรายได้น้อยมาก แต่เขาให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวม (Gross National Happiness) ของประชาชนทั้งประเทศ
ดัชนีชีวัดความสุขของชาวภูฏานประกอบด้วย 9 ปัจจัยๆ ที่สำคัญที่สุดคือ การใช้เวลา และน้อยที่สุดคือ การศึกษา ส่วนที่เหลืออีก 7 ปัจจัยคือ ความมีธรรมาภิบาล ความเป็นชุมชน วัฒนธรรม สุขภาพ สภาวะทางจิตใจ มาตรฐานการครองชีพและระบบนิเวศน์ของชุมชนโดยแต่ละปัจจัยมีความสำคัญไล่เลี่ยกัน
เมื่อปี 2549 กลุ่มนักคิดที่รวมตัวกันเป็น The New Economics Foundation (NEF) ได้คิดตัวชี้วัดออกมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า Happy Planet Index (ดัชนีความสุขร่วมกันของโลก) คือแทนที่จะวัดเฉพาะรายได้ของคนแบบจีดีพี หรือดัชนีความสุขมวลรวมแบบประเทศภูฏาน (ซึ่งคำนวณได้ยาก) พวกเขากลับคิดถึงปัจจัยสำคัญ 3 ตัว คือ (1) ความพึงพอใจ (2) จำนวนปีที่ชีวิตมีความสุข และ (3) จำนวนทรัพยากรที่บริโภค
กลุ่มนี้เขียนเป็นสมการพีชคณิตง่ายๆ คือ
นั่นหมายถึงว่า สังคมใดใช้ทรัพยากรน้อย ดัชนีความสุขของโลกก็จะสูงขึ้น (ตัวหารเล็ก ผลลัพธ์มาก) ขณะเดียวกันถ้าจำนวนปีที่ชีวิตมีความสุขมาก (ไม่ใช่แค่อายุยืนอย่างเดียว แต่ยืนแบบช่วยเหลือตนเองได้ แข็งแรง) ดัชนีความสุขโลกก็จะสูงตามไปด้วย
สำหรับความพึงพอใจในชีวิตนั้นค่อนข้างจะเป็นอัตวิสัย คือขึ้นอยู่กับความรู้สึก ศีลธรรม จิตวิญญาณ เป็นต้น สรุป หลักการสำคัญของตัวชี้วัดนี้คือ “ความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ใช้สอยน้อยลง”
ผมเชื่อว่า ดัชนีความสุขร่วมกันของโลกนี้ เป็นตัวชี้วัดที่สามารถวัดความยั่งยืนและความเป็นธรรมได้ดีทีเดียว
ทำอย่างไรให้กระบวนการพัฒนาในข้อที่สองเป็นจริง
มาถึงตอนสุดท้ายของบทความที่ค่อนข้างยาวครับ คือทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการพัฒนาที่นำไปสู้เป้าหมายคือ ยั่งยืนและเป็นธรรม
ในฐานะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผมได้มีโอกาสตรวจสอบตามคำร้องเรียนของชาวบ้าน ได้ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง และได้ศึกษารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มากขึ้น พบว่า รัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยสิทธิชุมชนได้บัญญัติไว้อย่างดีแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตาม ยังเห็นแก่ได้ ประกอบกับประชาชนเองก็ยังไม่เข้าใจในพลังที่แท้จริงของตนเองเท่าที่ควร
ข้างล่างนี้เป็นบทสรุปของ ดร.แฮร์มัน เชียร์ นักเศรษฐศาสตร์และเป็นนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานสมาคมพลังงานลมโลก ฯลฯ ได้รับการขนานนามจากนิตยสารไทม์ว่า “เป็นวีระบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว” และได้รับรางวัล “THE RIGHT LIVELIHOOD AWARDS 1999” และเป็นอดีต ส.ส.เยอรมนี ได้กล่าวไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตไม่ถึงสัปดาห์ว่า
“วิธีเดียวที่จะทำให้สำเร็จ ความสำเร็จต่อการต่อต้านทั้งหลาย ต่อพวกกระแสหลัก ต่อผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัว ผลประโยชน์ที่ใหญ่โต คือการต่อสู้กับเขาเหล่านั้นในที่สาธารณะ เพื่อเอาชนะในสาธารณะ เราสามารถเอาชนะต่อโครงสร้างอำนาจได้ และพันธมิตรที่ดีที่สุดก็คือประชาชน”