xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ทำอะไรอยู่

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมเห็นด้วยกับถ้อยแถลงครั้งล่าสุดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่แม้จะให้กำลังใจต่อการเคลื่อนไหวขององค์กรพิทักษ์สยาม ที่จะจัดชุมนุมในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ แต่พันธมิตรฯ ก็เลือกที่จะถอยออกมาก้าวหนึ่ง

แน่ละด้านหนึ่งอาจเป็นพันธกิจที่นัดหมายกับพี่น้องพันธมิตรฯ ไว้แล้วในวันเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ด้านหนึ่งผมคิดว่า พันธมิตรฯ มีบทเรียนที่มากพอแล้วในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ที่จะกำหนดการเคลื่อนไหวแต่ละก้าวอย่างระมัดระวัง

ดังเช่นบทสรุปและจุดยืนพันธมิตรฯ ที่ประกาศว่านับจากนี้ไปจะไม่เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจของใครอีก เพราะชัดเจนแล้วว่า ไม่ว่า รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือรัฐบาลอีกขั้วอำนาจ และรวมถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ล้วนแล้วแต่สะท้อนความล้มเหลวของการเมืองไทยไม่แตกต่างกัน

ถอยออกมายืนดูเพื่อให้มั่นใจว่า การลุกขึ้นสู้ของพี่น้องประชาชนนับจากนี้จะเป็นเครื่องมือการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของใครอีกต่อไป

และมุ่งมั่นกับพันธกิจที่เคยประกาศไว้แล้วว่า เป้าหมายของพันธมิตรฯ นับจากนี้ก็คือการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่

เราลองไปทบทวนหลักปกครองประเทศ 15 ข้อของพันธมิตรฯ ที่วันนี้พันธมิตรฯ ได้เริ่มลงมือทำภารกิจนั้นแล้ว

วันที่ 26 พ.ค. ที่สวนลุมพินี พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2555 เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย และกำหนดการเคลื่อนไหวต่อไป” โดยมีเนื้อหาระบุว่า

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ดำเนินการเดินสายให้องค์ความรู้และข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้เกิดความตื่นรู้ในการรวมพลังปฏิรูปประเทศไทย ตลอดจนได้ประชุมตลอดจนระดมความคิดเห็นนักวิชาการ นักธุรกิจ และประชาชน เพื่อนำมาสู่ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงกำหนดให้ประกาศ “ร่างหลักการปกครองประเทศไทย” เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ในแนวทางของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และให้นำร่างหลักการปกครองประเทศดังกล่าวไประดมความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์ และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ต่อไปดังนี้

ร่างหลักการปกครองประเทศ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน”

1. หลักการปกครองประเทศต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ : องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

2. หลักการปกครองประเทศต่อความมั่นคงแห่งรัฐ : กองทัพมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตยและบูรณภาพ แห่งเขตอำนาจรัฐ ความมั่นคงของรัฐ และผลประโยชน์แห่งชาติ ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

3. หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย : อำนาจการปกครองเป็นของประชาชนและเพื่อประโยชน์ของประชาชนในทุกวันเวลา ไม่ใช่เฉพาะวันหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้แทนประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงมีอำนาจในการตัดสินใจ มีอำนาจในการตรวจสอบ และมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลของรัฐ

4. หลักการถ่วงดุลและตรวจสอบ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่ออำนาจอธิปไตยที่ต้องสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้จริง โดยให้มีที่มาจากเบ้าหลอมที่แตกต่างกัน และผู้แทนของประชาชนมีความหลากหลายทั้งในมิติทางพื้นที่ มิติทางวิชาชีพ และมิติทางสังคม

5. หลักการปกครองประเทศต่อระบบพรรคการเมือง : ขจัดเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์ที่เข้ามาครอบงำประเทศในทุกรูปแบบ และผู้แทนประชาชนไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง

6. หลักการปกครองประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง : การทุจริตต้องไม่มีอายุความ ผู้เสียหายคือประชาชนที่ฟ้องร้องได้ในทุกคดี และการทุจริตให้มีบทลงโทษสถานหนักสูงสุดคือประหารชีวิต

7. หลักการปกครองประเทศเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม : ประชาชนสามารถเข้าถึงและพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง ปฏิรูปอัยการให้ปลอดจากอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ปฏิรูปตำรวจให้ขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคคล และกระบวนการยุติธรรมต้องถูกตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน

8. หลักการปกครองส่วนท้องถิ่น : กระจายการบริหาร กระจายระบบข้าราชการ กระจายการจัดการและรับผิดชอบประเทศ กระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นโดยตรงอย่างเป็นรูปธรรมโดยปราศจากการสกัดกั้นหรือครอบงำจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือจากรัฐบาลส่วนกลาง

9. หลักการอยู่ร่วมกันของคนในชาติ : ประชาชนในประเทศอยู่ด้วยกันอย่างมีภราดรภาพ มีความเป็นพี่น้องกัน มีความเท่าเทียมกันทั้งในศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์

10. หลักการระบบเศรษฐกิจ : ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศ

11. หลักการปกครองในโอกาสของระบบเศรษฐกิจ : ให้ประชาชนทุกระดับและทุกท้องถิ่นต้องมีโอกาสและที่ยืนในระบบเศรษฐกิจตามความสามารถและศักยภาพของตนเอง

12. หลักการปกครองเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรของประเทศ : ผู้ที่ได้ใช้ทรัพยากรมากทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมมาก จำเป็นต้องจ่ายภาษีคืนกลับประเทศมากกว่าผู้ที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าหรือทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมน้อยกว่า

13. หลักการปกครองประเทศในทรัพยากรธรรมชาติ : ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นสมบัติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต้องมีไว้เพื่อประโยชน์กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างคุ้มค่าสูงสุด และสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับประเทศอย่างโปร่งใส ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่คน

14. หลักการปกครองประเทศในด้านการศึกษา : ปฏิรูปการศึกษาให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษานักเรียนให้ได้สูงสุดตามศักยภาพของเด็กโดยให้ควบคู่ไปกับคุณธรรม และรัฐมีหน้าที่สร้างมาตรฐานกลางและวัดผลมาตรฐานของทุกโรงเรียนในประเทศ

15. หลักการปกครองประเทศในด้านสื่อสารมวลชน : ดำเนินการขจัดความเท็จออกจากสังคม สร้างความจริงให้เกิดขึ้น สร้างพื้นที่และสนับสนุนทั้งนโยบายและงบประมาณให้กับสื่อมวลชนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอย่างแท้จริง

ใน 15 ข้อวันนี้ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือ การยื่นฟ้องบริษัท ปตท. และกระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้กลับคืนมาเป็นของแผ่นดิน โดยศาลได้รับคำฟ้องไว้เป็นหมายเลขคดีดำที่ 1912/2554

รวมทั้งการเดินสายให้ความรู้กับพี่น้องประชาชนแล้วในหลายจังหวัด เช่น กระบี่ เชียงใหม่ อุดรธานี หาดใหญ่ สงขลา ปากช่อง นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี พัทยา สมุทรสงคราม นครสวรรค์ ราชบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ที่นครศรีธรรมราช จากนั้นจะเป็นที่ ม.รังสิต ปทุมธานี ลพบุรี กาญจนบุรี ภูเก็ต เพชรบุรี แพร่ ฯลฯ

วันนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงยังคงยืนหยัดทำพันธกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไม่แปรเปลี่ยน
กำลังโหลดความคิดเห็น