xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน พ.ร.บ. PPPs โอกาสของชาติ ถ้ารัฐบาลไม่โกง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2554 ก็เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี รัฐบาลในขณะนั้นจึงต้องการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลเพื่อฟื้นฟูประเทศจากความบอบช้ำที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้นในครั้งนั้น

หนึ่งในแผนการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเป็นหัวหน้าทีมก็ได้นำเอาแผนการก่อหนี้วงเงิน 2 ล้านล้านบาทเข้ามาอยู่ในแผนการดำเนินการในครั้งนี้ด้วย โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังดำเนินการ ร่างกฎหมายในรูป พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ..... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ระยะเวลาการกู้ 7 ปี เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กนอ.) ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน สื่อสาร สาธารณูปโภคและการคมนาคมขนส่งทั้ง ทางบก ทางอากาศและทางน้ำ

ทั้งนี้ ในระหว่างกระบวนการตรากฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้นั้นกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมก็เร่งเฟ้นหาโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้กระบวนการทางกฎหมายและการบังคับใช้มีผลในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด

ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. ... หรือ PPPs ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของชั้นกรรมาธิการวุฒิสภาก็ใกล้จะเสร็จเรียบร้อยและมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้จะส่งผลดีต่อโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเช่นกัน ซึ่งหากโครงการใดที่ไม่มีภาคเอกชนสนใจที่จะร่วมทุนดำเนินการกับภาครัฐแล้วรัฐบาลก็สามารถเดินหน้าลงทุนได้ทันที แต่หากโครงการใดที่มีเอกชนสนใจร่วมลงทุนก็สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนกฎหมายฉบับใหม่ตามเกณฑ์ PPPs ได้เช่นเดียวกัน

“ร่างกฎหมาย PPPs ที่จะมาแทนพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 35 คงจะคลอดออกมาในเร็วๆ นี้ก่อนกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่คาดว่าจะเสร็จก่อนที่งบประมาณปี 2557 จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2557 และสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งในการเปิดประชุมรัฐสภาที่จะถึงนี้ผมคาดว่าจะสามารถเสนอให้พิจารณาได้ เพราะถือว่าเป็นโครงการเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการประเทศจะเสียหายทางเศรษฐกิจ เพราะโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอรองรับการเติบโต อีกทั้งกฎหมาย PPPs นั้นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็เห็นชอบร่วมกันแล้วว่ากฎหมายฉบับเดิมเมื่อปี 2535 นั้นเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลจึงไม่น่าจะมีปัญหาในการดำเนินการแต่อย่างใด” นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์ได้ให้ความเห็นต่อว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารก็มีความต้องการที่จะผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาโดยเร็วเพื่อเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ในขณะนี้ผู้ที่แสดงความไม่สบายใจกับกฎหมายฉบับนี้ทั้งในเรื่องข้อกังวลด้านวินัยทางการเงินการคลัง ด้านการทุจริตทั้งฝ่ายค้านและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย หากสามารถทำความเข้าใจกับทุกกลุ่มได้แล้วก็จะเดินหน้าโครงการต่อไปโดยไม่ให้ชักช้าแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรอบวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2,274,359.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 7 สาขา ได้แก่ 1.ระบบราง 1,201,948.80 ล้านบาท (52.85%) 2.ขนส่งทางบก 222,347.48 ล้านบาท (9.78%) 3.ขนส่งทางน้ำ 128,422.20 ล้านบาท (5.65%) 4.ขนส่งทางอากาศ 69,849.66 ล้านบาท (3.07%) 5.สาธารณูปการ 99,204.69 ล้านบาท (4.36%) 6.พลังงาน 515,689.26 ล้านบาท (22.67%) และ 7.สื่อสาร 36,897 ล้านบาท (1.62%)

การลงทุน "ระบบราง" เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 845,385.01 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 333,803.78 ล้านบาท กรมทางหลวง 16,550 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 6,210.01 ล้านบาท

"ขนส่งทางบก" เป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 13,162.20 ล้านบาท กรมทางหลวง 204,498 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก 4,687.28 ล้านบาท "ขนส่งทางน้ำ" กรมเจ้าท่า 33,075.60 ล้านบาท การท่าเรือแห่งประเทศไทย 93,492.24 ล้านบาท กรมธนารักษ์ 1,854.36 ล้านบาท

การลงทุน "ขนส่งทางอากาศ" มีของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) 69,849.66 ล้านบาท "ระบบสาธารณูปการ" มี 2 หน่วยงานคือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 69,686.89 ล้านบาท และการประปานครหลวง (กปน.) 29,517.80 ล้านบาท

การลงทุน "พลังงาน" เป็นของ บมจ. ปตท. 135,655.88 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 206,431.36 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 108,594 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 59,060.35 ล้านบาทฯลน "สื่อสาร" แบ่งเป็น บมจ. กสท โทรคมนาคม 20,761 ล้านบาท และ บมจ.ทีโอที 16,136 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะต้องมาร่วมกลั่นกรองโครงการอีกครั้ง เพื่อให้วงเงินลงทุนไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท.

ส่วนการกำหนดแหล่งเงินใช้สนับสนุนจาก 5 ส่วนคือ เงินงบประมาณ 205,127.77 ล้านบาท เงินรายได้ 184,401.86 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 1,124,834.60 ล้านบาท เงินกู้ ต่างประเทศ 449,172.52 ล้านบาท และจากการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในรูปแบบ PPP 310,822.33 ล้านบาท

เป้าหมายของโครงการชัดเจนอยู่แล้วว่าจะเดินหน้าให้ได้ก่อนปีงบประมาณ 2557 และวงเงินที่สูงถึง 2 ล้านล้านบาทนั้นแน่นอนว่าต้องเป็นที่จับตามองของทุนฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โรงการที่ออกมาจึงมีความจำเป็นอย่างรอบคอบอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่สังคมไทยเริ่มให้ความสำคัญกับจุดนี้มากยิ่งขึ้นและถือเป็นหนึ่งในจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้

หากโครงการนี้สามารถเดินหน้าได้อย่างโปร่งใสไร้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างเต็ม 100% ก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะที่ฝ่ายค้านและนักวิชาการออกมาโจมตีเป็นประเด็นต้นๆ เพราะหากโครงการเดินหน้าได้เต็มที่ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะลดลงตามไปเอง ประโยชน์ทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

แต่คำถามก็คือ นั่นเป็นความฝันที่จะกลายเป็นความจริงได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น