xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.แฉบันได 7 ขั้นผู้ก่อความไม่สงบปลุกสงคราม ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา
รัฐบาลบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ 29 ข้อดับไฟใต้ กอ.รมน.แฉแผนบันได 7 ขั้นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ใช้ประชาชนเป็นอาวุธ นำสู่บันไดขั้นสุดท้าย ปลุก ปชช.จับอาวุธปฏิวัติสู่สงครามประชาชน แม่ทัพภาค 4 พ้อต่อสู้รัฐปัตตานี 36 ปี ยังไม่เห็นแสงปลายอุโมงค์

วันนี้ (17 พ.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อมอบนโยบายและชี้แจงการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงาน โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช., พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต., พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทบ.เป็นเลขาฯ กอ.รมน., พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วน หน้า ตัวแทนกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ

ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวมอบนโยบายว่า นายกฯ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปทบทวนการขอจัดสรรงบประมาณและกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยนายกฯ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในปีแรก เพื่อเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับสู่พื้นที่ภาคใต้ พร้อมกันนี้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2555-2557 เป็นกรอบทิศทางหลักในการแก้ปัญหาโดย ศอ.บต.ได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา และ กอ.รมน.จัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงรองรับไว้แล้ว ซึ่งการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นและสำคัญต่อความสำเร็จในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ที่ดินทำกิน ดูแลส่งเสริมการประกอบอาชีพ เร่งรัดแก้ปัญหายาเสพติด ติดตามการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างทั่วถึงและสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในเข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานของรัฐบาล

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า การทำงานแก้ไขปัญหาหรือการบูรณาการการทำงานทั้งด้านการพัฒนาและ ความมั่นคงต้องไปด้วยกัน เพราะการก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ได้หวังผลประโยชน์ใดๆ แต่เป็นการกระทำเพื่อมีเป้าหมายทางความคิดต่อประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่การดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง มีความประสงค์เพียงต้องการปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนทางศาสนาและดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ดังนั้น ในการทำงานต้องเข้าใจถึงจุดนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาความปลอดภัยของฝ่ายทหารและการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเข้มแข็งเช่นกัน

ทั้งนี้ ในการบังคับใช้กฎหมายต้องไม่ให้เกิดลักษณะเดินชนกำแพง เช่น ในกระบวนการยุติธรรมต่อคดีความมั่นคง หรือคดีอาญา ต้องมีความยุติธรรมตั้งแต่กระบวนการสอบสวน อัยการ หรือศาล อย่างเช่นในปี 2554 มีคดียกฟ้อง 163 คดี ในขณะที่คดีที่สามารถสั่งลงโทษได้เพียง 40 คดี ซึ่งในความเป็นจริงตัวเลขดังกล่าวต้องกลับข้างกัน

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า หน้าที่สำคัญของ ศอ.บต.คือ การอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น และรับทราบความต้องการของพี่น้องประชาชน เช่น มีข้อเสนอให้มีการโอนความรับผิดชอบในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้แก่ผู้นำชุมชน กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน โดยมีการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ทหาร และควรมีการเปิดพื้นที่สันติภาพด้วยการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี ตัวอย่างเช่น บางพื้นที่ผู้ชายไม่อยู่ในพื้นที่เพราะกลัวถูกขึ้นบัญชีแนวร่วม หรือไม่มีผู้ชายคนใดในบางพื้นที่ที่ไม่อยู่ในบัญชีแนวร่วม เป็นต้น

เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหา คือ ต้องเข้าไปส่งเสริมการศึกษาและศาสนาของประชาชนในพื้นที่เนื่องจากเด็กประมาณ 2.5 แสนคนจะเข้าศึกษาในตาดีกา หรือโรงเรียนสอนศาสนาเอกชน พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศโลกมุสลิมด้านการศึกษาและศาสนา ด้วย ทั้งนี้ ศอ.บต.มีหน้าที่รับนโยบายจาก สมช.ไปจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารและพัฒนาโดยทุกหน่วยงานใน 5 จังหวัดภาคใต้ต้องทำแผนปฏิบัติการตอบสนอง โดยมี ศอ.บต.เป็นฝ่ายประเมินผลและติดตามตรวจสอบ รวมถึงการคัดกรองบุคคลที่มีคุณภาพเข้าไปทำงานในพื้นที่ สิ่งสำคัญในการทำงานต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือกฎหมาย แต่ต้องใช้กฎหมายให้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ในการพัฒนากับภาคประชาชน

“ฝ่ายแนวร่วมตลอด 100 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เลย แต่ภาครัฐเพียงไม่กี่ปี ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาต้องเน้นการพัฒนาและความมั่นคงควบคู่กันไป” เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก และเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวว่า สภาพปัญหาและเงื่อนไขในพื้นที่ที่เป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานในการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นต้องบั่นทอนการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐปัตตานี จำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติการก่อเหตุหรือการขยายแนวคิดและแนวร่วม พร้อมกับเน้นการดูแลชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ แนวร่วมมีแนวคิดในการจัดตั้งอำนาจรัฐซ้อนรัฐ โดยมีโครงสร้างการบริหาร 7 กระทรวง ที่ต้องการสถานะรัฐปัตตานีในเวทีโลกและใช้กฎหมายสากลเป็นเครื่องมือ พร้อมกับก่อเหตุต่างๆ ให้เกิดขึ้น

“สำหรับบันได 7 ขั้น โดยขั้นที่ 1 ทำให้ประชาชนมีความตระหนักและรู้สึกสร้างกระบวนการทางการเมืองหรือควบคุมพื้นที่โดยใช้ประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อน การเคลื่อนไหวขั้นที่ 2 มีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สังคมโดยใช้ประชาชนเป็นอาวุธ ขั้นที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อสร้างนักตรรกวิทยาที่สามารถโต้เถียงหรือตอบโต้ศัตรู ขั้นที่ 4 มีเป้าหมายเพื่อรวมเป็นหนึ่งในการควบคุมพื้นที่เพื่อเข้าสู่การปฏิบัติต่อไป ขั้นที่ 5 มีเป้าหมายสร้างความหนึ่งของชาติผ่านการปฏิบัติ ขั้นที่ 6 เป้าหมายส่งสัญญาให้เห็นว่าประชาชนได้เตรียมพร้อมในการปฏิบัติ หรือจู่โจม เมื่อใดก็ได้ที่ถือว่าเป็นโอกาสจนองค์กรสามารถใช้ประชาชนเป็นอาวุธเพื่อแสดง ให้เห็นการปฏิวัติในทุกหย่อมหญ้า และขั้นที่ 7 มีเป้าหมายปฏิบัติการปฏิวัติหรือปฏิวัติด้วยอาวุธนั้นคือจุดสุดยอดของการ ต่อสู้ของประชาชน เป็นจุดทำให้เห็นว่า มีสงครามประชาชนเกิดขึ้น”

ทางด้าน พล.ท.อุดมชัยกล่าวว่า ในอดีตคิดว่าเป็นงานปกติ องค์กรของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามที่มีการออกแบบ งาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเป็นการต่อสู้กับรัฐปัตตานี ต่อสู้กองกำลัง มีแผนงาน มีกระทรวง จัดตั้งเขตปกครองซ้อน ตรงนี้ใครจะเป็นคนสลายแผนด้านความมั่นคง เพราะนี้เป็นการต่อสู้ที่ไม่ปกติ ต้องใช้เวลาถึง 36 ปีสู้กับรัฐปัตตานี ตนจะเกษียณราชการอยู่แล้วยังไม่เห็นว่าจะแก้ตรงนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้แต่ละกระทรวงไปดูงานที่เกี่ยวข้องในการต่อสู้กับแผนรัฐปัตตานี

ด้าน พ.ต.ท.ทวีกล่าวว่า ความไม่สงบสุข ความไม่ปลอดภัยไม่ได้รับการแก้ไข เป้าหมายจริงๆ คือ รัฐ ไม่ใช่ประชาชน ดังนั้นความไม่ปลอดภัยต้องได้รับการแก้ไข ความรุนแรงลดลง ดัชนีความสุขเป็นตัวชี้วัด ความหวาดระแวงลดลง

ขณะที่ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ยุทธศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการประชุมเพื่อบูรณาการการทำงานทุกหน่วยที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ทิศทางเดียวกัน ตามยุทธศาสตร์ร่วม 29 ข้อ และนำไปปรับแผนงานให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มอบให้ โดยมีปี 2556 มีงบประมาณ 2 หมื่นล้าน แต่มีปี 2555 มีประมาณ 19,000 ล้านบาท ซึ่งใช้ไปแล้ว 9,000 ล้านบาท เหลืออีก 1 หมื่นล้านจะต้องพิจารณา ใช้ใน 5 เดือนนี้จะต้องทำอย่างไร ทุกหน่วยต้องรีบไปทำงาน เพื่อส่งให้สมช.ภายในวันที่ 24 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะมีการประเมินผลการทำงานทุก 3 เดือน โดย สมช., ศอ.บต., กอ.รมน., ก.พ.ร., พร้อมที่จะชี้แจงให้ทุกกระทรวงได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ที่ประชุมยังได้อธิบายให้ทุกกระทรวงมองเห็นว่าอะไรคือเป้าหมาย หรือสิ่งที่เรากำลังต่อสู้ และอะไรคือสิ่งที่เราต้องแก้ไข ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทุกหน่วยงานจะทำงานร่วมกัน คิดเหมือนกัน ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาไม่บูรณาการ วันนี้ทุกคนมาสุมหัวกันแล้ว ถือว่าเป็นภาพที่ทุกฝ่ายสบายใจขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น