xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หนี้สาธารณะพุ่ง 4.5 แสน ล. จ่อกู้ลงทุนเพิ่มอีก 2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-30 กันยายน 2554 สิ้นปีงบประมาณ 2554 ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มต้นเข้ามาบริหารประเทศนั้นประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้นจำนวน 4,448,294.600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.27% ของจีดีพี ผ่านมาเกือบ 1 ปี สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลัง รายงานตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 มีจำนวน 4,899,877.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.19% เพิ่มขึ้น 451,528.87 ล้านบาท หรือ 1.92% ของจีดีพี

ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเพียงใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีหนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากถึง 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลละเลงไปกับนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งก่อนได้รับคะแนนเสียงชนะอย่างถล่มทลาย

โดยตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างล่าสุดที่ทางกระทรวงการคลังรายงาน ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 มีจำนวน 4,899,877.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.19% ของ GDP โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล ถึง 3,570,950.38 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,014,748.95 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 307,328.14 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 6,850 ล้านบาท

และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพียงเดือนเดียวรัฐบาลก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 108,343.01 ล้านบาท!!!

นี่ยังไม่รวมกับแผนการกู้เงินจากที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งดำเนินการโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในระยะ 5 ปี (ปี 2555-2559) ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณารายละเอียดแผนงานภายใต้โครงการดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยกร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

ซึ่งกรอบวงเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2,274,359.09 ล้านบาท แบ่งเป็น 7 สาขา ได้แก่ 1.ระบบราง 1,201,948.80 ล้านบาท (52.85%) 2.ขนส่งทางบก 222,347.48 ล้านบาท (9.78%) 3.ขนส่งทางน้ำ 128,422.20 ล้านบาท (5.65%) 4.ขนส่งทางอากาศ 69,849.66 ล้านบาท (3.07%) 5.สาธารณูปการ 99,204.69 ล้านบาท (4.36%) 6.พลังงาน 515,689.26 ล้านบาท (22.67%) และ 7.สื่อสาร 36,897 ล้านบาท (1.62%)

การลงทุน "ระบบราง" เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 845,385.01 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 333,803.78 ล้านบาท กรมทางหลวง 16,550 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 6,210.01 ล้านบาท

"ขนส่งทางบก" เป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 13,162.20 ล้านบาท กรมทางหลวง 204,498 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก 4,687.28 ล้านบาท "ขนส่งทางน้ำ" กรมเจ้าท่า 33,075.60 ล้านบาท การท่าเรือแห่งประเทศไทย 93,492.24 ล้านบาท กรมธนารักษ์ 1,854.36 ล้านบาท

การลงทุน "ขนส่งทางอากาศ" มีของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) 69,849.66 ล้านบาท "ระบบสาธารณูปการ" มี 2 หน่วยงานคือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 69,686.89 ล้านบาท และการประปานครหลวง (กปน.) 29,517.80 ล้านบาท

การลงทุน "พลังงาน" เป็นของ บมจ. ปตท. 135,655.88 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 206,431.36 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 108,594 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 59,060.35 ล้านบาทฯลน "สื่อสาร" แบ่งเป็น บมจ. กสท โทรคมนาคม 20,761 ล้านบาท และ บมจ.ทีโอที 16,136 ล้านบาท

กำหนดแหล่งเงินใช้สนับสนุนจาก 5 ส่วนคือ เงินงบประมาณ 205,127.77 ล้านบาท เงินรายได้ 184,401.86 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 1,124,834.60 ล้านบาท เงินกู้ ต่างประเทศ 449,172.52 ล้านบาท และจากการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในรูปแบบ PPP 310,822.33 ล้านบาท

หากเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานดังกล่าวไม่สามารถบรรลุผลตามที่รัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างน้อย 4-5% ต่อปีแน่นอนว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยในปี 2559 พุ่งขึ้นไปสูงถึง 50% ของจีดีพีอย่างแน่นอน

โดย กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลังได้ให้ความเห็นว่า ไม่แปลกแต่อย่างใดที่หนี้สาธารณะจะพุ่งพรวดถึงกว่า 4 แสนล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากการใช้มาตรการการคลังแบบขาดดุล 4 แสนล้านบาท แต่สิ่งที่กังวลคือการใช้เงินนอกงบประมาณในโครงการรับจำนำข้าวที่ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายจากการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งกระบวนการรับจำนำข้าวก็เห็นกันอย่างชัดเจนและผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลก็ออกมายอมรับกันว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น

อีกทั้งการใช้เงินของรัฐบาลนั้นก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งโดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้สำหรับเยียวยาน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาทที่ใช้กันอย่างไม่รู้ที่ไปที่มาและไม่ยอมเปิดเผยโครงการใช้เงินออกมาอย่างโปร่งใส พื้นที่ที่น้ำเคยท่วม เมื่อปีที่แล้วก็ยังท่วมซ้ำซาก แสดงให้เห็นถึงการใช้เงินงบประมาณที่กู้มานั้นไม่ เกิดประสิทธิภาพในการใช้เงินแต่อย่างใดและมีการทุจริตกันอย่างมหาศาลเหมือนเงินหายวับไปกับอากาศ ขณะที่วงเงินกู้อีก 3.5 แสนล้านที่กู้มานั้นผ่านมาเกือบ 1 ปีแล้วก็ยังไม่เห็นรัฐบาลมีผลการดำเนินงานต่างๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

“การก่อหนี้ของรัฐบาลหากมีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้และสร้างผลประโยชน์เกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวมก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่เท่าที่เห็นรัฐบาลชุดนี้ถลุงเงินกันอย่างไร้วินัยและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าอนาคตประเทศไทยอาจมีปัญหาทางด้านการคลังเกิดขึ้นได้หากไม่มีการวางระบบป้องกันไว้เป็นอย่างดี”

ล้อมกรอบ...
คนไทยระวังหนี้ท่วมหัว

ดูเหมือนภาครัฐพยายามออกโครงการประชานิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน รวมถึงผ่อนคลายมาตรการทางการคลังและการเงินต่างๆ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายตามมา แต่แทนที่เป็นการเพิ่มของรายได้ กำลังซื้อแก่ประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นดาบสองคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจับตามองอย่างใกล้ชิดอยู่ในขณะนี้

สัญญาณที่เริ่มไม่ดีก็เกิดขึ้น เมื่ออัตราการขยายตัวสินเชื่อโตสูงถึงตัวเลข 2 หลัก ติดต่อกันหลายเดือน เกิดจากผลของน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้ ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล แต่เมื่อเจาะไส้ในกลับแสดงอาการอย่างอื่นตามมาด้วย คือ ธนาคารพาณิชย์บางแห่งปล่อยกู้ให้แก่ข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำ ทำให้สินเชื่อประเภทนี้ขยายตัวแรง

สอดคล้องกับข้อมูล ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าฯ ธปท. และอดีต รมว.คลัง ที่ฝากให้แบงก์ชาติช่วยดูแลสินเชื่อรถแลกเงินที่เน้นใช้เงินก่อนการออม ถือเป็นการทำลายวัฒนธรรมทางการเงินของไทยและเป็นการโฆษณาที่หลอกลวงประชาชน รวมถึงฝากให้ช่วยตรวจสอบบริษัทญี่ปุ่นที่มีธนาคารไทยช่วยหนุน โดยปล่อยกู้ให้ชาวบ้านตามต่างจังหวัดมาร่วม 10 ปีแล้ว คิดดอกเบี้ย 1%ต่อเดือนและค่าธรรมเนียมอีก 3.98%จากยอดคงค้างหนี้ที่เหลือทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันแล้วดอกเบี้ยสูงถึง 59%ต่อปี

ขณะที่ข้อมูลฝั่งผู้บริหารแบงก์ชาติอย่าง “เกริก วณิกกุล” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า ภายใต้อำนาจของแบงก์ชาติขณะนี้มีเรื่องที่ไม่ดีและต้องติดตามอยู่ 2-3 ประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ออกกฎเกณฑ์ดูแลจุดหนึ่ง แต่ปัญหาไปโผล่อีกด้านหนึ่ง โดยส่วนหนึ่งเป็นปัญหาภาคครัวเรือนที่มีหนี้ทะยานถึง 40-50%ของรายได้ครัวเรือน จากเดิมหนี้อยู่ที่ 30% ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (สหรัฐตอนนั้นอยู่ที่ 28%) ซึ่งส่วนนี้เฉพาะหนี้สินเกิดขึ้นในระบบเท่านั้น ไม่นับรวมที่อยู่นอกระบบอีกเท่าไหร่ไม่รู้

“แบงก์ชาติไม่มีอำนาจจะออกหลักเกณฑ์ไปควบคุมดูแลหนี้ครัวเรือนทั้งประเทศ แต่เราจะเน้นการเข้าไปดูแล ไม่ใช่ให้หนี้สินของประชาชนลดลง แต่พยายามไม่ให้หนี้สินของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการดำรงชีพของประชาชนและกระทบเศรษฐกิจมหภาคได้ นอกจากนี้แบงก์ชาติพยายามดูแลไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบในยามที่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ จึงต้องดูแลส่วนนี้ให้มาก”

ด้านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ระบุว่า ประชาชนโทรมาร้องเรียนส่วนใหญ่จะมีหนี้สินกับสถาบันการเงินหลายแห่ง รายได้น้อยและสร้างหนี้ทั้งในและนอกระบบ ส่วนอีกกรณีก็เป็นหนี้กับบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ถูกติดตามทวงหนี้ ซึ่งนอนแบงก์จะจ้างบริษัทข้างนอกมาดูแลหนี้สิน บางรายถึงขึ้นขั้นข่มขู่หรือฝากบอกกับคนรอบข้างลูกหนี้ เช่น
เพื่อนร่วมงานหรือญาติ เป็นต้น

โดย ศคง.ก็จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปให้สายกำกับสถาบันการเงินของแบงก์ชาติเป็นตัวกลางประสานงานไปยังสถาบันการเงินในการเจรจาประนอมหนี้ให้ ซึ่งส่วนใหญ่สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่ก็มีบางส่วนที่เจรจากันไม่ลงตัว

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ ตัวเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง หากประชาชนยังคงใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายตามความต้องการของตัวเอง และมีแรงหนุนจากภาครัฐ ซึ่งนับวันนโยบายประชานิยมยังคงดำเนินต่อไป สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นวัฏจักรเหมือนปี 40 ที่หลายคนต้องแบกรับภาระหนี้สินจนท่วมหัวและกว่าจะกลับมาตั้งหลักได้ต้องใช้เวลานานหรือบางคนอาจจะล้มระหว่างทางและไม่สามารถกลับมายืนได้อีก

หมายเหตุ : เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีของ 'ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์' ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมกิจกกรรมในแฟนเพจ เพื่อชิงรางวัลอันทรงคุณค่า กับคำถามที่ว่า "ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คิดว่าเธอเหมาะกับอาชีพใดมากที่สุด "


กำลังโหลดความคิดเห็น