วิจัยพบผลงานคุมยาสูบรัฐห่วย ได้แค่ 3.3 คะแนนเต็ม 10 เผย มีเพียง กม.จำกัดการติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทบุหรี่เฉพาะบางกรมเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ นักวิชาการบุหรี่จี้ออก กม.ตามกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 5.3 คุมโฆษณา การตลาด บุหรี่ออนไลน์ การจัดกิจกรรม CSR และเพิ่มสิทธิรักษาโรคติดบุหรี่
วันนี้ (6 พ.ย.) นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยและประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550-2551) กล่าวระหว่างการแถลงข่าว "กฎหมายบุหรี่โลกเป็นหมัน ไทยอ่อนแอและล้าหลัง" ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัมหิดล ว่า ปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังลดลงมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการขึ้นภาษีบุหรี่มาเป็นระยะเวลานาน และไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในเรื่องของการควบคุมการโฆษณา และการส่งเสริมการขายของบริษัทบุหรี่ รวมไปถึงการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและที่ทำงาน แม้จะมีการดำเนินมาตรการควบคุมบริโภคยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 การกำหนดและบังคับใช้นโยบายสาธารณะว่าด้วยการควบคุมยาสูบมากว่า 4 ปีในฐานะของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก เพื่อปกป้องการแทรกแซงของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบแล้วก็ตาม แต่พบว่าไทยยังไม่มีกฎระเบียบทางราชการออกมาบังคับใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเพียงระเบียบที่ใช้ภายในกรมที่รับผิดชอบการควบคุมยาสูบเท่านั้น
“ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อ ธ.ค. 2553 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพต้านยาสูบ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทำตามแนวทางของกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 5.3 เนื่องจากสามารถช่วยป้องกันบริษัทบุหรี่เข้ามามีอิทธิพลต่อนโยบายควบคุมยาสูบได้ แต่ขณะนี้เป็นเพียงการใช้ระเบียบภายในกรมที่รับผิดชอบการควบคุมยาสูบเท่านั้น ทำให้เกิดความอ่อนแอต่อการควบคุมบริโภคยาสูบ รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งให้หน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศดำเนินการตามมติ ครม.” นพ.หทัย กล่าว
ทญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า จากการประเมินผลงานในรอบ 6 เดือน ด้วยการสำรวจความพึงพอใจเรื่อง มาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบขอรัฐบาล จาก 38 องค์กรสุขภาพ พบว่า คะแนนรวมความพึงพอใจในการดำเนินนโยบายยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เฉลี่ย 3.3 เต็ม 10 คะแนน โดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายควบคุมยาสูบโดยตรงได้คะแนนความพึงพอใจมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กระทรวงสาธารณสุข 5.8 คะแนน กระทรวงการคลัง 4.3 คะแนน กระทรวงศึกษาธิการ 3.9 คะแนน กระทรวงวัฒนธรรม 2.9 คะแนน และสำนักงานปลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2.8 คะแนน
ทญ.ศิริวรรณ กล่าวอีกว่า มาตรการที่ได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว คือ การขึ้นภาษีตามปริมาณช่วยให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่น้อยลง การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ และประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องแนรวทางปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา ส่วนนโยบายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จและต้องเร่งดำเนินการคือ กฎหมายควบคุมในการห้ามธุรกิจยาสูบกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) การห้ามโฆษณายาสูบทางอินเทอร์เน็ต การเพิ่มสิทธิหลักประกันการรักษาโรคบุหรี่ และการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมายและการปราบปรามการลักลอบบุหรี่เถื่อน
“อย่างเรื่องการเพิ่มสิทธิประกันรักษาโรคบุหรี่ ควรมีการเพิ่มยาเลิกบุหรี่ที่ให้ผลดีกว่ายาสามัญชื่อ Nortripthylin เข้าไปในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากยาดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมในหมู่แพทย์ เพราะเมื่อสั่งจ่ายยาให้คนไข้จะมีผลข้างเคียงคืออาการเมา ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรืออาจให้องค์การเภสัชกรรมร่วมผลิตยาจากหญ้าดอกขาวเพื่อใช้ควบคู่กับยา Nortripthylin เนื่องจากหญ้าดอกขาวมีนโคตินอ่อนๆ ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้ เป็นต้น” ผอ.ศจย.กล่าว
นายไพศาล ลิ้มสถิต นักวิชาการจากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการควบคุมยาสูบระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ คือ แคนาดา ฟิลิปปินส์ และเคนยา พบว่า มาตรการของไทยในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและไม่เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 5.3 โดยเฉพาะการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และป้องกันการโฆษณา การทำการตลาดทางตรงและทางอ้อม ซึ่งประเทศไทยมีเพียงการจำกัดการติดต่อประสานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการการเมือง กับอุตสาหกรรมยาสูบเท่านั้น แต่เป็นเพียงเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่ต่างประเทศมีในเรื่องของการปฏิเสธความร่วมมือในกิจกรรมใดๆ ที่ดำเนินการโดยอุตสาหกรรมยาสูบของหน่วยงานรัฐ การหลีกเลี่ยงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่รัฐกับอุตสาหกรรมยาสูบ การกำหนดให้ข้อมูลที่ได้รับจากอุตสาหกรรมต้องโปร่งใสและถูกต้อง และการมีกฎหมายกำกับควบคุมการจัดกิจกรรม CSR ของอุตสาหกรรมยาสูบและถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรสนับสนุน
“ตัวอย่างความสำเร็จของต่างประเทศ เช่น แคนาดา ออกกฎหมายให้อุตสาหกรรมยาสูบต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เช่น ปริมาณการผลิต ยอดจำหน่ายยาสูบจำแนกตามประเภทและยี่ห้อ ฟิลิปปินส์มีการร่วมกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนออกระเบียบปฏิบัติป้องันการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ส่วนเคนยา มีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติป้องกันคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอุตสาหกรรมยาสูบ ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการ ห้ามจัดกิจกรรมโฆษณา ส่งเสริมการขาย ไม่ให้เกี่ยวข้องกับโครงการด้านกีฬา ศิลปวัฒนธรรม การสันทนาการ การศึกษา เป็นต้น” นายไพศาล กล่าว
นายไพศาล กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรต้องเร่งปรับปรุงและแก้ไข คือ 1.การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 5.3 เพื่อบังคับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงาน 2.แก้ไขปรับปรุงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือเสนอกฎหมายฉบับใหม่ โดยมีคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ (คบยช.) และกำหนดให้อุตสาหกรรมยาสูบมีหน้าที่รายงานข้อมูลอุตสาหกรรมยาสูบ 3.เร่งรัดและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา และดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบฯ โดยเร็ว และ 4.ควรเร่งแก้ไขประบปรุงประกาศกรมสรรพสามิต เรื่องการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลบริษัทบุหรี่