ธปท. เตือนระวังความผันผวนค่าเงินบาท คาดในสัปดาห์หน้า ธปท. จะทยอยประกาศเกณฑ์การผ่อนคลายให้นิติบุุคคล และบุคคลธรรมดาออกไปลงทุนต่างประเทศในวงเงินที่มากขึ้น และสะดวกขึ้น
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุ แต่ไม่ใช่ค่าเงินบาทเพียงสกุลเดียว อีกหลายสกุลก็อ่อนค่ากว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจริง อย่างไรก็ตาม ในการเปรียบเทียบค่าเงินบาทจะเทียบเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ ต้องดูเงินสกุลของประเทศคู่ค้า และคู่แข่ง (NEER ) ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาถ้าดูจากดัชนี NEER ประเทศไทยไม่ได้เสียเปรียบคู่ค้า และคู่แข่ง
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะต่อไปถ้าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น เงินบาทก็ควรสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการปรับตัวแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ระยะต่อไปโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาไทยมีน้อยลง เพราะโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดหุ้นน้อยลงเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นร้อนแรงมากแล้ว อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือพีอี เรโช สูงถึง 17 เท่า ขณะที่ค่างินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาพอสมควรจากต้นปี 2555 ถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.7 และมีค่าความผันผวนประมาณร้อยละ 5 แต่โอกาสความผันผวนของค่าเงินบาทมีมากขึ้น จากมาตรการผ่อนคลายการลงทุนต่างประเทศของ ธปท.
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า ธปท. จะทยอยประกาศเกณฑ์การผ่อนคลายให้นิติบุุคคล และบุคคลธรรมดาออกไปลงทุนต่างประเทศในวงเงินที่มากขึ้น และสะดวกขึ้น เช่น เปิดให้บุคคลธรรมดาที่เดิมสามารถลงทุนต่างประเทศไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นลงทุนได้เสรี ขยายวงเงินให้นักลงทุนสถาบัน 8 ประเภทไปลงทุนในต่างประเทศเสรี จากเดิมกำหนดว่าต้องมียอดคงค้างต่อราย 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และ อนุญาตให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงทุนได้ไม่จำกัดวงเงิน และอนุญาตให้เปิดบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศอย่างเสรี ซึ่งการผ่อนคลายเกณฑ์เหล่านี้จะมีผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนมากขึ้น แต่ ธปท. มั่นใจดูแลได้