xs
xsm
sm
md
lg

เงินไหลเข้าชะลอ ธปท.ยันบาทสมดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติเผยเงินทุนไหลเข้าชะลอตัวและพ่อค้าทองคำซื้อทองในช่วงราคาตก ส่งผลเงินบาทอ่อนค่า ยอมรับต่างกับสัปดาห์ก่อนที่บาทแข็งค่า แต่ภาพรวมเงินทุนไหลเข้า-ออกยังไม่ผิดปกติ

นายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นหรือพันธบัตรมากนัก ต่างกับช่วงก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนสนใจลงทุนพันธบัตรไทยค่อนข้างมาก การชะลอตัวดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าหรือเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"ปัจจัยต่างๆ ในตลาดเงินยังไม่เพียงพอจะกำหนดทิศทางที่ชัดเจนได้ แต่เท่าที่ดูเม็ดเงินที่ดิวของพันธบัตรทรงๆ ตัว จึงยังไม่ถึงขั้นทำให้เงินทุนไหลเข้าหรือออกผิดปกติ ขณะที่ความต้องการซื้อและขายเงินบาทมีความสมดุลมากขึ้น” นายสิงห์ชัยกล่าว

ส่วนสัปดาห์ก่อน เงินบาทแข็งค่าขึ้นในระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกิดจากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากสหรัฐประกาศตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้น ทำให้เกิดภาวะที่นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk on) และส่งผลให้เงินยูโรและเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น แต่สัปดาห์นี้ภาพกลับกันข่าวในเชิงลบออกมามาก ไม่ว่ากรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทบทวนอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเอเชียใหม่ ความกังวลข่าวในยุโรปกรณีของสเปน เป็นต้น

"ข่าวร้ายที่ออมามากในสัปดาห์นี้ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนและราคาทองคำลดลง จึงมีคนไทยบางส่วนที่เป็นพ่อค้าทองคำหันมาซื้อดอลลาร์ เพื่อซื้อทองคำเก็บไว้ ทำให้เงินบาทและสกุลเงินภูมิภาคอ่อนค่าเข้าไปอีก"

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เงินบาทจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหลักและสกุลเงินในภูมิภาค ยกเว้นไม่มีปัจจัยอื่น เงินบาทก็จะอิงกับสกุลเงินยูโร ซึ่งก็จะเกิดภาวะ Risk on หรือภาวะ Risk off เกิดขึ้น แต่ยังยืนยันว่าค่าเงินบาทสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้ดีและขณะนี้กลไกตลาดทำงานดีขึ้นมีทั้งดีมานด์และซัพพลายที่ชัดเจน

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ระบุว่าสัปดาห์หน้าจะออกแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะแรกของปี 55-56 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการเงินทุนไหลออก 5 มาตรการ ได้แก่ 1.ยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าได้ในรายการอื่นๆ ที่มีธุรกรรมรองรับ จากเดิมให้แค่ซื้อขายสินค้าและบริการเท่านั้น 2.ให้บุคคลธรรมดานำเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ทีดีไอ)ได้อย่างเสรีเหมือนนิติบุคคล 3.การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้อนุญาตให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยทำได้และลงทุนไม่จำกัดจำนวน ส่วนรายย่อยวงเงินเท่าเดิม 20 ล้านเหรียญฯต่อปี แต่จะเพิ่มประเภทของหลักทรัพย์ให้ลงทุนได้มากขึ้น

4.บัญชีเงินฝากเป็นเงินตราต่างประเทศ (เอฟซีดี) อนุญาตให้นิติบุคคลทั้งในและนอกประเทศที่มีภาระผูกพันเป็นเงินตราต่างประเทศสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศสะสมไว้ใช้ได้โดยไม่จำกัดระยะเวลาและวงเงิน แต่บุคคลธรรมดาที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศในอนาคตได้สูงสุด 5 แสนเหรียญฯต่อปีเท่าเดิม 5.โอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศให้เพิ่มขึ้น ตามความจำเป็นของผู้นำเงินออก เพื่อรองรับการซื้อขายในการเชื่อมโยงตลาดหุ้นอาเซียนเข้าด้วยกัน (ASEAN Linkage).
กำลังโหลดความคิดเห็น