xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตั้งค่าหัว 1 ล้าน มุก ดีเอสไอ.เป่าคดี“ชายชุดดำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงนามสั่งตั้งรางวัลนำจับแก่ผู้แจ้งเบาะแส “มือสังหาร” ที่ปลิดชีวิตผู้คนระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ทั้งสิ้น 7 ราย รายละ 1 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.กรณีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และเจ้าหน้าที่ทหารรวม 5 ราย เสียชีวิตจากการถูกสะเก็ดระเบิดที่ถนนดินสอ
2.กรณีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกอาวุธปืนยิงเสียชิวิตบริเวณทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม
3.กรณีการเสียชีวิตของ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพรอยเตอร์ส ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนข้าวสาร ตัดถนนตะนาว ต่อเนื่องถึงแยกคอกวัว
4.กรณีการเสียชีวิตของนายฟลาบิโอ โปแลงกี ผู้สื่อข่าวชาวอิตาลี ถูกอาวุธปืนยิงเสียชีวิตบริเวณถนนราชดำริ
5.กรณีคนร้ายยิงเอ็ม 79 จนทำให้ จ.ส.ต.วิทยา พรหมสำลี เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บรวม 6 ราย บริเวณอาคารอื้อจื่อเหลียง
6.กรณีคนร้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง ส.ต.ต.กานต์ณุพัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ จนเสียชีวิตบริเวณถนนสีลม
7.กรณีการเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ สาระ ถูกอาวุธปืนยิงเสียชีวิตบริเวณแยกอนุสรณ์สถาน เขตดอนเมือง

การประกาศตั้งรางวัลนำจับดังกล่าว อาจมองว่าเป็นการเร่งรัดที่จะติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาให้ได้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า การสั่งตั้งรางวัลนำจับใน 7 คดีดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 2 ปีกว่าแล้ว และเกิดขึ้นหลังจากดีเอสไอโดยเฉพาะนายธาริตเอง ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดว่า มีการ “เปลี่ยนสี” ในการทำคดีคนเสื้อแดง ไปตามการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ทำให้คดีการตายของผู้คนระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดงพลิกกลับตาลปัตรไปจากเดิมชนิดตรงกันข้าม เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา

เห็นได้ชัดเจนว่า นับตั้งแต่รัฐบาลคนเสื้อแดง ภายใต้การเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมามีอำนาจ มีการเร่งรัดทำคดีส่วนที่คาดว่าเกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อหวังจะเล่นงานทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ และบีบให้ทุกฝ่ายเข้าสู่แผนปรองดองอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากความผิดไปด้วย

ส่วนคดีการตายส่วนที่สงสัยว่าเป็นฝีมือของ “ชายชุดดำ” หรือฝ่ายแนวร่วมคนเสื้อแดง กลับถูกเก็บดองอยู่ในลิ้นชัก ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดง และคนในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พยายามออกมาสร้างกระแสกรอกหูชาวบ้านอยู่ตลอดว่า ไม่มีชายชุดดำๆ

ที่เห็นชัดเจน คือ คดีการตายของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่บริเวณแยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จนถึงเวลานี้ การทำสำนวนของพนักงานสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่คดีการตายของคนเสื้อแดงส่วนที่คาดว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เป็นคดีที่เกิดขึ้นภายหลังกลับคืบหน้าไปถึงชั้นศาลแล้วหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีนายพัน คำกอง คดีการตายในวัดปทุมวนาราม แล้วแกนนำคนเสื้อแดง และคนในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเอาไปตีปี๊บสร้างกระแส “ทหารฆ่าประชาชน”ทำลายคู่แข่งทางการเมืองและบีบให้กองทัพยอมสยบอยู่ใต้อุ้งเท้าของรัฐบาล

ยิ่งเมื่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ได้แถลงรายงานข้อเท็จจริงเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ระบุรายละเอียดเหตุการณ์ที่กลุ่มชายชุดดำจับอาวุธยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่โดยได้รับการสนับสนุนจากการ์ดคนเสื้อแดงหลายครั้ง อาทิ บริเวณแยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553,บริเวณสวนลุมพินีช่วงก่อนสลายการชุมนุม,บริเวณถนนราชดำริถึงแยกสารสิน และแยกเฉลิมเผ่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รวมทั้งบริเวณวัดปทุมวนาราม ก็มีการปรากฏตัวของชายชุดดำ ก่อนที่จะมีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 6 คนในวัดดังกล่าวด้วย

ข้อมูลหลักฐานของ คอป.เกี่ยวกับชายชุดดำที่มีความชัดเจน ทำให้ดีเอสไอถูกโยนคำถามเพิ่มเข้าไปอีกว่า เหตุใดคดีความที่มีชายชุดดำเป็นผู้ต้องสงสัยไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย

การประกาศตั้งรางวัลนำจับผู้ต้องหาทั้ง 7 คดี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 2 ปีครึ่ง จึงเป็นเสมือนการแก้เกี้ยวของนายธาริต ที่จะไม่ให้ถูกด่าประณามว่าเป็นคนเปลี่ยนสี พลิกคดีไปมา ตามความต้องการของรัฐบาลที่ขึ้นมามีอำนาจ
    
   นายธาริต อ้างว่า การตั้งรางวัลนำจับครั้งนี้ เพราะต้องการให้ผู้เห็นเหตุการณ์และทราบเบาะแสแต่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวได้เข้ามาให้ข้อมูลจนนำไปสู่การจับกุมคนร้ายโดยไม่จำเป็นต้องมาเป็นพยานในคดี
     
  หากมองผิวเผิน ก็ดูเหมือนเป็นเจตนาดี แต่ก็มีข้อสงสัยว่า นี่จะเป็นเพียงแทกติกในการ “ดองคดี”หรือไม่ เพราะดีเอสไอสามารถอ้างได้ว่า ไม่มีผู้มาแจ้งเบาะแส หรือมีผู้แจ้งเบาะแสมาแล้วแต่จากการติดตามสืบสวนสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานที่จะเอาผิดได้ เป็นต้น

หากดีเอสไอต้องการจะติดตามจับกุมชายชุดดำอย่างแท้จริงแล้ว เหตุใดไม่นำข้อมูลจากรายงาน คอป.ไปขยายผล

ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ก่อเหตุความรุนแรงระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ได้แล้วหลายคน และมีการสืบสวนสอบสวนจนได้ข้อมูลที่น่าจะเชื่อมโยงไปถึงชายชุดดำได้แล้ว

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เสนอแนะว่า ดีเอสไอควรเร่งดำเนินการกับผู้ต้องหา“ชายชุดดำ”ที่ถูกจับกุมแล้วมากกว่า ด้วยการขยายผลสอบสวนเพิ่มเติม เช่น นายสุรชัย หรือ หรั่ง เทวารัตน์ (คนสนิทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง) ซึ่งถูกจับกุมในคดีก่อการร้ายพร้อมกับผู้ต้องหา 24 คน รวมทั้งแกนนำคนเสื้อแดงอย่างนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ เป็นต้น

นอกจากนี้ ดีเอสไอมีหมายจับบุคคลที่ก่อเหตุความรุนแรงในเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 จำนวนมาก มีหลักฐานชัดเจนว่ากระทำการในลักษณะใดบ้าง ทำไมดีเอสไอไม่เร่งขยายผลจับกุมมาดำเนินคดี

ขณะที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยเปิดเผยผ่านเอเอสทีวี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเคยจับคนที่ยิง พล.อ.ร่มเกล้าได้แล้ว โดยในสำนวนนั้นมีผู้ต้องหา 20 กว่าคน แต่ต่อมาได้ประกันตัวแล้วไปยื่นขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด จากบัดนั้นถึงบัดนี้สำนวนนั้นยังไม่สั่งฟ้อง

ในสำนวนนั้น พยานปากหนึ่งให้การว่า เป็นการ์ดของกลุ่ม นปช.ได้ค่าจ้างวันละ 900 บาท ประสานงานกับ เสธ.แดง ในการหาข่าวทางทหารส่งให้ เสธ.แดง เขาได้รับมอบหมายให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ดาวกระจายไปที่ต่างๆ นปช.เคยฝึกเป็นนักรบพระเจ้าตากกับ เสธ.แดงที่สนามหลวงโดยการชักชวนของนายโชคอำนวย ไม่ทราบสกุล มีผู้ต้องหาที่ 24 (นายสุรชัย หรือ หรั่ง เทวรัตน์) และเพื่อนคือนายศิริชัย หรือ ตี๋ ร่วมฝึกด้วย มีการฝึกสอนและใช้ยิงอาวุธปืนและเครื่องยิงระเบิดและปาระเบิดเอ็ม 67 และพยานยังทราบว่าผู้ต้องหาที่ 18 (เสธ.แดง) เก็บอาวุธปืนสงครามต่างๆ เช่น ปืนเอ็ม 16, ลูกระเบิดขว้างเอ็ม 67 ไว้ภายในโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่เช่าพักไว้ โดยมีผู้ต้องหาที่ 24 (นายสุรชัย หรือ หรั่ง เทวรัตน์) เป็นคนเฝ้า ..พยานยืนยันว่า ผู้ต้องหาที่ 19 (นายสุขเสก พลตื้อ) ใช้อาวุธปืนเอ็ม 79 ยิงใส่โรงเรียนสตรีวิทยาจนทำให้ พลเอกร่มเกล้าเสียชีวิต มีทหารบาดเจ็บหลายนาย, ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ประชาชนคนเสื้อหลากสีที่ศาลาแดง พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ต้องหาที่ 24 (หรั่ง) ยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ตำรวจที่ศาลาแดง           
  
   นอกจากนี้ยังให้การยืนยันว่ามีบุคคลร่วมกระทำผิดอีกจำนวนมากและกลุ่มแกนนำหลักบนเวทีชุมนุมก็รู้เห็นและทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธหรือกองกำลังชุดดำรวมอยู่ด้วย เพราะมีการเบิกจ่ายอาวุธปืนกันเสมอซึ่งเก็บไว้ที่เต็นท์หลังเวทีชุมนุมโดยมีนายพิทักษ์ ไม่ทราบนามสกุลเป็นผู้เก็บรักษา พยานเคยเห็นผู้ต้องหาที่ 18 (เสธ.แดง) ติดต่อรายงานผลงานให้กับผู้ต้องหาที่ 1 ทราบทางโฟนอินหรือทางทวิตเตอร์ในระหว่างชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 18 (เสธ.แดง) จะทำหน้าที่สั่งการควบคุมกองกำลังติดอาวุธ ส่วนนายอารี ไกรนรา ทำหน้าที่ควบคุมกองกำลังการ์ดคนเสื้อแดงทั้งหมด

นี่เป็นพยานหลักฐานส่วนหนึ่งที่ดีเอสไอสามารถสอบสวนขยายผล ไปหาผู้กระทำผิดใน 7 คดี โดยไม่จำเป็นต้องตั้งรางวัลนำจับ ให้เปลืองเงินภาษีและเสียเวลารอเบาะแสจากประชาชน เว้นแต่ว่า ดีเอสไอไม่อยากจะให้ทั้ง 7 คดีมีความคืบหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น