xs
xsm
sm
md
lg

3 เดือน หนี้เน่า5.6หมื่นล้าน สภาพัฒน์จวกรถคันแรก-บ้านหลังแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(26 พ.ย.) นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 55 ว่า สถานการณ์ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นแต่มีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ลดลง ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ายอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีมูลค่า 2.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสองและไตรมาสแรกของปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิตามโครงการรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรก โดยสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 33.6% สินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่น ๆ 30.3% และสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย 10.3%
อย่างไรก็ตามความสามารถในการชำระหนี้คืนกลับลดลง เห็นได้จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลนั้นเพิ่มขึ้น 25.1% คิดเป็นมูลค่า 56,527 ล้านบาท หรือ 21.4% ของเอ็นพีแอลรวมทั้งหมด ขณะที่มูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 37.8% หรือ 7,382 ล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 11% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวมากเกินขึ้นและเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามโดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ที่มีแนวโน้มใช้จ่ายตามค่านิยมของสังคมหรือแรงจูงใจจากการโฆษณาขายสินค้า
“แม้ว่าแรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนโยบายค่าแรง 300 บาท แต่กลับพบว่าแรงงานมีการออมเงินที่น้อยมากโดยสัดส่วนการออมเงินของแรงงานล่าสุดมีเพียง 7.8% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนการออมเงินมากกว่า 50% ทั้งที่แรงงานไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะแรงงานผู้สูงอายุมากขึ้นก็ตามหรือเท่ากับว่าคนไทยแก่แล้วยังจนเหมือนเดิมขณะที่คนญี่ปุ่นแก่แล้วรวยเพราะมีการออมเงินมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องส่งสัญญาณให้มีระบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างจริงจังพร้อมกับการส่งเสริมให้มีการออมเงินตั้งแต่วัยเด็ก โดยกระทรวงการคลังต้องทบทวนเรื่องของเงินออมแห่งชาติใหม่เพราะไม่สามารถรอช้าได้อีกต่อไป”
นางสุวรรณี กล่าวด้วยว่า สังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ยังมีดัชนีความสุขลดลงซึ่งจากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ล่าสุดพบว่าความสุขมวลรวมของคนไทยลดลงจาก 6.18 ในเดือนมี.ค.มาอยู่ที่ 5.79 ในเดือนก.ย. 55 หลังจากพบว่ามีปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจในครัวเรือนที่มีค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติก็เป็นข้อกังวลของคนไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
การจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 อัตราคนว่างงานลดลงเหลือ 0.58 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดประมาณ 232,400 คน ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงไป 24,795 คน สาเหตุหลักที่การจ้างงานมากขึ้นมาจากการขยายตัวของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จากโครงการการลงทุนของรัฐบาล รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัว หลังจากน้ำท่วมใหญ่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตาคือ ไทยมีแนวโน้มจะเผชิญปัญหาลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ขณะนี้ จำนวนแรงงานต่างด้าวมีมากกว่า 2 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากพม่า ลาว และกัมพูชา โดยสภาพัฒน์เรียกร้องให้รัฐบาลจัดระบบการสกัดกั้นจับกุม รวมถึงส่งกลับแล้วขยายการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ทำงานภาคการเกษตร การประมง และบริการอย่างถูกกฎหมาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น