ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ความขัดแย้งใน “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)” กำลังเป็นประเด็นที่สื่อและแวดวงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะงานนี้จะเป็นการเดิมพันระหว่างผู้ท้าชิงอย่าง “นายสันติ วิลาสศักดานนท์” กับ “นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ว่า 2 คนนี้ใครจะได้คว้าเก้าอี้ประธานส.อ.ท. กันแน่
ทางฟากของผู้ท้าชิงนั้นหากย้อนอดีตไปเมื่อปี 2549 ก็คือผู้ที่ได้รับชัยชนะขึ้นมาเป็นประธานส.อ.ท.ระหว่างปี 2549-2553 และบุคคลผู้นี้ก็คือผู้ที่กรุยทางและถือเป็นล็อบบี้ยิสต์ตัวพ่อที่หาเสียงมาสนับสนุนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล เป็นประธานส.อ.ท.จนได้รับชัยชนะการเลือกตั้งในเดือนมี.ค. 2553 ซึ่งนายพยุงศักดิ์ทำงานในเก้าอี้ใหญ่ส.อ.ท.ครบ 2 ปี และต่อมาได้ต่อเป็นวาระที่ 2 (วาระปี2555-2557)
เก้าอี้ของนายพยุงศักดิ์ดูจะเริ่มสั่นคลอนเพราะเพิ่งเข้ามาทำงานในวาระ 2 ยังไม่ถึงปีก็มีอันต้องเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายผู้สนับสนุนเดิมถึงขั้นแตกหัก! ซึ่งกระแสดังกล่าวเริ่มมีการออกสื่อถึงการจะปลดนายพยุงศักดิ์ออกจากประธานส.อ.ท.มาระยะหนึ่งแล้วด้วยเหตุผลถึงความไม่พอใจที่นายพยุงศักดิ์ไม่สนองตอบต่อสมาชิกโดยเฉพาะรายเล็กจากต่างจังหวัดที่ต้องการให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันมีผลทั่วประเทศ 1 มกราคม 2556
ทั้งนี้ สาเหตุหลักการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนี้เองเป็นชนวนหลักทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน ส.อ.ท. เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศนี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องประสบภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กำไรลดลง หรืออาจจะต้องเลิกกิจการไปในที่สุด
โดยเฉพาะ 29 จังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด โดยจังหวัดเหล่านี้มีอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างตั้งแต่ร้อยละ 28.76 - 35.14 /ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท สุพรรณบุรี เชียงราย นครสวรรค์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร ชัยภูมิ มุกดาหาร ลำปาง สุโขทัย หนองบัวลำภู นครพนม พิจิตร พิษณุโลก แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ ตาก สุรินทร์ น่าน ศรีสะเกษ พะเยา จึงทำให้บรรดาสมาชิกเกิดความไม่พอใจอย่างแรง นี่เป็นปมสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักภายใน ส.อ.ท.
สำหรับภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากปรับค่าแรงครั้งนี้ ก็อย่างเช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยนายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เริ่มมีผลต่อต้นทุนของบ้านจัดสรรมาโดยตลอด เพราะปีนี้ในส่วนของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีการปรับขึ้นแล้ว ส่งผลให้ราคาบ้านปรับขึ้นประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อจะปรับค่าแรงทั่วประเทศเป็น 300 บาท ในต้นปีหน้า ย่อมส่งผลต่อวัสดุก่อสร้างที่เป็นต้นทุนสำคัญ ดังนั้น โดยภาพรวมปีหน้าราคาบ้านน่าจะปรับขึ้นมาอีก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มีการผลักดันที่จะนำเข้าสู่การหารือในเวทีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ที่เกาะสมุยวันที่ 21 ต.ค.แต่นายพยุงศักดิ์กลับถอนเรื่องออก และตอกย้ำด้วยมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมือวันที่ 20 พ.ย.ที่เห็นชอบเดินหน้าปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศใน 70 จังหวัดที่เหลือที่สร้างความไม่พอใจต่อสมาชิกต่างจังหวัดเป็นอย่างมากเพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯขอให้ชะลอการขึ้นจนกว่าจะมีมาตรการมาเยียวยาผลกระทบออกมาก่อนเมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจึงทำให้เสียงการปลดนายพยุงศักดิ์เริ่มชัดและหนักแน่นขึ้นและเปิดหน้าท้าชนนายพยุงศักดิ์ ออกมากันแบบโต้งๆ
ศึกชิงเก้าอี้ประธานส.อ.ท.จึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการบริหารส.อ.ท.(รวม 70คน)เมื่อ 20 เม.ย.ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ครม.อนุมัติขึ้นค่าแรง 300บาทต่อวันทั่วประเทศโดย นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการส.อ.ท. ให้สัมภาษณ์สื่อตรงไปตรงมาว่าทำงานร่วมกับนายพยุงศักดิ์ไม่ได้แล้วดังนั้นวันที่ 26 พ.ย. 55 ในการประชุมคณะกรรมการส.อ.ท.ที่มีสมาชิก 348 คนจะลงมติโหวตปลดนายพยุงศักดิ์และคณะกรรมการบริหาร(กบ.)ยกชุด โดยอาศัยเสียงจากที่ประชุมกึ่งหนึ่งดำเนินการ
นายพยุงศักดิ์ซึ่งที่ผ่านมาดูจะเป็นฝ่ายนิ่งเฉยเพื่อดูท่าทีของผู้ท้าชิง แต่แล้วคงจะนิ่งไม่ได้งานนี้เลยส่งหนังสือด่วนแจ้งสมาชิกทั่วประเทศยกเลิกการประชุมคณะกรรมการส.อ.ท.ในวันที่ 26 พ.ย.นี้ลงวันที่ 24 พ.ย. 55 และเปิดแถลงข่าว ชี้แจงประเด็นดังกล่าวในช่วงวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย.ด่วนที่ รร.เจ้าพระยาปาร์ค
อีกฟากก็รวดเร็วทันใจเดินทางมาให้ข่าวหลังนายพยุงศักดิ์แถลงจบทันทีเพื่อเป็นการตอบโต้ว่าจะยังคงเดินหน้าจัดประชุมเหมือนเดิมตามที่คณะกรรมการส.อ.ท.กำหนดการประชุมไว้ที่ห้องมีทติ้งรูม1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 15.00 น.
วันที่ 26 พ.ย. ช่วงเช้า “กลุ่มไม่เอาพยุงศักดิ์” ต่างก็ทยอยเดินทางมาประปรายและเริ่มรวมตัวมากขึ้นช่วงเวลา 14.00 น.แต่ก็ยังคงมีปัญหาตรงที่เข้าห้องมีทติ้งรูม 1-2 ที่ศูนย์ฯสิริกิติ์ไม่ได้เพราะนายพยุงศักดิ์สั่งยกเลิกและล็อกห้องทั้งหมดทำให้การประชุมขลุกขลักแต่ที่สุดก็ได้เริ่มขึ้นด้วยการนั่งประชุมกันภายนอกที่เป็นบันไดทางขึ้นห้องเพราะจะต้องทำตามระเบียบคือประชุมที่ห้องซึ่งถูกกำหนดไว้ตามมติเดิมนั่นเองด้วยองค์ประชุมจากผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 182 เสียงซึ่งทางฟากนี้ยืนยันว่าเป็นกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ 348 เสียงจึงจัดประชุมได้
นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาฯส.อ.ท.นับเป็นแกนนำหลักในการทำหน้าที่ดูให้เป็นไปตามกฎหมายและหากพิจารณาจากเสียงผู้มาสนับสนุนแล้วต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่มาจากสายงานต่างจังหวัดซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ค่อนข้างมาก ขั้นตอนการโหวตไล่นายพยุงศักดิ์และคณะกรรมการบริหาร(กบ.)รวม 70 คนดำเนินมาถึงช่วงการพิจารณาวาระ 7 ซึ่งถือเป็นวาระอื่นๆ ที่มีการเสนอวาระถอดถอนกรรมการบริหารยกชุดและด้วยเสียง 139 เสียงก็โหวตกรรมการบริหารออกในที่สุดและทันทีก็ได้มีการโหวตเลือกประธานมาทำหน้าที่ซึ่งที่สุดก็มีการเสนอชื่อนายสันติ วิลาสศักดานนท์ และได้รับการโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์และเมื่อมีการปิดประชุมนายสันติก็ได้กล่าวแถลงกับสื่อมวลชนที่พร้อมจะมาทำหน้าที่ส.อ.ท.ในเวลาที่เหลือหรือถึงมี.ค. 57และหลังจากนี้จะต้องไปเตรียมตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่
อย่างไรก็ตามก่อนเลือกตั้งนายพยุงศักดิ์ได้ส่งนายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานส.อ.ท.ที่ดูแลด้านกฎหมายมาชี้แจงกับผู้สื่อข่าวระบุว่าการกระทำดังกล่าวขัดกฎหมายและมาตอกย้ำให้ดูหนักแน่นมากขึ้นในวันถัดมาคือ 27 พ.ย.ที่นายพยุงศักดิ์แจ้งแถลงข่าวด่วนเวลา 11.00 น. ซึ่งการแถลงครั้งนี้มีการนำผู้สนับสนุนราว 20 คนมาพร้อมเปิดตัวด้วย
และเป็นที่น่าสังเกตว่าครั้งนี้ผู้สนับสนุนล้วนเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ปตท. เครือซิเมนต์ไทย(SCG) เครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) กลุ่มยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ แต่กระนั้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรมก็ยังคงเก็บตัวเงียบแสดงความเป็นกลางอีกก็ไม่ใช่น้อย
ทั้งนี้ นายพยุงศักดิ์ยืนยันว่าการประชุมคณะกรรมการส.อ.ท. 26 พ.ย. นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและยืนยันจะยังทำหน้าที่ประธานจนครบสมัย พร้อมย้ำว่าคณะกรรมการไม่มีอำนาจปลดประธานและกรรมการบริหารเพราะ ไม่มีระเบียบระบุไว้ มีแต่แต่งตั้งและการจะปลดจะต้องมีการประชุมสมาชิกสามัญประจำปีด้วยการปลดกรรมการออกซึ่งก็จะพ้นจากประธานไปด้วยหรือใช้อำนาจของรมว.อุตสาหกรรมในฐานะรักษาการตามพ.ร.บ.ส.อ.ท.ปี 2530 เพื่อเสนอครม.เท่านั้น
“กรณีที่จะต้องเคลียร์กับสันติในฐานะที่ผมเองเคยได้รับการสนับสนุนจากเขามานั้น การสนับสนุนก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต การเคารพผู้อาวุโสเป็นเรื่องอยู่ในใจตลอด แต่คงไม่สามารถทำตามที่นายสันติบอกมาทุกเรื่อง โดยเฉพาะบางเรื่องที่ขอให้ทำและยืนยันว่าจะไม่ทำให้ตลอดชีวิต”นายพยุงศักดิ์อัดอดีตผู้สนับสนุนอย่างไม่ไว้หน้า
นอกจากนี้นายพยุงศักดิ์ยังได้ยอมรับว่าช่วงก่อนที่จะมาแถลงข่าวได้เข้าไปพบกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่รัฐสภาเพื่อรายงานให้ทราบถึงปัญหาความขัดแย้งและทุกฝ่ายต่างก็เห็นว่าควรจะดำเนินงานตามกฎหมายให้ถูกต้อง
ขณะที่ทางฟากของผู้สนับสนุนนายพยุงศักดิ์ก็ท้าชนพร้อมที่จะเปิดเวทีดีเบต โดยเอากฎหมายและระเบียบมาว่ากัน และประกาศชัดเจนว่าหากแพ้ก็พร้อมที่จะเปิดทางให้แต่ถ้าชนะนายพยุงศักดิ์ก็จะต้องหลีกทางเช่นกัน
“การประชุม 26 พ.ย.ที่มีการโหวตเลือกนายสันติ วิลาสศักดานนท์มาเป็นประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ เป็นไปตามกฎหมาย ทางฝ่ายของนายพยุงศักดิ์เข้าใจอะไรผิดหรือไม่ เพราะตัวประธานและคณะกรรมการบริหารนั้น เลือกโดยคณะกรรมการ ส.อ.ท. ดังนั้น คณะกรรมการ ส.อ.ท.จึงมีสิทธิที่จะโหวตออกโดยอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งของคณะกรรมกร ส.อ.ท.ที่มี 348 คน ส่วนกรณีที่ระบุว่า จะต้องใช้จำนวนสมาชิกสามัญเสียง 2 ใน 3 นั้น เป็นการเลือกกรรมการ”นายสมมาตรจวกนายพยุงศักดิ์อย่างไม่ไว้หน้าเช่นกัน
ฟากทางการเมืองนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะกำกับดูแลส.อ.ท.ก็ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่านายพยุงศักดิ์ได้หารือและขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูในเรื่องกฎหมาย ดังนั้นจึงจะตั้งขึ้นมาเพื่อเคลียร์ปัญหาดังกล่าวให้ เมื่อพิจารณาจุดนี้นายพยุงศักดิ์ชัดเจนว่ากำลังพึ่งพิงการเมืองเข้ามาสนับสนุนอย่างเปิดเผย
แต่เมื่อเช็กวงในอีกฝ่ายก็ใช่จะเฉยเมยกับประเด็นนี้เพราะที่สืบๆ มาก็วิ่งหาการเมืองซึ่งมีอำนาจไม่น้อยในรัฐบาลมาสนับสนุนกลุ่มตนเองให้ได้รับชัยชนะเช่นเดียวกัน
ส่วนทางด้านกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมก็ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับขั้นค่าแรง 300 บาทในอีก 70 จังหวัดไม่น้อย เพราะงานนี้เห็นชัดเจนถึงความหายนะที่รออยู่เบื้องหน้า โดย นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส.เห็นชอบขยายเวลาการใช้มาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ ใน 2 มาตรการ อีก 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ได้แก่
1.ขยายเวลาการลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จากปัจจุบันเก็บเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 5 ลดลงเหลือจัดเก็บฝ่ายละร้อยละ 4 ส่วนเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลยังส่งในอัตราเดิมร้อยละ 2.75 ทั้งนี้ จะทำให้เงินสมทบใน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร จะเก็บได้เพียง 20,000 ล้านบาท จากที่เคยเก็บได้ 60,000 ล้านบาท แต่ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการให้สิทธิประโยชน์ทั้ง 4 กรณี แก่ผู้ประกันตนแน่นอน
2.ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินที่สามารถปล่อยกู้ได้อยู่ 10,000 ล้านบาท แต่มีผู้ประกอบการยื่นกู้เพียง 794 ล้านบาท และที่ประชุมได้เห็นชอบปรับเพิ่มวงเงินกู้ โดยสถานประกอบการที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน จากเดิมกู้ได้ 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51-200 คน เดิมกู้ได้ 2 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4 ล้านบาท และสถานประกอบการที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน เดิมกู้ได้ 4 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8 ล้านบาท และที่ประชุมได้มอบให้ สปส.หารือกับธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่ง สปส.ฝากเงินกองทุนประกันสังคมไว้ ปรับขั้นตอนการกู้ให้สะดวกมากขึ้น
กระนั้นก็ดี กล่าวสำหรับศึกชิงเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. แม้ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ฝ่ายไหนจะชนะ จะแพ้ เพราะการเมืองอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ยังคงต้องเกาะติดใกล้ชิด แต่ที่แน่ๆ ระหว่างที่ยังเคลียร์กันไม่ลงนี้ ส.อ.ท. จึงต้องเป็นองค์กรที่แตกแยกถึงขั้นมีผู้นำเป็น 2 ฝ่ายไปก่อนซึ่งหากมันจะจบ ก็เชื่อว่าทุกคนคงจะเจ็บไปตามๆ กัน…….และมันก็จะเป็นบาดแผลที่ฝังลึก ส.อ.ท.ไปอีกยาวนาน