xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลดี้ “กูกู้” หนี้สาธารณะพุ่ง หนี้ครัวเรือนเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คงไม่มีรัฐบาลไหนในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ทุบสถิติการสร้างหนี้ให้กับประชาชนคนไทยทั้งชาติเท่ากับรัฐบาล “เลดี้ กูกู้” นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอีกแล้ว

ทั้ง “หนี้สาธารณะ” ที่เพียงแค่ 1 ปีของการเป็นรัฐบาลก็พุ่งพรวดเพิ่มจากเดิมถึง 4.5 แสนล้านบาท และ “หนี้ภาคครัวเรือน” ที่ทะยานขึ้นเป็น 40-50% ของรายได้ครัวเรือนจากเดิมที่มีอยู่แค่ 30%

มิหนำซ้ำยังเตรียมที่จะขออนุมัติอีกสารพัดโครงการกู้ ทั้งการเตรียมที่จะ
ออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะมากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 1.92 ล้านล้านบาทเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา

ยิ่งถ้าเทียบกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เคยถูกพรรคเพื่อไทยกระแหนะกระแหนว่าดีแต่กู้ก็ยิ่งเห็นชัดเจน โดยนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งพรรคประชาธิปัตย์ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า 3 ปีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก่อหนี้ใหม่ 1.23 ล้านบาท แต่เพียงแค่ 2 ปีรัฐบาลเลดี้กูกู้ก่อหนี้ใหม่ถึง 1.76 ล้านล้านบาท

นี่ไม่รวมถึงความพินาศฉิบหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่สูญเงินไปแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท แถมยังต้องกู้เงินเพื่อมาอุดอีกปีละเป็นแสนล้านบาท และไม่มีหลักประกันอันใดยืนยันถึงความสำเร็จของโครงการดังกล่าวให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ความพินาศฉิบหายจะรอให้เห็นอยู่เบื้องหน้า แต่รัฐบาลเลดี้กูกู้ก็มิได้สนใจ เพราะเชื่อมั่นในคะแนนเสียงที่ประชาชนคนเสื้อแดงซึ่งลงคะแนนเลือกตั้งว่าจะสามารถค้ำยันบัลลังก์เอาไว้ได้ชั่วนิรันดร์ ดังนั้น คง ต้อง ปล่อยให้รัฐบาลเลดี้กูกู้บริหารราชอาณาจักรไทยต่อไป เพราะคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศชอบ “รัฐบาลปู เลดี้กูกู้” กันชนิดหัวปักหัวปำจนเห็น “กงจักรเป็นดอกบัว” ไปเสียแล้ว

กล่าวสำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะนั้น ณ วันที่ 31 กันยายน 2554 หรือสิ้นปีงบประมาณ 2554 ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มต้นเข้ามาบริหารประเทศ ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้นจำนวน 4,448,294.600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.27% ของจีดีพี

ผ่านมาเกือบ 1 ปี สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลัง รายงานตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 4,899,877.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.19%

นั่นหมายความว่า 1 ปีที่รัฐบาลเลดี้กูกู้เข้ามาบริหารประเทศ ด้วยฝีมืออันเอกอุที่ไม่เป็นสองรองใครได้ทำให้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 451,528.87 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.92% ของจีดีพี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเพราะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีหนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากถึง 4.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างล่าสุดที่ทางกระทรวงการคลังรายงาน ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 มีจำนวน 4,899,877.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.19% ของ GDP โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล ถึง 3,570,950.38 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,014,748.95 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 307,328.14 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 6,850 ล้านบาท

และที่เด็ดไปกว่านั้นก็คือ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพียงเดือนเดียว ปรากฏว่ารัฐบาลเลดี้กูกู้ได้ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิถึง 108,343.01 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยทั้งหลายทั้งปวงเป็นผลมาจากการนำเงินภาษีอากรของประชาชนไปใช้จ่ายกับสารพัดโครงการประชาชนนิยมที่รัฐบาลเลดี้กูกู้ประกาศเอาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

เฉกเช่นเดียวหนี้สินภาคครัวเรือนที่บัดนี้กำลังเป็นปัญหาให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างหนัก โดย “เกริก วณิกกุล” รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ให้ข้อมูลว่า “ภาคครัวเรือนมีหนี้ทะยาน 10-50%ของรายได้ครัวเรือน จากเดิมหนี้อยู่ที่ 30% ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหนี้ส่วนเฉพาะหนี้สินที่เกิดขึ้นในระบบเท่านั้น ไม่นับรวมที่อยู่นอกระบบซึ่งอีกเท่าไหร่ไม่รู้”

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเลดี้กูกู้พยายามออกโครงการประชานิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน รวมถึงผ่อนคลายมาตรการทางการคลังและการเงินต่างๆ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายตามมา แต่แทนที่เป็นการเพิ่มของรายได้ เพิ่มกำลังซื้อแก่ประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นดาบสองคมเพราะกลายเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจับตามองอย่างใกล้ชิดอยู่ในขณะนี้

สัญญาณที่เริ่มไม่ดีก็เกิดขึ้น เมื่ออัตราการขยายตัวสินเชื่อโตสูงถึงตัวเลข 2 หลัก ติดต่อกันหลายเดือนโดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล

สอดคล้องกับข้อมูล ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าฯ ธปท. และอดีต รมว.คลัง ที่ฝากให้แบงก์ชาติช่วยดูแลสินเชื่อรถแลกเงินที่เน้นใช้เงินก่อนการออม ถือเป็นการทำลายวัฒนธรรมทางการเงินของไทยและเป็นการโฆษณาที่หลอกลวงประชาชน รวมถึงฝากให้ช่วยตรวจสอบบริษัทญี่ปุ่นที่มีธนาคารไทยช่วยหนุน โดยปล่อยกู้ให้ชาวบ้านตามต่างจังหวัดมาร่วม 10 ปีแล้ว คิดดอกเบี้ย 1%ต่อเดือนและค่าธรรมเนียมอีก 3.98%จากยอดคงค้างหนี้ที่เหลือทั้งหมด แต่เมื่อรวมกันแล้วดอกเบี้ยสูงถึง 59%ต่อปี

นอกจากปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ภาคครัวเรือนที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับแล้ว รัฐบาลเลดี้กูกู้ยังมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาโดยอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2556 ด้วยวงเงินที่สูงถึง 1.92 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะมากที่สุดตั้งแต่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย

สำหรับแผนการบริหารหนี้ของรัฐบาลเลดี้กูกู้วงเงิน 1.92 ล้านล้านบาทนั้น ประกอบไปด้วย 3 แผนย่อย ได้แก่

1.แผนการก่อหนี้ใหม่วงเงิน 9.59 แสนล้านบาท โดยเป็นการก่อหนี้ในประเทศวงเงิน 9.43 แสนล้านบาท และเป็นหนี้ต่างประเทศ 1.54 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นหนี้ของรัฐบาลจำนวน 7.17 แสนล้านบาทและเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจจำนวน 2.26 ล้านบาท

2.แผนการปรับโครงสร้างหนี้ วงเงิน 7.37 แสนล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศจำนวน 7.03 แสนล้านบาทและต่างประเทศอีก 3.42 ล้านบาท โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลจำนวน 6.17 หมื่นล้านบาท และเป็นการปรับโครงสร้างหนี้รัฐวิสาหกิจจำนวน 1.75 แสนล้านบาท

และ 3. แผนการบริหารความเสี่ยงวงเงิน 2.23 แสนล้านบาท โดยเป็นการบริหารความเสี่ยงหนี้ในประเทศจำนวน 4.71 หมื่นล้านบาท และต่างประเทศ 1.76 ล้านบาท

นอกจากนั้น ครม.ยังรับทราบแผนการบริหารจัดการหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 1.27 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการกู้เงินดังกล่าว จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยปรับจาก 44% ต่อจีดีพี เป็น 47.5% ของจีดีพี แต่หากมีการกู้เงินเพื่อรับจำนำข้าวเพิ่มเติมตามฤดูการผลิต 2555/2556 วงเงิน 4.05 แสนล้านบาท ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้เกิน 50% ของจีดีพี ซึ่งนั่นหมายความว่า รัฐบาลเลดี้กูกู้ได้นำพาประเทศเข้าสู่จุดเสี่ยงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ส่วนสาเหตุที่ไม่ใส่วงเงินการกู้เงินจำนำข้าวไว้ในแผนทั้งหมด 4.05 แสนล้านบาท เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ ให้รัฐวิสาหกิจได้ไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 ค้ำ ประกันเงินกู้ได้ 4.8 แสนล้านบาท หากค้ำประกันการรับจำนำทั้งหมด จะทำให้ มีปัญหาว่ากระทรวงการคลังจะไม่สามารถไปค้ำประกันเงินกู้รัฐวิสาหกิจอื่นๆ ได้ โดยหากรัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อรับจำนำเพิ่ม ก็ต้องปรับแผนเงินกู้ใหม่ โดยลดการค้ำประกันของรัฐวิสาหกิจอื่นเพื่อมาค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.แทน

“ปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 4.89 ล้านล้านบาท มีภาระจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 1.6 แสนล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2556 ได้รับจัดสรรงบชำระหนี้ 1.7 แสนล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังให้ข้อมูล

ยัง....ยังไม่หมดแค่นั้น

เพราะนอกจากแผนการบริหารหนี้ 2556 แล้ว รัฐบาลเลดี้กูกู้ยังเตรียมที่จะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทภายใน 7 ปีที่ต้องกู้เพิ่มอีกปีละ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สูงเกินกว่า 50% ของจีดีพีขึ้นไปอีก โดยประมาณการสัดส่วนหนี้ที่ไม่รวมเงินกู้ พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น ในปี 2557 จะอยู่ที่ 48.4% ของจีดีพี, ปี 2558 อยู่ที่ 48.5% ของจีดีพี, ปี 2559 อยู่ที่ 48% ของจีดีพี และปี 2560 อยู่ที่ 47.2% ของจีดีพี

และที่น่าตกใจยิ่งก็คือ หากเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานดังกล่าวไม่สามารถบรรลุผลตามที่รัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างน้อย 4-5% ต่อปีแน่นอนว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยในปี 2559 พุ่งขึ้นไปสูงถึง 50% ของจีดีพีอย่างแน่นอน

แปลไทยเป็นไทยก็คือ คนไทยกำลังจนลง คนไทยกำลังมีหนี้สินมากขึ้น และคนไทยจะต้องแบกรับหนี้ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์สร้างเอาไว้ตลอด 1 ปีที่เป็นรัฐบาล และกำลังจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน

“ยอมรับว่า รัฐบาลก่อหนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านล้านบาทจริง แต่เงินทั้งหมดเป็นการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การป้องกันน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นต้น ซึ่งหากรัฐบาลก่อหนี้ใหม่ทั้งหมดตามแผนงานที่วางไว้จริง จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีดีในปี 56 ขึ้นมาแตะที่ 47.5% ของจีดีพีและภาระหนี้ต่องบประมาณจะอยู่ที่ 11.6% และเมื่อรวมกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่จะออกในปีหน้า ยอดหนี้สาธารณะก็จะยังไม่แตะ 50% ของจีดีพี เพราะเป็นโครงการที่มีการลงทุนต่อเนื่องถึง 7 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 350,000 ล้านบาท ยังต่ำกว่ากรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดยอดหนี้ สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60% และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%”นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยอมรับ

นอกจากนี้ อันตรายที่ร้ายแรงยิ่งจากโครงการสำคัญของรัฐบาลก็คือ การใช้เงินนอกงบประมาณใน “โครงการรับจำนำข้าว” ซึ่งเป็นอันตรายต่อวินัยทางการเงินและการคลังของประเทศอย่างมาก

กระทั่งรอยเตอร์มีรายงานระบุว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยเตือนรัฐบาลไทยผ่านรายงานเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่าโครงการจำนำข้าวจำเป็นต้องถูกจับตาตรวจสอบ และปรับปรุงเสียใหม่หากมีความจำเป็น โดยเฉพาะในกรณีของต้นทุนและความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เพิกเฉยต่อคำเตือนของไอเอ็มเอฟ โดยต้นทุนการแทรกแซงบิดเบือนกลไกราคาข้าวของรัฐบาลในปีงบประมาณและปีการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับจากเดือนตุลาคม 2011 อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของเป้าการขาดดุลงบประมาณของประเทศ ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะของไทยสูงถึงระดับ 43 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีแล้ว จากการเปิดเผยของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด(อ่าน.....จีทูจี = เจี๊ยะทูเจ๊ง เทคนิคขั้นเทพฉกสต๊อกรัฐ แปลงเงินหลวงเข้ากระเป๋า หน้า 11-12

แต่นั่นก็มิได้ทำให้รัฐบาลเลดี้กูกู้สนใจใยดีแต่อย่างใด เพราะคนที่กระเป๋าตุงจากจีทูจีมิใช่ใครอื่น หากแต่เป็น “เจ๊ ด.” ที่ในระยะหลังเดินเข้าทำเนียบรัฐบาลไปพบน้องสาวถี่ยิบจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั้งบ้านทั้งเมือง

จีทูจี จึงกลายเป็นโครงการเจ๊ทูเจ๊ที่สุดท้ายผลประโยชน์มิได้ตกอยู่กับชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากแต่เข้ากระเป่าเจ๊เสียเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ ประจักษ์พยานที่ยืนยันถึงภาวะทางการเงินการคลังของประเทศที่เข้าขั้นโคม่าเห็นจะหนีไม่พ้น การที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังเดินหน้าโครงการ “หวยออนไลน์” เพื่อดูดเงินของประชาชนกลับเข้ามาเหมือนดังเช่นที่เคยทำในยุครัฐบาล นช.ทักษิณ ชินวัตร

ดูดเอาเงินบาป เอาเงินภาษีจากประชาชนมาใช้ในสารพัดโครงการประชานิยมที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และมิอาจลงจากหลังเสือได้เนื่องจากเกรงผลกระทบเรื่องคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย

นอกจากนั้น ผลพวงจากนโยบายของรัฐบาลเลดี้กูกู้ยังนำพาประเทศไทยเข้าสู่จุดเสี่ยงด้วยการส่งผลทำให้อัตราการว่างงานของคนไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในปี 2556 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีปี 2556 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือ 1.6-1.7 แสนคน จากปัจจุบันที่มี 1.45 แสนคน โดยอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ บวกกับการขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท/เดือน ในปี 2557 เพราะปัจจัยทั้ง 2 ประการทำให้นายจ้างคงอัตราการจ้างงานไว้เท่าเดิม ไม่จ้างคนใหม่เพิ่ม

“หากดูตัวเลขอัตราการว่างงานหลังจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือน เม.ย. จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 0.8% หรือเพิ่มจากประมาณ 3 แสน เป็น 4 แสนคน แสดงให้เห็นว่านายจ้าง Freeze ตำแหน่งงานไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักกับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่จะสำเร็จการศึกษาในเดือน ก.พ.ปีหน้า”

นอกจากนี้แล้ว การเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท ในปี 2557 แม้จะเพิ่มเฉพาะฝั่งข้าราชการ แต่จะมีผลกระทบในเชิงจิตวิทยาให้เอกชนปรับเงินเดือนเพิ่มตามไปด้วย และชะลอการจ้างงานใหม่ลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แม้จะมีความต้องการแรงงานเพิ่ม และคาดว่าจะดูดซับแรงงานได้ประมาณ 1 แสนคน แต่เชื่อว่าจะเน้นจ้างงานผู้จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. มากกว่าปริญญาตรี

ด้วยเหตุดังกล่าว คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า รัฐบาลเลดี้กูกู้กำลังนำพาประเทศไทยเผชิญหน้ามหาวิบัติภัยครั้งใหญ่ไม่ต่างอะไรกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540....และต้องปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นโดยที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ เพราะ “ถ้าไม่ฉิบหายตายเห็นๆ” สังคมไทยคงไม่รู้แจ้งเห็นจริงกับสิ่งที่รัฐบาลเลดี้กูกู้สร้างหนี้ก้อนมหึมาให้กับลูกหลานไทยในอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น