xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ส.อ.ท.” แตก ขึ้นค่าแรง 300 บ. ลุ้น 26 พ.ย.โหวต “พยุงศักดิ์” พ้นประธาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นโยบายประชานิยมของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ว่าด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่นำร่องไปแล้ว 7 จังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ก็สั่งลุยเดินหน้าขึ้นที่เหลืออีก 70 จังหวัดมีผลวันที่ 1 มกราคม 2556 ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลับมาสร้างความร้อนแรงให้กับความขัดแย้งใน “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)” มากขึ้น

วังวนความแตกแยกที่ครอบงำส.อ.ท.กลับมาอีกครั้งหลังจากเมื่อปี 2553 การขัดแย้งเกิดขึ้นในศึกเลือกตั้งประธานส.อ.ท.คนใหม่ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล กับนายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ซึ่งการแข่งขันดุเดือดถึงขั้นฟ้องศาลให้เลื่อนเลือกตั้งเล่นเอาภาพลักษณ์ของ ส.อ.ท. ช่วงนั้นกลายเป็นเวทีการเมือง แต่ที่สุดนายพยุงศักดิ์ก็ได้รับชัยชนะขาดลอย

นายพยุงศักดิ์ได้เป็นประธานสมัยที่ 2 อีกครั้ง

แต่เก้าอี้นี้ดูจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหลังเค้าลางปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อสมาชิก ส.อ.ท.ในส่วนสายงานต่างจังหวัดที่มีสมาชิกวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)จำนวนมากคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศของรัฐบาล และพยายามที่จะให้นายพยุงศักดิ์ผลักดันการต่อรองรัฐบาลเพื่อขอชะลอการขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศโดยเฉพาะใน 70 จังหวัดที่เหลือซึ่งจะมีผล 1 มกราคม 56

สมาชิก ส.อ.ท. เริ่มมีการผลักดันแนวทางดังกล่าวผ่านสื่อ แม้กระทั่งการเสนอตรงรัฐบาลและการผลักดันสู่การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) แต่จุดที่ทำให้ความแตกหักเริ่มขึ้นเมื่อการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ที่เกาะสมุย วันที่ 21 ตุลาคม 2555 วาระที่จะเสนอน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางการชะลอการปรับขึ้นค่าแรงและมาตรการช่วยเหลือกลับถูกดึงออก

ปัญหาดังกล่าวทำให้สมาชิกไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายพยุงศักดิ์ อย่างหนักถึงขั้นเริ่มออกมาให้ข่าวในเชิงลบและกล่าวตำหนินายพยุงศักดิ์อย่างรุนแรงว่าตอบสนองนโยบายการเมืองจนลืมหน้าที่ และเริ่มนำปัญหาดังกล่าวย้อนกลับเข้าหารือในการประชุม กกร.อีกครั้ง ซึ่ง นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกกร.ได้ส่งหนังสือด่วน 12 พฤศจิกายนให้กับนายกฯ โดยตรงเมื่อครั้นเดินทางร่วมไปโรดโชว์ที่อังกฤษเพื่อขอให้นายกฯ ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง กกร.และรัฐบาลขึ้นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้พร้อมกับขอให้เลื่อนการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศเข้าสู่ครม.ออกไปก่อน 1 เดือน

ความแตกแยกของ ส.อ.ท. ดูจะร้าวหนักขึ้นเมื่อนายพยุงศักดิ์ได้ทำหนังสือเวียนไปยังสมาชิกทั่วประเทศผ่านทางอีเมล์มีเนื้อหาใจความเริ่มต้นที่ระบุถึงผู้ไม่หวังดีใช้กลุ่มผู้ที่เดือดร้อนจากการปรับขึ้นค่าแรงมาหาผลประโยชน์ส่วนตัวซึ่งทำให้อีกฝ่ายต้องทำหนังสือตอบโต้ และผู้ที่เคยสนับสนุนนายพยุงศักดิ์ขึ้นเป็นประธานอย่าง “นายสันติ วิลาสศักดานนท์” บิ๊กในเครือสหพัฒน์ก็ถึงขั้นให้สัมภาษณ์ผ่านสื่ออย่างตรงไปตรงมาในลักษณะที่ผิดหวังและจากนี้ไปคงจะหาประธานคนใหม่มาทำหน้าที่

การบอยคอตไม่ร่วมงานกับนายพยุงศักดิ์โดยเฉพาะในสายงานต่างจังหวัดเริ่มเห็นชัดขึ้นเมื่อนายพยุงศักดิ์ได้เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอ แนวทางให้ความช่วยเหลือผุ้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนเพื่อนำมาผนวกกับมาตรการเยียวยาของ กกร.ในการเสนอรัฐบาลต่อไป

โดยในวันเดียวกันนั้นเองก็มีการประชุมคณะกรรมการบริหารส.อ.ท.ที่ประกอบด้วยสมาชิก 70 คนโดยระหว่างนั้นต่างฝ่ายก็ออกมาให้ข่าวผ่านสื่อและดูจะกลายเป็นความขัดแย้งหนักขึ้นโดย นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการส.อ.ท. ยืนยันหนักแน่นว่าไม่สามารถจะทำงานร่วมกับนายพยุงศักดิ์ ได้อีกต่อไป ดังนั้นวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้การประชุมคณะกรรมการส.อ.ท.ที่มีสมาชิก 348 เสียงจะมีการลงมติเพื่อโหวตให้นายพยุงศักดิ์ออกจากประธาน และคณะกรรมการบริหาร 70 คนหากเสียงเกินกึ่งหนึ่งส่วนประธานคนใหม่สามารถเลือกจากกรรมการ ส.อ.ท.ใน 348 คนมาได้ซึ่งมีคนที่พร้อมจำนวนมาก

ฟากของผู้สนับสนุนนายพยุงศักดิ์ได้ส่งตัวแทนอย่าง น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสายงานอุตสาหกรรมออกมาตอบโต้โดยระบุว่าไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับในการปลดนายพยุงศักดิ์และเหตุผลของการขึ้นค่าแรงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ว่าประธานคนใดมาเป็นก็ไปยกเลิกนโยบายรัฐบาลไม่ได้และย้ำว่า เป็นสิ่งไร้สาระและมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนนายพยุงศักดิ์

งานนี้คงจะต้องจับตาลุ้นกันวันที่ 26 พ.ย.นี้ว่าที่สุดแล้ว ส.อ.ท. จะเดินไปในทิศทางใดแน่ซึ่งไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะแต่ภาพของ ส.อ.ท. ที่ออกไปก็แพ้ตั้งแต่แรกแล้ว แทนที่จะเอาเวลาไปไล่บี้กับคนที่เอาเงินจากตัวเองไปหาเสียงซึ่งก็คือรัฐบาล กลับมาทะเลาะกันเอง อนาคตคงเตรียมทำใจไว้เลยการเมืองคงได้ใจประกาศนโยบายเพิ่มค่าแรงไม่รู้จบเป็นแน่

สำหรับการประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วไทยนี้ จะทำให้แรงงานต่าง ๆ คาดกันว่าจะทำให้นายจ้างบางส่วนมีการบอกเลิกจ้างงานก่อนสิ้นปีนี้ เพราะจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับแรงงานในอัตราเดิมที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย นอกจากนี้มีก็มีผู้ประกอบการได้เตรียมแผนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา เนื่องจากยังมีค่าแรงงานที่ถูกกว่าไทย และบางส่วนก็ย้ายฐานการผลิตเข้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพราะจะได้ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการขนส่ง ซึ่งคาดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ

ทั้งนี้ ต้องจับตามองต่อไปว่าปัญหาค่าครองชีพจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน ทั้งราคาสินค้า อุปโภค บริโภค เนื่องการต้นทุนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่มาตรการปรับค่าแรงขึ้น 300 บาทในช่วงต้นประกาศใช้เพียง 7 จังหวัด แต่เมื่อประกาศใช้สินค้าอุปโภค บริโภคก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปรออยู่แล้ว โดยที่รัฐบาลเองไม่สามารถควบคุมอะไรได้ นอกจากมีมาตรการขายสินค้าราคาถูกในโครงการธงฟ้าราคาประหยัดของกระทรวงพาณิชย์แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

แต่ในระยะยาวแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน กระทรวงพาณิชย์จะต้องมีมาตรการรองรับ อย่าอ้างเพียงมีมาตรการจัดขายของถูก และโครงการธงฟ้าราคาประหยัด ร่วมกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เพราะได้พิสูจน์มาแล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาสินค้าราคาอุปโภค บริโภคแพงได้ในช่วงที่ผ่านมา
สันติ วิลาสศักดานนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น