xs
xsm
sm
md
lg

บี้รัฐเยียวยาขึ้นค่าแรง โหวตปลด”พยุงศักดิ์”26นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ไฟเขียวดีเดย์ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศเริ่ม 1 ม.ค.56 รัฐออก 6 มาตรการใหญ่เยียวยาเอกชน ขณะที่เอกชนหมดหวังหลังครม.ขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ จี้รัฐเร่งออกมาตรการ ส.อ.ท.เปิดหน้าโต้กันแหลกฝ่ายไล่”พยุงศักดิ์”ยันหมดเวลาไกล่เกลี่ยเตรียมโหวต 26 พ.ย.นี้แน่ ส่วน"กิติรัตน์" ฟุ้งปรับค่าแรง 300 บาทจะช่วยปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของการประกาศขึ้นราคาค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.56 เป็นต้นไป ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ภายหลังมีการปรับไปแล้วใน 7 จังหวัดนำร่อง เมื่อเดือน เม.ย.55 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยกล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ พร้อมกันนี้ยังมอบให้คณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้กับภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเภทมาตรการใหญ่ สามารถแยกออกเป็น 27 มาตรการย่อย อาทิ 1. มาตรการลดภาระต้นทุนจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เช่น การลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง การจัดตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น 2. มาตรการยกระดับผลิตภาพแรงงาน อาทิ การนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 มาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

3. มาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง อาทิ สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่มผลผลิตแรงงาน สินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต เป็นต้น 4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเอสเอ็มอี อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เป็นต้น

5. มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ เช่น การปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ การหาตลาด/เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น และ 6. มาตรการช่วยลดค่าครองชีพให้ลูกจ้างและประชาชนทั่วไป เช่น การออกบัตรลดราคาสินค้าให้ลูกจ้าง การลดภาระหนี้สินนอกระบบ และการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

***อัดรัฐต้องมีมาตรการเยียวยาเอกชน

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า มติครม.วันที่ 20 พ.ย.ได้เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศมีผล 1 ม.ค. 56 แล้วขณะที่มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบกลับยังไม่มีเอกชนคงต้องยอมรับแต่ก็ยังหวังว่าจะมีทางออกที่จะหารือร่วมกับภาครัฐบาลอีกครั้ง แต่ส่วนการทำงานร่วมกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท.คงจะเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นวันที่ 26 พ.ย.การประชุมคณะกรรมการส.อ.ท.ยังยืนยันที่จะกดดันที่จะเลือกประธานส.อ.ท.คนใหม่ทำหน้าที่แทน

“วันนี้ครม.เห็นชอบมันเลยจุดที่จะมาไกล่เกลี่ยแล้ว ผมยืนยันว่ากรรมการส.อ.ท. 348 คนมีอำนาจที่จะปลดประธานและคณะกรรมการบริหาร 70 คนหากเสียงเกินกึ่งหนึ่งส่วนประธานคนใหม่สามารถเลือกจากกรรมการส.อ.ท.ใน 348 คนมาได้ซึ่งมีคนที่พร้อมจำนวนมากส่วนจะเป็นใครขอให้เป็นวันนั้นก่อนและถ้าถึงตอนนั้นโหวตแพ้ก็ต้องยอมรับกัน”นายสมมาตกล่าว

ทั้งนี้คงต้องหาโอกาสที่จะหารือกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องมาตรการเยียวยาเพราะสิ่งที่เป็นห่วงคือเอสเอ็มอีที่เฉลี่ยมีกำไรไม่เกิน 5% ของยอดขายแต่ค่าแรงที่ขึ้นมามากกว่ากำไรที่เอสเอ็มอีได้รับโอกาสจะทำให้ปิดกิจการจะมีมาก และอีกส่วนหนึ่งก็จะผลักภาระไปยังราคาสินค้าที่สุดประชาชนจะเดือดร้อน

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ ไม่พิจารณาตามข้อเสนอของเอกชน หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2556 รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เชื่อว่าเอสเอ็มอีจะเกิดปัญหาหนี้เสียส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งระบบ

น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสายงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้หารือกับกลุ่มอุตฯส.อ.ท.ที่มาหารือ 39 กลุ่มจาก 42 กลุ่มเกี่ยวกับประเด็นขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศซึ่งเห็นว่าคงจะไปเปลี่ยนนโยบายภาครัฐได้ยากแต่ต้องการให้รัฐบาลหันมาสนใจมาตรการเยียวยาที่จะลดผลกระทบเพราะ 27มาตรการที่รัฐเสนอมานั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติหรือช่วยลดผลกระทบได้น้อยมากจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนซึ่งจำเป็นต้องหารือร่วมกันกับภาครัฐ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงาน 300 บาททั่วประเทศ ว่า ที่ประชุมได้สรุปข้อเสนอต่อรัฐบาลนอกเหนือจากข้อเสนอที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ในการเยียวยาผลกระทบเช่นขอให้จัดตั้งกองทุนการจ่ายชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ มาตรการลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม7%ให้กับเอสเอ็มอีทันที 3 ปี และลดภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน 50% เป็นเวลา3ปีเป็นต้น

***'โต้ง'มั่นใจ300ปรับสมดุลศก.

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจปี 56 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ว่า การปรับค่าแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศ อีก 70 จังหวัด เป็นการปรับค่าแรงเพิ่มประมาณ 70-80 บาทต่อวัน ซึ่งจะหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 พ.ย.นี้ เป็นการปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ

นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจใจปี 56 คาดการว่าจะเติบโต 5.2% โดยเฉลี่ยหลายหน่วยงานแล้วคาดว่าเติบโตประมาณ 5% อัตราเงินเฟ้อประมาณ 3.3% เพราะสหรัฐเร่งหาขุดเจาะน้ำมันเพิ่มได้ประมาณ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงคาดว่าราคาน้ำมันดิบอยู่ประมาณ 100-105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จึงไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในปีหน้ามากนัก โดยปัจจัยหลักมองงว่าการลงทุนภาครัฐทั้งแผนป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงการลงทุนจาก พ.ร.บ.เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท หากลงทุนได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้น 0.4-0.5%

นายธีรวุฒิ ศรีพินิจ นักวิชาการคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนี้สาธารณะของประเทศระดับ 42-43% ของจีดีพี ยังไม่รวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และหนี้ภาคเอกชน หากนับรวมจะมากว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า แต่ภาระดังกล่าวจะไม่น่ากลัวจนกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนกับปี 40 ซี่งไทยมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น