xs
xsm
sm
md
lg

งัดยุทธศาสตร์29ข้อดับไฟใต้ สู้แผนบันได7ขั้นผู้ก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (17 พ.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อมอบนโยบาย และชี้แจงการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทบ. เป็นเลขาฯ กอ.รมน. พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตัวแทนกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ
ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวมอบนโยบายว่า นายกฯต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปทบทวนการขอจัดสรรงบประมาณ และกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยนายกฯ ตระหนัก และให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดภาคใต้ โดยกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการในปีแรก เพื่อเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับสู่พื้นที่ภาคใต้ พร้อมกันนี้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ได้จัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2555-2557 เป็นกรอบทิศทางหลัก ในการแก้ปัญหาโดยศอ.บต.ได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา และกอ.รมน.จัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง รองรับไว้แล้ว ซึ่งการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นและสำคัญต่อความสำเร็จในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ที่ดินทำกิน ดูแลส่งเสริมการประกอบอาชีพ เร่งรัดแก้ปัญหายาเสพติด ติดตามการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างทั่วถึง และสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานของรัฐบาล
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า การทำงานแก้ไขปัญหา หรือการบูรณาการการทำงานทั้งด้านการพัฒนาและ ความมั่นคงต้องไปด้วยกัน เพราะการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่ได้หวังผลประโยชน์ใดๆ แต่เป็นการกระทำเพื่อมีเป้าหมายทางความคิดต่อประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่การดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง มีความประสงค์เพียงต้องการปฏิบัติตน ตามคำสั่งสอนทางศาสนา และดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ดังนั้นในการทำงานต้องเข้าใจถึงจุดนี้ด้วย อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาความปลอดภัยของฝ่ายทหาร และการบังคับใช้กฎหมายต้อง มีความเข้มแข็งเช่นกัน
ทั้งนี้ในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ให้เกิด ลัษณะเดินชนกำแพง เช่น ในกระบวนการยุติธรรมต่อคดีความมั่นคง หรือคดีอาญา ต้องมีความยุติธรรมตั้งแต่ กระบวนการสอบสวน อัยการ หรือศาล อย่างเช่นในปี 2554 มีคดียกฟ้อง 163 คดี ในขณะที่คดีที่สามารถสั่งลงโทษได้เพียง 40 คดี ซึ่งในความเป็นจริงตัวเลขดังกล่าวต้องกลับข้างกัน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของ ศอ.บต.คือ การอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น และรับทราบความต้องการของพี่น้องประชาชน เช่น มีข้อเสนอให้มีการโอนความรับผิดชอบในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ให้แก่ผู้นำชุมชนกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน โดยมีการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ทหาร และควรมีการเปิดพื้นที่สันติภาพ ด้วยการสร้างบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่ดี ตัวอย่าง เช่น บางพื้นที่ผู้ชายไม่อยู่ในพื้นที่ เพราะกลัวถูกขึ้นบัญชีแนวร่วม หรือไม่มีผู้ชายคนใดในบางพื้นที่ ที่ไม่อยู่ในบัญชีแนวร่วม เป็นต้น
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหา คือ ต้องเข้าไปส่งเสริมการศึกษาและศาสนาของประชาชน ในพื้นที่เนื่องจากเด็กประมาณ 2.5 แสนคน จะเข้าศึกษาใน ตาดีกา หรือโรงเรียนสอนศาสนาเอกชน พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างประเทศโลกมุสลิม ด้านการศึกษาและศาสนา ด้วย
ทั้งนี้ ศอ.บต.มีหน้าที่รับนโยบายจากสมช.ไปจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารและพัฒนา โดยทุกหน่วยงานใน 5 จังหวัดภาคใต้ ต้องทำแผนปฏิบัติการตอบสนอง โดยมี ศอ.บต.เป็นฝ่ายประเมินผล และติดตามตรวจสอบ รวมถึงการคัดกรองบุคคลที่มีคุณภาพเข้าไปทำงานในพื้นที่ สิ่งสำคัญในการทำงานต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือกฎหมาย แต่ต้องใช้กฎหมายให้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ในการพัฒนากับภาคประชาชน
"ฝ่ายแนวร่วมตลอด 100 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เลย แต่ภาครัฐเพียงไม่กี่ปี ดังนั้นในการแก้ไขปัญหา ต้องเน้นการพัฒนาและความมั่นคง ควบคู่กันไป" เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
ขณะที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก และเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวว่า สภาพ ปัญหาและเงื่อนไข ในพื้นที่ที่เป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานในการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นต้องบั่นทอนการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐปัตตานี จำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติการก่อเหตุ หรือการขยายแนวคิดและแนวร่วม พร้อมกับเน้นการดูแลชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ แนวร่วมมีแนวคิดในการจัดตั้งอำนาจรัฐซ้อนรัฐ โดยมีโครงสร้างการบริหาร 7 กระทรวง ที่ต้องการสถานะรัฐปัตตานี ในเวทีโลก และใช้กฎหมายสากลเป็นเครื่องมือ พร้อมกับก่อเหตุต่างๆให้เกิดขึ้น
" สำหรับบันได 7 ขั้น โดยขั้นที่ 1 ทำให้ประชาชนมีความตระหนัก และรู้สึก สร้างกระบวนการทางการเมืองหรือควบคุมพื้นที่โดยใช้ประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อน การเคลื่อนไหว ขั้นที่ 2 มีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคม โดยใช้ประชาชนเป็นอาวุธ ขั้นที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อสร้างนักตรรกวิทยา ที่สามารถโต้เถียง หรือตอบโต้ศัตรู ขั้นที่ 4 มีเป้าหมายเพื่อรวมเป็นหนึ่งในการควบคุมพื้นที่ เพื่อเข้าสู่การปฏิบัติต่อไป ขั้นที่ 5 มีเป้าหมายสร้างความหนึ่งของชาติผ่านการปฏิบัติ ขั้นที่ 6 เป้าหมายส่งสัญญาให้เห็นว่า ประชาชนได้เตรียมพร้อมในการปฏิบัติ หรือจู่โจม เมื่อใดก็ได้ที่ถือว่าเป็นโอกาส จนองค์กรสามารถใช้ประชาชนเป็นอาวุธเพื่อแสดง ให้เห็นการปฏิวัติในทุกหย่อมหญ้า และ ขั้นที่ 7 มีเป้าหมายปฏิบัติการปฏิวัติหรือปฏิวัติ ด้วยอาวุธนั้นคือ จุดสุดยอดของการ ต่อสู้ของประชาชน เป็นจุดทำให้เห็นว่า มีสงครามประชาชนเกิดขึ้น ”
ทางด้าน พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า ในอดีตคิดว่าเป็นงานปกติ องค์กรของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามที่มีการออกแบบ งาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นการต่อสู้กับรัฐปัตตานี ต่อสู้กองกำลัง มีแผนงาน มีกระทรวง จัดตั้งเขตปกครองซ้อน ตรงนี้ใครจะเป็นคนสลายแผนด้านความมั่นคง เพราะนี้เป็นการต่อสู้ที่ไม่ปกติ ต้องใช้เวลาถึง 36 ปี สู้กับรัฐปัตตานี ตนจะเกษียณราชการอยู่แล้ว ยังไม่เห็นว่า จะแก้ตรงนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้แต่ละกระทรวงไปดูงานที่เกี่ยวข้องในการต่อสู้กับแผนรัฐปัตตานี
ด้านพ.ต.ท.ทวี กล่าวว่า ความไม่สงบสุข ความไม่ปลอดภัยไม่ได้รับการแก้ไข เป้าหมายจริงๆ คือรัฐ ไม่ใช้ประชาชน ดังนั้นความไม่ปลอดภัยต้องได้รับการแก้ไข ความรุนแรงลดลง ดัชนีความสุขเป็นตัวชี้วัด ความหวาดระแวงลดลง
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการประชุมเพื่อบูรณาการการทำงานทุกหน่วยที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ทิศทางเดียวกัน ตามยุทธศาสตร์ร่วม 29 ข้อ และนำไปปรับแผนงานให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มอบให้ โดยมีปี 2556 มีงบประมาณ 2 หมื่นล้าน แต่มีปี 2555 มีประมาณ 19,000 ล้านบาท ซึ่งใช้ไปแล้ว 9000 ล้านบาท เหลืออีก1 หมื่นล้าน จะต้องพิจารณา ใช้ใน 5 เดือนนี้ จะต้องทำอย่างไร ทุกหน่วยต้องรีบไปทำงาน เพื่อส่งให้ สมช.ภายในวันที่ 24 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะมีการประเมินผลการทำงานทุก 3 เดือน โดย สมช. ศอ.บต. กอ.รมน. ก.พ.ร. พร้อมที่จะชี้แจงให้ทุกกระทรวงได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ที่ประชุมยังได้อธิบายให้ทุกกระทรวงมองเห็นว่า อะไรคือเป้าหมาย หรือสิ่งที่เรากำลังต่อสู้ และอะไรคือสิ่งที่เราต้องแก้ไข ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทุกหน่วยงานจะทำงานร่วมกัน คิดเหมือนกัน ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาไม่บูรณาการ วันนี้ทุกคนมาสุมหัวกันแล้ว ถือว่าเป็นภาพที่ทุกฝ่ายสบายใจขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น