xs
xsm
sm
md
lg

“การเมือง-ปูนใหญ่” หนุน “พยุงศักดิ์” ยึดสภาอุตฯ วาง “ปราโมทย์” ทายาท-“ก๊วนสันติ” บ่มิไก๊!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฉเบื้องหลังปัญหาในสภาอุตสาหกรรมฯ ค่ายปูนใหญ่เดินเครื่องฮุบ หลังตำแหน่งในหอการค้าไทยหลุด กลับลำหันหนุน “พยุงศักดิ์” จากเดิมที่เคยลอยแพ วางคน SCG ในตำแหน่งสำคัญ คาด “ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล” นั่งเก้าอี้ต่อ คนในเผยค่าแรงขั้นต่ำเป็นฟางเส้นสุดท้าย ไม่แยแสเอสเอ็มอีปล่อยตามยถากรรม ชี้กลุ่มใหม่ไม่ต้องการเป็นศัตรูรัฐบาล

เรื่องวุ่นๆ ที่เกิดขึ้นในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีการเดินเกมชิงปลดพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาฯ คนปัจจุบัน หลังจากสมาชิกกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีไม่พอใจการปฏิบัติงานของตัวประธานที่ไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกอันเนื่องมาจากมาตรการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล

ดังนั้น การประชุมที่กำหนดไว้เดิมในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 คาดหมายกันว่าสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับประธานสภาฯ คนปัจจุบันจะใช้วันดังกล่าวเสนอปลดพยุงศักดิ์ แต่ประธานสภาฯ ได้ชิงจังหวะเลื่อนวันประชุมดังกล่าวออกไป ด้วยการอ้างถึงสถานการณ์การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม เมื่อ 24 พฤศจิกายน เกรงว่าจะเกิดความวุ่นวาย

แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยยังคงรวมตัวกันมาในวันที่ 26 ตามเดิม แม้ว่าจะไม่สามารถหาห้องประชุมได้ ต้องประชุมกันตรงขั้นบันไดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และดำเนินการปลดพยุงศักดิ์ พร้อมเสนอชื่อของสันติ วิลาสศักดานนท์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนก่อนกลับเข้ามาทำหน้าที่แทนพยุงศักดิ์

ถัดมา 27 พฤศจิกายน พยุงศักดิ์ เปิดปฏิบัติการทวงคืนด้วยการเข้าพบกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่รัฐสภา เพื่อรายงานเรื่องที่เกิดขึ้น และยืนยันว่ายังเป็นประธาน ส.อ.ท.ต่อไป ส่วนการประชุมของกลุ่มคัดค้านเมื่อ 26 พฤศจิกายนถือว่าไม่มีผล พร้อมทั้งท้าให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยไปร้องต่อศาลปกครอง

“ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าใครเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เพราะต่างฝ่ายต่างตีความเข้าข้างตัวเอง ข้อยุติเรื่องนี้คงต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา” แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว

ปูนใหญ่คุม ส.อ.ท.

ที่มาที่ไปของปัญหาในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เหตุใดตัวประธานจึงเปลี่ยนท่าทีไปยืนอยู่ข้างรัฐบาล แทนการปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิกที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

ทั้งนี้เป็นผลมาจากภายใน ส.อ.ท.กำลังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในครั้งใหญ่ จากเดิมที่เคยเป็นกลุ่มของสหพัฒน์ เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มธุรกิจเครือเอสซีจี ที่อำนาจในการควบคุมความได้เปรียบทางธุรกิจหายไปจากสภาหอการค้าไทย

“ยอมรับว่าครั้งนี้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ไม่ใช่แค่เรื่อง 300 บาทเท่านั้น แต่มีเรื่องของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เตรียมจะเข้ามากำหนดทิศทางในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นั่นคือเครือของเอสซีจี” แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมกล่าว

สูตรของปูนใหญ่มักจะเลือกผู้บริหารที่เกษียณหรือใกล้เกษียณอายุเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดต่างๆ ทั้งกิจการในเครือและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัท

เหตุหลุดหอการค้าไทย

แม้หลายคนอาจมองว่าคุณพยุงศักดิ์ เคยอยู่เครือปูนซิเมนต์ไทยมาก่อน แต่ครั้งนั้นเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเอสซีจี ในสมัยแรกในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ปี 2553 เขาได้ลาออกจากการเป็นพนักงานเครือเอสซีจี เนื่องจากในขณะนั้นกลุ่มเอสซีจีมีคุณดุสิต นนทะนาคร นั่งเป็นประธานหอการค้าไทยอยู่ก่อนแล้ว

กลุ่มปูนใหญ่ค่อนข้างระวังในเรื่องภาพลักษณ์มาก เพราะหากคนของปูนใหญ่คุมทั้ง 2 หน่วยงานนี้ อาจมีข้อครหาต่างๆ ตามมาได้

พยุงศักดิ์ จึงต้องลาออกจากปูนใหญ่ และมีสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาฯ คนก่อนให้การสนับสนุน ในช่วง 2 ปีแรกของการเข้ามาทำหน้าที่ ไม่มีปัญหาอะไรกับสมาชิก ทุกอย่างเดินไปตามกรอบระเบียบที่มีอยู่ แม้ว่าในช่วงปี 2554 จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพรรคเพื่อไทย

แต่หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมเป็นสมัยที่ 2 เริ่มปี 2555 สิ่งที่เคยทำหน้าที่เพื่อสมาชิกกลับเริ่มมีปัญหา พร้อมกับท่าทีของพยุงศักดิ์ที่มีต่อสันติ วิลาสศักดานนท์ เปลี่ยนไปจากเดิมจนเป็นที่ทราบกันว่า “ไม่จำเป็นต้องฟังสันติทุกเรื่อง”

เอสซีจีหนุน “พยุงศักดิ์” สมัย 2

“ใครที่อยู่วงนอกคงไม่ทราบว่าภายในมีปัญหาอะไร เพราะหลังจากที่คุณพยุงศักดิ์ ลาออกจากเครือเอสซีจี ก็มุ่งทำงานให้กับสภาอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่มีรายได้อื่น ซึ่งตำแหน่งใน ส.อ.ท. ไม่มีเงินเดือนให้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายหลายรายการจึงตกเป็นภาระของสภาฯ”

ช่วงแรกกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีตามต่างจังหวัด ก็หารถประจำตำแหน่งมาให้ท่านประธานใช้ ส่วนตัวของท่านประธานก็มีรายได้จากการเข้าไปเป็นบอร์ดต่างๆ แต่ภายหลังกลุ่มธุรกิจต่างจังหวัดได้ถอนความช่วยเหลือออกไป ประกอบกับไม่มีใครคาดคิดว่าคุณดุสิต นนทะนาคร จะมาเสียชีวิตลงกะทันหัน

เมื่อกลุ่มของเอสซีจีต้องหลุดออกจากประธานหอการค้าไทย โดยมี พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล เข้ามารับตำแหน่งแทน ดังนั้นจึงต้องการกลับเข้ามาที่สภาอุตสาหกรรมฯ อีกครั้ง ครั้งนี้ตรงกับสมัยที่ 2 ของคุณพยุงศักดิ์ ทางกลุ่มเอสซีจีกลับมาให้การสนับสนุน

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ต้องไม่ลืมว่าประธานสภาอุตสาหกรรมฯ นั้น จะดำรงตำแหน่งได้ติดต่อกันแค่ 2 สมัย แตกต่างจากหอการค้าไทย ดังนั้นในช่วงนี้จึงถือเป็นสมัยสุดท้ายของพยุงศักดิ์ แนวทางการทำงานจึงออกมาในลักษณะที่ไม่ได้ปกป้องสมาชิกมากนัก

“ปราโมทย์” ว่าที่ประธาน

ดังนั้น การปูทางเพื่อให้กลุ่มเอสซีจีกลับเข้าคุมสภาอุตสาหกรรมฯ จึงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการปรับเปลี่ยนทีมบริหารสภาฯ หลายตำแหน่ง ลดบทบาทคนที่ไม่เห็นด้วย วางคนของปูนใหญ่เข้ามาคุมในหลายพื้นที่
ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล
พยุงศักดิ์ได้แต่งตั้งตำแหน่งรองประธาน ส.อ.ท. มีคนของเอสซีจี 4 คนคือ ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ขจรเดช แสงสุพรรณ บริษัท กระเบื้องกระดาษไทย สมชาย หวังวัฒนาพาณิช บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน สมยศ ตั้งมีลาภ บริษัท สยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ และแต่งตั้งรองประธานเพิ่มคือ กิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา และบดินทร์ อัศวาณิชย์ จาก บริษัท กฎหมายเอสซีจี

พร้อมกับวางตัวคนที่จะเข้ามาเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ต่อจากพยุงศักดิ์ คือปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล ที่นั่งเป็นรองประธานในขณะนี้

ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 ที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสาหกรรมภาคเอกชนในการประสานนโยบายและดำเนินงานระหว่างเอกชนกับรัฐ ศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมและกิจการที่เกี่ยวข้อง ให้คำปรึกษาและเสนอข้อแนะนำแก่รัฐบาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมของประเทศ

ทั้งนี้ กิจการในเครือเอสซีจีถือว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ มีบริษัทในเครือมากมาย บางกิจการเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

เดินเกมคุมจุดยุทธศาสตร์

การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา ประธานฯ ได้สับเปลี่ยนคนเข้ามาทำหน้าที่สำคัญในสภาอุตสาหกรรมฯ หลายส่วนงาน

จุดสำคัญภายในสภาฯ คือฝ่ายทะเบียนที่จะเป็นการสกัดสมาชิกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของประธานฯ กลุ่มไอทีที่จะทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายสำนักงานที่เป็นตัวจักรสำคัญในการจัดประชุมแต่ละครั้ง เห็นได้จากการเลื่อนการประชุมเมื่อ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เรื่องนี้คนในสภาฯ ทราบดีว่าเรื่องใหญ่จริงๆ คือการขับเคลื่อนเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่ และมีเรื่อง 300 บาทเข้ามาผสม เรื่องแรกก็เข้าใจกันได้ แต่เรื่อง 300 บาทนั้นถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สมาชิกไม่เห็นด้วยกับประธานพยุงศักดิ์

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นไม่กระทบแน่ เนื่องจากการว่าจ้างส่วนใหญ่จะสูงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถระดมทุนดอกเบี้ยต่ำด้วยกรรมวิธีต่างๆ ได้หลากหลาย เพราะบริษัทเหล่านี้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ออกหุ้นกู้ดอกเบี้ยไม่สูงได้ หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็จะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่ากิจการขนาดเล็ก หรือจะเพิ่มทุนจดทะเบียนก็สามารถทำได้

แต่การดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ต้องดูแลสมาชิกรายอื่นๆ ที่เป็นรายเล็กด้วย พวกเขาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเงินได้เหมือนบริษัทใหญ่ หากตัวประธานฯ กลับมาให้ความเห็นใจและหาทางช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีเหล่านี้เรื่องก็คงไม่บานปลาย เพราะเรื่องซอฟต์โลนจากทางรัฐบาลก็ยังไม่มีความชัดเจน

ยิ่งการเข้าพบรัฐบาลแล้วไม่มีอะไรออกมา ยิ่งทำให้สมาชิกหลายคนมองว่า ตัวประธานฯ เลือกที่จะเดินตามรัฐบาลมากกว่าประโยชน์ของสมาชิก รวมไปถึงการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาประจำที่สภาฯ ก็เป็นตำรวจในสังกัดของนายกรัฐมนตรี

ภาพที่ปรากฏก็ชัดเจนว่าภาครัฐสนับสนุนการทำงานของพยุงศักดิ์ ที่ไม่ได้ขวางเรื่อง 300 บาทของรัฐบาล ขณะที่กลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาในสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ไม่ต้องการทำตัวเป็นปัญหากับรัฐบาล ภาระหนักจึงตกมาอยู่ที่สมาชิกธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ต้องหาทางแก้ปัญหากันเอง ประโยชน์ส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่

ปม 300 บาทเอาใจรัฐบาล

การเปลี่ยนท่าทีของประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เห็นได้จากหลังจากที่เริ่มเกิดความขัดแย้งกันในสภาอุตสาหกรรมฯ ทางกลุ่มพยุงศักดิ์เลือกที่จะหันหน้าไปพึ่งนักการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ประธานฯ คนนี้ ก็ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้า โดยที่ไม่มีการเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือสมาชิกอันเนื่องมาจากมาตรการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

จึงไม่แปลกที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าประธานสภาฯ ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อสมาชิก แต่เลือกที่จะเดินหน้าตามนโยบายของนักการเมืองเป็นหลัก ไม่มีการต่อรองหรือขอให้รัฐบาลช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ผลกระทบจากนโยบายค่าแรง 300 บาทนั้น ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สภาอุตสาหกรรมฯ คงทำไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ในฐานะของประธานสภาฯ ต้องต่อรองหรือชี้แจงให้รัฐบาลเห็นผลกระทบที่จะตามมา รวมถึงแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อนจากนโยบายดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้เจ้าของกิจการขาดทุนจนเลิกกิจการ แล้วปัญหาการว่างงานก็จะตามมา

กำลังโหลดความคิดเห็น