xs
xsm
sm
md
lg

ประธานอุตฯ 70 จังหวัดทั่วประเทศนัดบุกทำเนียบฯ วันนี้ ค้านขึ้นค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานอุตสาหกรรม 70 จังหวัดทั่วประเทศนัดบุกทำเนียบฯ วันนี้ หวั่นรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เดินหน้าขึ้นค่าแรง 300 บาทต้นปีหน้า พร้อมโวย “พยุงศักดิ์” ไม่ฟังเสียงภาคเอกชน

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมจังหวัดว่า ในวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 70 จังหวัดได้นัดรวมตัวเพื่อเตรียมยื่นหนังสือและขอเข้าพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในวันที่ 1 มกรคม 2556 เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายดังกล่าว และไม่ได้เห็นด้วยกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าเอกชนไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง และได้ขอถอนเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้นำวาระดังกล่าวออกไปหารือนอกรอบ ทำให้วาระไม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

“คาดว่ากระทรวงแรงงานจะเสนอวาระการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 ตุลาคมเพื่อเห็นชอบ ดังนั้นภาคเอกชนต้องขอชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อทบทวนเรื่องนี้ ทั้งนี้ หากนายพยุงศักดิ์ไม่เห็นด้วยอีกต้องถามนายพยุงศักดิ์ว่าจะยังเป็นผู้นำของภาคเอกชนต่อไปได้หรือไม่” นายทวีกิจกล่าว

นายทวีกิจกล่าวว่า ทั้งนี้ ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 70 จังหวัดต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบความเดือดร้อนด้วยตนเอง และหามาตรการช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยา เช่นเดียวกับนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร เช่น นโยบายรับจำนำข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา เพราะภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญไม่ต่างจากภาคเกษตร ดังนั้นอาจออกมาตรการช่วยในระยะแรก เช่น จ่ายค่าแรงส่วนต่างให้แก่ภาคเอกชนเพื่อลดผลกระทบโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีสัดส่วนถึง 90% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ เพราะยังไม่มีความพร้อมที่จะปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งปัจจุบันแม้เปิดกิจการอยู่เพราะพยายามประคองกิจการในลักษณะหลังชนฝา

แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท.กล่าวว่า ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดต่างไม่พอใจอย่างมากที่นายพยุงศักดิ์ไม่เสนอให้ที่ประชุม กรอ.ทบทวนการขึ้นค่าแรง 300 บาท เพราะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทราบว่ามีการดึงวาระนี้ออกก่อนการประชุมเพียง 2 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ อ้างว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน และเป็นนโยบายสำคัญจำเป็นต้องมีการหารือรายละเอียดนอกรอบ โดย สศช.ได้สอบถามความเห็นมาที่นายพยุงศักด์ ซึ่งนายพยุงศักดิ์ก็เห็นด้วย แต่ความเห็นดังกล่าวไม่ได้เป็นความเห็นของสมาชิกส่วนใหญ่ จึงไม่เข้าใจว่านายพยุงศักดิ์เป็นตัวแทนของภาคเอกชน หรือตัวแทนของรัฐบาล

สำหรับข้อเสนอที่เตรียมจะเสนอต่อนายกรัฐมนนตรี ประกอบด้วย 1. ต้องการให้รัฐบาลคงอัตรค่าจ้างขั้นต่ำไว้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เพราะกระทบต่อความสามารถของผู้ประกอบการในภูมิภาคโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และหากเศรษฐกิจมีความผันผวนรุนแรงจนกระทบต่อค่าครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนได้ตามความเหมาะสม 2. ต้องการให้มติการขึ้นค่าจ้างปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง 3. ลูกจ้างต้องจบการศึกษาขั้นต่ำประถมศึกษาปีที่ 4 มีใบประกาศหรือเอกสารยืนยันรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ 4. หลังวันที่ 31 ธันวาคม2555 ให้ยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำและปล่อยลอยตัวตามกลไกตลาด 5. รัฐบาลต้องมีโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น