วุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับประชาชน เพิ่มช่องทางขอทุนช่วย และตัดบทลงโทษที่ผ่านสภาผู้แทนฯ ออก อ้างกลัวไม่มีคนร่วมลงชื่อในการเสนอร่างกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา วันนี้ (5 พ.ย.) ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่มีประชาชนเข้าชื่อเสนอเข้ามา ด้วยคะแนนเสียง 99 ต่อ 2 เสียง เนื่องจากร่างกฎหมายการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้อยู่ มีอุปสรรคทั้งความล่าช้า และภาระของประชาชนในการรวบรวมรายชื่อ การทำเอกสาร และปัญหาการยกร่าง พ.ร.บ.เพื่อเสนอมายังรัฐสภา ซึ่งสภาผู้แทนฯ ก็ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนฉบับเดิมแล้ว โดยเพิ่มเติมสาระในส่วนของการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งสิ้น 15 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีผู้ริเริ่มในการรวบรวมการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 รายชื่อ ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย หรือแนวนโยบายพื้นฐ่านแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยลดเอกสาร ให้ใช้หลักฐานรับรองเพียงสำเนาบัตรประชาชน แสดงหมายเลข 13 หลัก โดยไม่ต้องใช้สำเนาทะเบียนบ้านตามกฎหมายเดิม รวมทั้งกำหนดให้มีหน่วยงานช่วยประชาชนทำร่างกฎหมาย ทั้งยังกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารภายใน 45 วัน และกรณีรายชื่อไม่ครบก็ให้แจ้งผู้ริเริ่มรวบรวมต่อให้ครบภายใน 90 วันนับแต่ได้รับแจ้ง เพื่อไม่ให้สิทธิในการยื่นต้องเสียไป
ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับสภาผู้แทนมีการกำหนดบทลงโทษไว้ 2 มาตรา คือ มาตรา 13 และ 14 มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่ใช้ทรัพย์สินจูงใจ หลอกลวงขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคามให้ร่วมลงชื่อ และมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อ หรือใช้เอกสารปลอม ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากของวุฒิสภาไม่เห็นด้วยต้องการให้ตัดออก แต่ในที่สุดเสียงข้างมากในวุฒิสภาให้คงอยู่ตามเดิมทั้งสองมาตรา
ในการประชุม พล.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สว.สรรหา อภิปรายว่าการตัดสองมาตรานี้จะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เปิดช่องให้มีการคอร์รัปชันอำนาจ โดยการจ้างวานหรือปลอมแปลงรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายที่อาจเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยเฉพาะในภาวะที่บ้านเมืองมีการแบ่งสีแบ่งชั้วอยู่ในขณะนี้ จึงไม่เห็นด้วยที่ตัดทั้งสองมาตรานี้ออก ถ้าเพียงลดโทษลงก็ยังพอรับได้ แต่ตัดออกหมดแบบนี้ขอคัดค้านล้านเปอร์เซ็นต์
ขณะที่กรรมาธิการในส่วนตัวแทนประชาชนชี้แจงว่า เวลาไปรวบรวมรายชื่อชาวบ้าน แม้จะรู้ว่าเป็นกฎหมายที่จะให้สิทธิประโยชน์ก็ตาม แต่หากรู้ว่าการเข้าชื่อมีโทษกำกับด้วยก็อาจกลัวที่จะร่วมลงชื่อ และทำให้กระบวนการเข้าชื่อสะดุดลง คิดว่าเพียงกฎหมายอาญาเรื่องการปลอมแปลงเอกสารก็น่าจะเพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ สาระที่กรรมาธิการวุฒิสภาเพิ่มเติม คือ กำหนดให้ กกต.มาช่วยทำหน้าที่กระจายให้ กกต.จังหวัดช่วยติดสำเนาร่าง พ.ร.บ.ที่ต้องการเสนอ ประกาศและรวบรวมรายชื่อเพื่อนำมายื่นต่อประธานรัฐสภา เปิดช่องทางให้ใช้กองทุนพัฒนาการเมือง ในคณะกรรมการพัฒนาการเมืองเพื่อสนับสนุนกระบวนการรวบรวมรายชื่อ ซึ่งจะต้องกลับไปให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาอีกครั้งว่าจะยอมรับการเพิ่มเติมส่วนนี้หรือไม่