“อ.ณรงค์” แจงงบปี 56 ที่สูงถึง 2.4 ล้านล้านบาท ตกอยู่ในอำนาจสั่งการ “ยิ่งลักษณ์” ถึง 1 ใน 4 หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท ชี้เป็นห่วงจะมีความสามารถนำเงินไปพัฒนาประเทศหรือเปล่า ย้ำแค่ขึ้นค่าภาคหลวงปิโตรเลียม รัฐบาลจะมีกำไรมหาศาล ไม่ต้องกู้ “อัมรินทร์” ระบุไม่ว่ารัฐบาลไหนก็เหมือนกันหมด เตือนประชาชนตราบใดที่ยังไม่รู้จักเลือกคนซื่อสัตย์ขึ้นมาบริหารประเทศ ระวังประสบความวิบัติ
วันที่ 16 ส.ค. รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายอัมรินทร์ คอมันตร์ นักธุรกิจระหว่างประเทศ ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ภายใต้หัวข้อ “ชำแหละงบปี 56”
นายณรงค์กล่าวถึงงบประมาณปี 2556 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 2.4 ล้านล้านบาทว่า ตามทฤษฎี การจัดงบประมาณคือเครื่องมือทางการเงินที่จะทำให้นโยบายที่วางไว้สำเร็จตามเป้าหมาย เมื่อเป็นเครื่องมือทางการเงิน ตัวชี้ขาดว่างบนั้นสมควรหรือไม่ ต้องดูว่านโยบายคืออะไร นโยบายที่ดีต้องเป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ เป็นหน้าที่ของรัฐะที่ต้องอธิบายว่าประเทศเราอะไรเป็นปัญหาหลักและอะไรเป็นปัญหารอง แล้วจัดสรรงบตามลำดับ ถ้าทำตามนั้นได้ถือว่าบรรลุเป้าหมายตามที่ประเทศต้องการ แต่รัฐบาลไม่มีชี้แจงให้เห็นว่าอะไรคือปัญหาหลักสำคัญที่สุด
มองในแง่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เราอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกซึ่งกระทบเราแน่นอน 2. คือ วิกฤตเศรษฐกิจภายในเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วม 3. คือ รัฐบาลไปเร่งวิกฤตทางการเมือง วิกฤตเหล่านี้เคยแยกแยะออกมาหรือไม่อะไรเป็นปัญหาหลักอะไรเป็นปัญหารอง อยู่ๆก็กู้เงินมาใช้ แล้วจะแก้อะไร จะแก้ได้หรือเปล่า
การใช้งบประมาณขาดดุลไม่ใช่สิ่งเสียหาย แต่ขาดดุลเพื่ออะไร ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ แต่การบริหารทุน ต้องมีวิธีใช้จ่ายให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินที่กู้มา หรือบางอย่างถ้าจำเป็นจริงๆก็อาจไม่ต้องมีกำไรก็ได้ แต่นี่ก็ไม่บอกว่ากู้มาเพื่ออะไร จำเป็นอย่างไร
แม้รัฐบาลใช้วิธีจัดงบประมาณตามยุทธศาสตร์ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เมื่อมองลึกลงไปในแต่ละยุทธศาสตร์ว่านำไปสู่การพัฒนาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ปรากฏว่าพอดูแล้วชักไม่แน่ใจ เนื่องจากเป็นรายจ่ายประจำสูงถึง 79 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 18.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เป็นส่วนที่เอามาพัฒนา บวกกับงานวิจัยบอกว่าปัจจุบันโครงการต่างๆ ของภาครัฐ งบรั่วไหล 20-30 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นงบพัฒนา 18 เปอร์เซ็นต์ รั่วไหลไปอีก แทบไม่เหลือส่วนที่งอกเงยเลย
“ดูงบต่างๆ คนที่มีอำนาจสั่งจ่ายมากสุดพบว่าคือนายกฯ งบรายกระทรวง หรืองบกลาง 17.7 เปอร์เซ็นต์ นายกฯเป็นคนสั่งจ่ายเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พ่วงด้วยเงินกองทุนและเงินหมุนเวียน 6.9 เปอร์เซ็นต์ พ่วงสำนักนายกฯ อีก 0.9 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วฟาดไปประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ แล้วนายกฯคนนี้มีความสามารถที่จะใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับประเทศหรือเปล่า เงินในมือแกมีถึง 1 ใน 4 ของงบประมาณเลยนะ ถึงน่าห่วง ซึ่ง 1 ใน 4 ของ 2.4 ล้านล้าน ก็ล่อไปประมาณ 5 แสนล้านบาทแล้ว ฉะนั้นใครจะรบราฆ่าฟันยังไง ขออยู่อย่างนี้แหละ ทักษิณจะกลับหรือไม่ ไม่เป็นไร สบายแล้ว มีงบในมือ 5 แสนล้าน” นายณรงค์กล่าว
นายณรงค์กล่าวอีกว่า วินัยทางการคลังของรัฐบาลมันมักง่าย เราสามารถมีแหล่งเงินโดยที่ไม่ต้องกู้ แต่ทำไมไม่ใช้ เช่น ปีนี้เราเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมได้ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 12-13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ได้ภาษีจากกำไรประมาณ 8-9 หมื่นล้าน โจทย์ง่ายๆคือปิโตรเลียมเป็นเส้นเลือดอุตสาหกรรม เราไม่ควรปล่อยให้เลือดถูกถ่ายเทไปอยู่ที่คนอื่น วิธีป้องกันก็คือเก็บค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งกำไรสูงๆ แต่ของเราเวลาขาดแคลนใช้วิธีขึ้นราคากับคนในชาติ บอกว่าจะได้ประหยัด แต่ปล่อยต่างชาติมาขุดถูกๆ ทั้งนี้ถ้าเราเพิ่มค่าภาคหลวงและส่วนแบ่งรายได้ อาจได้ถึง 2 แสนล้านบาท แต่ทำไมไม่ทำ
ทองคำก็เช่นกัน ปล่อยต่างชาติมาขุดถูกๆ เอาไซยาไนด์มาลงในดิน ทำชาวบ้านเดือดร้อนเราควรเก็บค่าภาคหลวงแพงๆ เอามารักษาชาวบ้าน แต่นี่เก็บ 3-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นทำไมไม่เก็บ 20 เปอร์เซ็นต์ และยังมีอีกหลายตัวที่เราสามารถเพิ่มค่าภาคหลวงได้ โดยจะช่วยให้รัฐไม่ต้องกู้เลย ในเมื่อทรัพยากรเป็นของทุกคน แต่ทำไมผลประโยชน์ไม่ตกที่ประชาชน
ด้าน นายอัมรินทร์กล่าวว่า เรื่องงบประมาณ ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็มาแบบนี้ทั้งนั้น ถ้านักการเมืองไทยไม่ได้เข้ามาเพื่อประชาชน ก็ไม่ต่างอะไรกับมาเฟีย การอภิปรายก็แค่ละคร เหมือนกันทุกรัฐบาล ลองย้อนดูเทปเก่าๆ ได้เลย ฉะนั้นถ้าประชาชนไม่รู้จักเลือกคนที่ซื่อสัตย์สุจริตเข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนนั่นแหละที่จะประสบความวิบัติ