xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ชัดรุ่นพี่แอบขายบุหรี่ให้รุ่นน้องเกือบ 60%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยชี้ ร้านค้ารอบโรงเรียนนิยมขายบุหรี่แบบแบ่งมวนให้เด็ก 67% ไม่เคยขอดูบัตร ปชช.74% ส่วนในโรงเรียนมีรุ่นพี่ขายรุ่นน้องมากถึง 56% ทำเด็กเข้าถึงบุหรี่ง่าย ส่งยอดนักสูบหน้าใหม่พุ่ง 3 แสนคนต่อปี ด้านนักวิชาการหนุนร่าง กม.ควบคุมบริโภคยาสูบฉบับใหม่ ขยายอายุผู้ซื้อเป็น 20 ปี ห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปีเป็นผู้ขาย พร้อมครอบคลุมการห้ามขายทางอินเทอร์เน็ตและสถานศึกษาด้วย

วันนี้ (22 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่คณะสาธารณสุขศาสลตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าในการแถลงข่าว “ยุติการให้เด็กขายบุหรี่” ว่า จากการสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการสูบลดลง โดยในปี 2554 มีอัตราการสูบอยู่ที่ร้อยละ 21.36 แต่อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2554 มีอัตราสูบอยู่ที่ร้อยละ 22 ซึ่งสูงกว่าอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทย โดยเฉพาะช่วงอายุ 15-18 ปี อัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ร้อยละ 9.2 สูงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือ ปี 2544 ที่มีอัตราการสูบเพียงร้อยละ 6.44 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่า เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่อายุต่ำสุดที่ 6 ปี โดยนิยมสูบบุหรี่โรงงาน ร้อยละ 74.72 บุหรี่มวนเอง ร้อยละ 24.99 สาเหตุเพราะเยาวชนสามารถเข้าถึงการซื้อบุหรี่ได้ง่าย จึงจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันเยาวชนไทยไม่ให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ โดยควรต้องปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพและมีการบังคับใช้ได้จริง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผศ.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนประมาณ 2,000 คน จากโรงเรียนมัธยม 7 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 6 แห่ง และสงขลา 1 แห่ง ในเรื่องการซื้อขายบุหรี่ พบว่า เยาวชนร้อยละ 79 ระบุว่า มีร้านขายบุหรี่อยู่บริเวณรอบสถานศึกษา ร้อยละ 67 ระบุว่า ร้านค้าใกล้สถานศึกษานิยมขายบุหรี่แบบแบ่งมวน ร้อยละ 56.1 ระบุว่า มีรุ่นพี่รุ่นน้องหรือเพื่อนในโรงเรียนนำบุหรี่มาขายแบบแบ่งมวนในโรงเรียน ร้อยละ 80 ระบุว่า ร้านค้าแถวบ้านขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และร้อยละ 74.4 ระบุว่า สามารถหาซื้อบุหรี่ได้ง่าย เนื่องจากผู้ขายไม่เคยขอดูบัตรประชาชน ทั้งนี้ แหล่งที่สามารถหาซื้อบุหรี่ได้ง่ายและต้องเฝ้าระวัง คือ บริเวณหน้าโรงเรียน ร้านชำแถวบ้าน/แหล่งชอปปิง/ตลาดกลางคืน และหน้าห้างสรรพสินค้า โดยพบว่ากลุ่มมัธยมมีความเสี่ยงสูงสุดมากกว่ากลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย

ด้าน ผศ.ลักขณา เติมศิริกุลชัย หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่จะช่วยให้เด็กสูบบุหรี่น้อยลงและเข้าถึงบุหรี่ได้ยากขึ้น เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่ากฎหมายเดิม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ทั้งนี้ ในกฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอายุขั้นต่ำในการซื้อบุหรี่จากเดิมอายุ 18 ปี เป็น 20 ปี และห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายบุหรี่ ซึ่งหากมีการละเมิดผู้ขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และนายจ้างของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีขายบุหรี่ ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตอนนี้ญี่ปุ่นก็มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีแล้ว ขณะที่คู เวต ฮอนดูรัส กำหนดที่อายุ 21 ปี อย่างในอังกฤษก็จะใช้วิธี No ID, No Sale คือ ต้องขอดูบัตรประจำตัวประชาชนก่อนขายทุกครั้ง หากไม่มีบัตรก็ห้ามขายบุหรี่ ส่วนกรณีกำหนดห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีขายบุหรี่ เป็นการละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่ องค์กรสิทธิเด็กได้ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า เด็กสามารถประกอบอาชีพใดก็ได้แต่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนั้น การกำหนดดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก” ผศ.ลักขณา กล่าว

ผศ.ลักขณา กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับใหม่ยังห้ามวิธีการขายที่เด็กสามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย ได้แก่ ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานศึกษา ห้ามขายทางอินเทอร์เน็ต ห้ามขายผ่านเครื่องขาย ห้ามขายบุหรี่ต่ำกว่าซองละ 20 มวน และห้ามแบ่งขายเป็นมวนๆ นอกจากนี้ ยังยังห้ามลดแลกแจกแถมบุหรี่ หรือซื้อบุหรี่แล้วแถมของ ห้ามโฆษณาในทุกรูปแบบ ห้ามแสดงบุหรี่และราคาบุหรี่ ณ จุดขาย ห้ามสถานศึกษาของรัฐบาลรับเงินอุปถัมภ์จากบริษัทยาสูบ และห้ามบริษัทยาสูบเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)

ผศ.ลักขณา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา บริษัทบุหรี่และโรงงานยาสูบไม่อยากให้มีการออกกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ จึงใช้วิธี “องค์กรหน้าชั้น” โดยตนไม่ได้เป็นผู้คัดค้านกฎหมายด้วยตัวเอง แต่อาศัยการเกณฑ์ชาวไร่ยาสูบมาเป็นเครื่องมือในการต่อต้าน ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า กฎหมายฉบับใหม่ไม่มีมาตราใดที่พูดถึงชาวไร่ยาสูบ หรือการจำกัดการปลูกใบยาสูบเลย แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ต้องการป้องกันการเกิดของนักสูบหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นปีละ 3 แสนคน ซึ่งขณะนี้กฎหมายได้ผ่านวาระรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาคแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการสรุปประเด็นประชาพิจารณ์จากกรมควบคุมโรค และให้นักวิชาการ นักควบคุมยาสูบแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ซึ่งหาก ครม.ผ่านร่างกฎหมายนี้แล้ว จะเข้าสู่สภานิติบัญญัติ ผ่านวาระ 1 ในการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมายแบบรายข้อต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น