xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนทำใจรับสภาพขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่ว ปท. 1 ม.ค. 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.ไปไม่รอด หมดโอกาสเสนอชะลอขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ 70 จังหวัดที่เหลือ 1 ม.ค. 56 ต่อนายกฯ ในเวที กรอ.ที่สมุย หลังคนใน ส.อ.ท.แตกกันเอง แถม สศช.ให้ไปหารือส่วนตัวในเวทีอื่น จับตาปี 2556 ค่าแรงส่อดันราคาสินค้าขยับ เอสเอ็มอีไตรมาส 2 ส่อปิดกิจการพุ่ง

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่เกาะสมุยเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ไม่สามารถเสนอนายกฯ ให้ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่เหลือ 70 จังหวัดที่จะมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 56 ได้ เนื่องจากตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ขอให้ไปหารือกับนายกฯ ในเวทีอื่นแยกออกไป

“เวที กรอ.จะมีวาระข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ หากให้ไปหารือในเวทีอื่นก็คงจะจบเพราะก็คงได้แค่ยื่นเรื่องเสนอนายกฯ หลังจากนั้นนายกฯ คงให้กระทรวงแรงงานไปดูแล ซึ่งแน่นอนว่ากระทรวงแรงงานก็ประกาศชัดเจนว่าจะเดินหน้าขึ้นค่าแรงต่อไปอยู่แล้ว ซึ่ง ส.อ.ท.ก็ได้ทำดีที่สุดแล้ว ผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จากนี้ไปก็คงต้องทำใจดูแลตัวเอง” นายสมมาตกล่าว

สำหรับปี 2556 ในไตรมาส 2 เชื่อว่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นจากทั้งเศรษฐกิจโลกยังถดถอยและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากทั้งค่าแรงงานและวัตถุดิบอื่นๆ เชื่อว่าจะเห็นเอสเอ็มอีทยอยปิดกิจการมากขึ้น ขณะที่มาตรการรัฐบาลที่ระบุว่าจะดูแลผลกระทบให้แก่เอสเอ็มอีในขณะนี้ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องติดตามคือการที่ค่าแรงสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาที่ราคาสินค้าจะขยับตัวตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และท้ายสุดประชาชนก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ มากนักจากค่าแรงที่ปรับเพราะค่าครองชีพกลับสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนประชุม กรอ.ได้หารือในเวทีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร.เพื่อกลั่นกรองก่อน ซึ่งมีตัวแทนจาก สศช.เข้าหารือ ซึ่งระบุว่าขอให้ไปนำเสนอส่วนตัวกับนายกฯ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหารือกันนอกรอบ ขณะเดียวกัน ทาง ส.อ.ท.เองก็มีความเห็นที่ต่างกัน เพราะระดับหัวเรือใหญ่ใน ส.อ.ท.ล้วนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงแต่อย่างใดจึงทำให้ไม่มีการผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น