การประกาศยกเลิกและยุติการชุมนุมอย่างกะทันหันของ เสธ.อ้าย เนื่องจากมวลชนถูกสกัดกั้นจากตำรวจอย่างหนักหน่วงมาร่วมชุมนุมได้ไม่ถึง 1 ล้านคนตามเป้า ประกอบกับเกรงภยันตรายจะเกิดขึ้นต่อผู้ร่วมชุมนุมในยามกลางคืน เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงจ้องจะป่วน และยากจะควบคุมดูแล
คนไทยที่คาดหวังเอาไว้มากต่อการนำมวลชนของเสธ.อ้าย คงจะรู้สึกช็อกและผิดหวังไปตามๆ กัน แต่ผู้เขียนเอง แม้จะเทใจเชียร์เสธ.อ้ายอย่างสุดกำลังมาแต่ต้น เพราะมองไม่เห็นหนทางอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศในห้วงเวลานี้ กลับรู้สึกไม่ผิดคาดสักเท่าใดนัก เพราะมองเห็นช่องว่างช่องโหว่ของม็อบเสธ.อ้ายมาตั้งแต่ต้นว่า การประกาศชุมนุมแบบตรงไปตรงมา โดยไม่มียุทธวิธี แผนรุกแผนรอง รองรับ และการเคลื่อนไหวอย่างด้อยประสบการณ์ที่เห็นที่เป็นอยู่ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลที่มีกองกำลังตำรวจเสื้อแดงและทหารแตงโมรวมทั้งนักเคลื่อนไหวคนเสื้อแดงจำนวนมาก สามารถตั้งรับ และสร้างเกมรุกม็อบเสธ.อ้ายได้อย่างสบายมือ
การยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นรบครั้งนี้ ทำให้เสธ.อ้ายและองค์การพิทักษ์สยามสูญสิ้นการนำ และคงไม่อาจประกาศการชุมนุมแบบเป็นแกนนำได้อีกต่อไป เพราะคงไม่มีใครที่จะยอมเสี่ยงร่วมกับการนำแบบหละหลวมไร้รูปแบบเช่นนี้อีกต่อไป องค์การพิทักษ์สยามและมวลชนหลากสีต่างๆ ที่แยกตัวกระจัดกระจายไปจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คงจะต้องยอมกลืนเลือดรอการนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ที่กำลังเดินหน้าสัญจรให้ข้อมูลความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่องเอาจริงเอาจัง โดยยึดหลักการปฏิรูปประเทศไทยอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ดังแถลงการณ์ ฉบับที่ 3/2555 เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย และกำหนดการเคลื่อนไหวต่อไป” ซึ่งได้กำหนดหลักการปกครองประเทศ 15 ข้อ ดังนี้ . -
1. หลักการปกครองประเทศต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ : องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
2. หลักการปกครองประเทศต่อความมั่นคงแห่งรัฐ : กองทัพมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตยและบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ ความมั่นคงของรัฐ และผลประโยชน์แห่งชาติ ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย : อำนาจการปกครองเป็นของประชาชนและเพื่อประโยชน์ของประชาชนในทุกวันเวลา ไม่ใช่เฉพาะวันหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้แทนประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงมีอำนาจในการตัดสินใจ มีอำนาจในการตรวจสอบ และมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลของรัฐ
4. หลักการถ่วงดุลและตรวจสอบ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่ออำนาจอธิปไตยที่ต้องสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้จริง โดยให้มีที่มาจากเบ้าหลอมที่แตกต่างกัน และผู้แทนของประชาชนมีความหลากหลายทั้งในมิติทางพื้นที่ มิติทางวิชาชีพ และมิติทางสังคม
5. หลักการปกครองประเทศต่อระบบพรรคการเมือง : ขจัดเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์ที่เข้ามาครอบงำประเทศในทุกรูปแบบ และผู้แทนประชาชนไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง
6. หลักการปกครองประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง : การทุจริตต้องไม่มีอายุความ ผู้เสียหายคือประชาชนที่ฟ้องร้องได้ในทุกคดี และการทุจริตให้มีบทลงโทษสถานหนักสูงสุดคือประหารชีวิต
7. หลักการปกครองประเทศเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม : ประชาชนสามารถเข้าถึงและพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง ปฏิรูปอัยการให้ปลอดจากอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ปฏิรูปตำรวจให้ขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลและกระบวนการยุติธรรมต้องถูกตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
8. หลักการปกครองส่วนท้องถิ่น : กระจายการบริหาร กระจายระบบข้าราชการ กระจายการจัดการและรับผิดชอบประเทศ กระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นโดยตรงอย่างเป็นรูปธรรมโดยปราศจากการสกัดกั้นหรือครอบงำจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือจากรัฐบาลส่วนกลาง
9. หลักการอยู่ร่วมกันของคนในชาติ : ประชาชนในประเทศอยู่ด้วยกันอย่างมีภราดรภาพ มีความเป็นพี่น้องกัน มีความเท่าเทียมกันทั้งในศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์
10. หลักการระบบเศรษฐกิจ : ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศ
11. หลักการปกครองในโอกาสของระบบเศรษฐกิจ : ให้ประชาชนทุกระดับและทุกท้องถิ่นต้องมีโอกาสและที่ยืนในระบบเศรษฐกิจตามความสามารถและศักยภาพของตนเอง
12. หลักการปกครองเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรของประเทศ : ผู้ที่ได้ใช้ทรัพยากรมากทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมมาก จำเป็นต้องจ่ายภาษีคืนกลับประเทศมากกว่าผู้ที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าหรือทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมน้อยกว่า
13. หลักการปกครองประเทศในทรัพยากรธรรมชาติ : ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นสมบัติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต้องมีไว้เพื่อประโยชน์กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างคุ้มค่าสูงสุด และสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับประเทศอย่างโปร่งใส ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่คน
14. หลักการปกครองประเทศในด้านการศึกษา : ปฏิรูปการศึกษาให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษานักเรียนให้ได้สูงสุดตามศักยภาพของเด็กโดยให้ควบคู่ไปกับคุณธรรม และรัฐมีหน้าที่สร้างมาตรฐานกลางและวัดผลมาตรฐานของทุกโรงเรียนในประเทศ
15. หลักการปกครองประเทศในด้านสื่อสารมวลชน : ดำเนินการขจัดความเท็จออกจากสังคม สร้างความจริงให้เกิดขึ้น สร้างพื้นที่และสนับสนุนทั้งนโยบายและงบประมาณให้กับสื่อมวลชนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอย่างแท้จริง
ภายใต้หลักปกครองประเทศทั้ง 15 ประการดังกล่าว แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกำหนดให้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง โดยให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแต่ละจังหวัดจัดการประชุม เสวนา และประชาพิจารณ์และระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมในหลักปกครองประเทศ และให้หาทิศทางกำหนดหลักปกครองประจำจังหวัด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนของจังหวัดตนเองต่อไป
นับแต่นี้ต่อไป มวลชนคนไทยที่รักชาติรักแผ่นดินทุกคน จึงมีหน้าที่ร่วมแสวงหาข้อมูลความรู้ทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ตื่นรู้ และรอคอยเวลาสุกงอมของสถานการณ์ทางการเมือง ที่พร้อมจะใช้พลังการเมืองภาคประชาชนเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย โดยรอฟังเสียงนกหวีดจากแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นองค์กรหลักภาคประชาชนที่เหลืออยู่ในการนำมวลชนอย่างมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี อย่างเป็นรูปธรรมเพียงองค์กรเดียว
และขอเพียงมวลชนคนไทยที่ยังเป็นกลุ่มพลังเงียบอย่านิ่งดูดาย ออกกันมาพร้อมเพรียงเมื่อใด ประเทศไทยสามารถปฏิรูปไปสู่การปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงได้แน่นอน