xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผลาญเงินจำนำข้าว ไทยแพ้เพื่อนบ้านทุกดอก หายนะใกล้มาเยือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ดูเหมือนว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังลิงโลดใจที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของคณาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมกับนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่ขอให้สั่งยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย

ทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินหน้าโครงการต่อ ด้วยข้ออ้างที่สวยหรูว่า เพื่อให้ชาวนามีโอกาสร่ำรวยเสียบ้าง และได้ทีด่ากราดคนที่คัดค้านโครงการว่า ไม่ต้องการให้ชาวนาอยู่ดีกินดี

ทั้งที่จริงแล้ว โครงการจำนำข้าวด้วยการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดนั้น เริ่มทำมาตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย และในช่วงรัฐบาลนอมินี สมัคร สุนทรเวช,สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีการสานต่อโครงการนี้มาแล้ว หากโครงการดังกล่าวได้ผลจริง ป่านนี้คงมีชาวนาร่ำรวยจากโครงการรับจำนำข้าวไปหลายราย

แต่ผลกลับตรงกันข้าม นอกจากยังไม่เห็นมีชาวนาคนไหนร่ำรวยขึ้นมาจากการจำนำข้าวแล้ว ยังทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระในการเก็บข้าวไว้ในสต๊อกถึงประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งหากมีการขายออกไปในราคาท้องตลาดปัจจุบัน จะขาดทุนนับแสนล้านบาท

การสานต่อโครงการจำนำข้าวในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการรับใบสั่งจากพี่ชายให้สานต่อโครงการ เพื่อนำไปอ้างเวลาหาเสียงเลือกตั้งว่า รัฐบาลนี้สามารถทำให้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ถึงตันละ 15,000 บาท และถ้าเป็นข้าวหอมมะลิ ก็ได้ถึงตันละ 20,000 บาท เอาไปเกทับพรรคการเมืองพรรคอื่นได้สบาย

ไม่รวมผลพลอยได้จากการที่พรรคพวกคนใกล้ชิดได้ผลประโยชน์จากการคอร์รัปชั่นตามขั้นตอนต่างๆ ในโครงการอีกต่างหาก

ข้ออ้างที่ว่า ต้องเดินหน้าโครงการจำนำข้าว เพื่อให้ชาวนาไทยได้ร่ำรวยมีฐานะลืมตาอ้าปากกับเขาได้เสียทีนั้น จึงเป็นการโกหกหน้าตาย และดันทุรังเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก โดยไม่สนใจถึงผลเสียหายที่จะตามมา

โกหกหรือดันทุรังอย่างไรนั้น นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี แจกแจงในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี วันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า เงินงบประมาณรับจำนำข้าวกว่า 4 แสนล้านบาท หากทำเต็มโครงการนั้น ไม่ได้ตกถึงมือชาวนาที่ยากจนจริงๆ

ตัวเลขของรัฐบาลเองก็ยืนยันว่า ชาวนา 3.4 ล้านรายที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วนั้น มีเกือบ 2 ล้านรายที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ นั่นเพราะเป็นเกษตรกรที่มีข้าวน้อย และต้องเก็บข้าวไว้กินเอง จึงมีข้าวไม่มากพอที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการนำข้าวไปจำนำในโครงการ

ทั้งนี้ การที่ชาวนาจะนำข้าวไปจำนำในโครงการต้องผ่าน 7 ขั้นตอน ตั้งแต่ไปแจ้งนายอำเภอ ไปแจ้ง ธ.ก.ส. นำข้าวไปโรงสี ไปรับใบประทวนสินค้าที่องค์การคลังสินค้า(อคส.) นำไปประทวนสินค้าไปให้ ธ.ก.ส. แล้วรอให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงิน ซึ่งใช้เวลานาน บางพื้นที่ เช่น จ.ชัยนาท ใช้เวลาถึง 3 เดือน ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้ก่อน และหากมีหนี้อยู่กับ ธ.ก.ส.ก็จะถูกหักหนี้ออกจากราคาข้าวไว้เลย

ชาวนาจำนวนมากที่มีข้าวน้อยและเห็นว่าไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการนำข้าวไปจำนำ ก็จะนำข้าวไปขายให้โรงสีใกล้บ้าน ซึ่งได้เงินเร็วกว่า แม้จะขายได้ในราคาต่ำกว่า แต่ก็ไม่เสียเวลา จึงมีชาวนาจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวนาภาคอีสานกว่าครึ่งหนึ่ง ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

การอ้างว่าโครงการจำนำข้าวจะทำให้ชาวนารวยขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะชาวนาที่ยากจนจริงๆ เข้าไม่ถึงโครงการ

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ตามโครงการจำนำข้าวปี 2555/2556 มีเกษตรเข้าร่วมจริงๆ ประมาณ 1.14 ล้านราย เป็นข้าวนาปี 6.95 ล้านตัน ใช้งบประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท เป็นข้าวจากภาคอีสาน พื้นที่ชาวนายากจน เพียงประมาณ 2 ล้านตัน

ส่วนข้าวปรังที่เข้าโครงการมีประมาณ 12 ล้านตัน ใช้เงิน 2.14 แสนล้านบาท โดยข้าวนาปรังนั้นจะมาจากภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีความพร้อมด้านระบบชลประทาน สามารถนำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง ดังนั้น เม็ดเงินจากโครงการรับจำนำข้าวจึงตกอยู่แก่ชาวนาภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวนาที่รวยอยู่แล้ว

รศ.ดร.ณรงค์ ระบุอีกว่า การรับจำนำข้าวในราคาสูงทำให้ข้าวเข้าไปอยู่ในมือของรัฐบาลเกือบทั้งหมด แต่เมื่อจะนำออกขายต้องประมูลให้พ่อค้านำไปขาย ซึ่งก็ต้องขายในราคาต่ำ ส่วนการอ้างว่าสามารถขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีได้นั้น ก็เป็นจีทูจีหลอกๆ เพราะรัฐบาลก็ต้องให้พ่อค้าหาตลาดให้ แล้วต้องจ่ายเงินให้พ่อค้า

นอกจากนี้ การขายข้าวแบบจีทูจี มักจะต้องขายในราคาถูก ไม่ใช่นั้นรัฐบาลประเทศคู่ค้าจะไม่ซื้อ เมื่อขายราคาถูกก็ต้องเอาเงินงบประมาณไปชดเชยให้ ธ.ก.ส. ซึ่งคนที่เสียภาษีให้รัฐบาลก็คือมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องกินข้าวแพงอีก

นายวิฑูรย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตัวเลขชาวนาที่จะได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวจะอยู่ในเขตชลประทานภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ชาวนาในพื้นที่นี้ก็เป็นชาวนาที่ต้องเช่าที่ดินทำนาประมาณ 60-80% และมีต้นทุนในการทำนาประมาณ 6,000 บาทต่อไร่ต่อการทำนา 1 รอบ

ในต้นทุนดังกล่าวเป็นค่าเช่านาประมาณ 1 ใน 4 และค่าปัจจัยการผลิตปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง รวมแล้ว 2 ใน 3 ของต้นทุนทั้งหมด นั่นหมายถึงว่า รายได้จากการจำนำข้าวจะไหลไปยังนายทุนที่เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป้นนักการเมืองและหัวคะแนน และไหลไปยังนายทุนที่เป็นผู้ขายปัจจัยการผลิต ซึ่งก็เป็นนายทุนพรรคการเมืองเช่นกัน

เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่มีโครงการจำนำข้าว ค่าเช่านาได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากปี 2551 ไร่ละ 500 บาทต่อการทำนา 1 รอบ เป็นไร่ละ 1,500 บาทต่อการทำนา 1 รอบในปัจจุบัน ส่วนราคาปุ๋ย เมื่อต้นปี 2554 ปุ่ยสูตร 16-20-0 ขนาดถุงละ 50 กิโลกรัม ราคาถุงละ 700 บา เมื่อมีโครงการจำนำข้าวก็เพิ่มเป็นถุงละ 850 บาท และขณะนี้เพิ่มขึ้นไปอีก 30 บาท

เห็นได้ว่า ปัญหาที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ก็คือ โครงการนี้ใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่ไม่ได้แตะปัญหาพื้นฐานสำคัญของชาวนาไทยเลย นั่นคือเรื่องที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่นาเช่า และการผลิตที่ตกเป็นทาสปุ๋ยเคมี-ยาฆ่าแมลง

นั่นเพราะผู้ที่ควบคุมปัจจัยการผลิตเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นนายทุนพรรคการเมืองทั้งสิ้น

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนแล้ว จะเห็นว่าประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตในการทำนาสูงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่อัตราผลผลิตที่ได้ ประเทศไทยกลับต่ำที่สุด

นี่คือลางหายนะต่อการผลิตข้าวของไทยที่รออยู่ข้างหน้า เพราะเราไม่ได้แตะปัญหาระดับโครงสร้างเลยแม้แต่น้อย การอ้างว่า ทำเพื่อช่วยเหลือชาวนา จึงไม่จริงแม้แต่น้อย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า เม็ดเงินจากโครงการตกถึงมือชาวนายกจนจริงๆ เพียงร้อยละ 18 เท่านั้น

หากจะเปรียบเทียบกับเวียดนาม ชาวนาในลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเจ้าของที่ดินเองมากกว่า 80% ตรงกันข้ามกับชาวนาไทยที่ต้องเช่านา ต้นทุนการผลิตข้าวของเวียดนามจึงอยู่ที่ระดับ 3-4 พันบาทต่อไร่ ขณะที่ต้นทุนของไทย 6 พันบาทต่อไร่

ส่วนผลผลิตข้าวเวียดนามเฉลี่ยสูงถึงไร่ละ 862 กิโลกรัม แต่ผลผลิตข้าวไทยเฉลี่ยเพียงไร่ละ 450 กิโลกรัม

แต่เวียดนามก็ยังไม่ยอมหยุด ยังมีโครงการ “สามลด สามเพิ่ม” นั่นคือ ลดต้นทุน ลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มอัตราผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าว และเพิ่มผลกำไรแก่เกษตรกร โดยเวียดนามใช้เงินในการวิจัยประมาณร้อยละ 4 ของรายได้จากการขายข้าว ขณะที่ไทยใช้ไม่ถึงร้อยละ 1 ของรายได้จากการขายข้าว

สัญญาณอันตรายที่ส่งออกมา นอกจากการที่ประเทศไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวแล้ว ล่าสุดไทยยังเสียแชมป์ข้าวพันธุ์ดีที่สุดในโลกให้แก่กัมพูชา ในการประกวดพันธุ์ข้าวที่ประเทศอินโดนีเซีย

การทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลทำโครงการจำนำข้าวเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยไม่แตะเรื่องประสิทธิภาพการผลิต และไม่สะสางปัญหาพื้นฐานสำคัญของชาวนาไทย จึงเป็นหายนะต่อวงการข้าวของไทยโดยแท้


กำลังโหลดความคิดเห็น