ผลดำเนินงานแบงก์ชาติไตรมาสแรกขาดทุนแล้ว 1 แสนล้าน ผลจากการเข้าดูแลค่าเงินที่ผันผวน จนทุนติดลบรวมกับปีก่อนเพิ่มเป็น 4 แสนล้าน "ดร.โกร่ง" รุกคืบ สั่งตั้งทีมเฉพาะกิจสางหนี้ แก้ปัญหาทุนติดลบและฐานะขาดทุนสะสมสูง เกรงกระทบความเชื่อมั่นของธนาคารกลาง
นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการธปท. (กกธ.) หรือบอร์ดแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ นายวีรพงษ์ รางมางกูร ประธานคนใหม่ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการขาดทุนงบการเงินของ ธปท.ซึ่งเห็นว่าปัจจุบันขาดทุนอยู่และยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นหากปล่อยไว้ถึงจุดหนึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นของธนาคารกลางไทยได้ จึงฝากการบ้านให้ฝ่ายบริหาร ธปท.กำหนดเป้าหมายและแผน พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาหนึ่งชุด เพื่อดูแลด้านนี้เฉพาะและสามารถหารือร่วมบอร์ดแบงก์ชาติได้
“ธปท.ได้รายงานว่า ณ ช่วงปลายปีก่อน ธปท.มีส่วนของทุนติดลบประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เมื่อถึง ณ ไตรมาสแรกของปีนี้ ค่าเงินบาทขึ้นลงเรื่อยๆ ซึ่งค่อนข้างผันผวน ทำให้ส่วนของทุนติดลบขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสน ซึ่งแสดงว่า ธปท.ขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่เท่าที่ดูข้อมูลขณะนี้เชื่อว่า ช่วงไตรมาสสองของปีนี้ทุนติดลบต่ำกว่าปลายปีก่อน คือ 3 แสนล้านบาท
เพราะเงินบาทอ่อนค่าลง แสดงว่าช่วงไตรมาสสอง ธปท.จะเริ่มมีกำไรกลับมา 1 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้ ต้นตอของปัญหานี้ที่สำคัญ เนื่องจากธปท.มีต้นทุนแพงกว่าจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่าย (negative carry)ในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับเงินบาท ซึ่งแนวโน้มส่วนนี้เพิ่มขึ้น อีกทั้งสินทรัพย์ที่มีอยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ ซึ่งคือ ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศก็ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ถือว่าซ้ำเติมไปอีก ขณะที่ ธปท.ได้ชี้แจงว่าการขาดทุนดังกล่าวมีที่มาที่ไปและทุกประเทศก็เจอปัญหากันหมด บางประเทศหนักกว่าไทย แต่ธปท.จะนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณา
อย่างไรก็ตาม การฝากการบ้านในครั้งนี้ ทางบอร์ดแบงก์ชาติยังไม่ได้ระบุช่วงเวลาส่งเรื่องนี้กลับมาให้พิจารณาว่าจะเป็นช่วงเวลาใด เพราะให้เป็นหน้าที่ของธปท.กลับไปพิจารณา อีกทั้งบอร์ดแบงก์ชาติยังต้องการให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีทั้งกรรมการในบอร์ดแบงก์ชาติร่วมกับผู้บริหารธปท.ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการหารือในประเด็นการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) ที่เหลืออยู่ 1.14 ล้านล้านบาท เช่นกัน แต่ในที่ประชุมไม่ได้ติดใจเรื่องอะไร เพราะเห็นว่ามีแนวทางกำหนดไว้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องช่วงเวลาจะชำระหนี้ได้เร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเงินฝากจะโตตามภาวะเศรษฐกิจไทย ขณะที่ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มีการหารือในการประชุมครั้งนี้.
นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการธปท. (กกธ.) หรือบอร์ดแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ นายวีรพงษ์ รางมางกูร ประธานคนใหม่ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการขาดทุนงบการเงินของ ธปท.ซึ่งเห็นว่าปัจจุบันขาดทุนอยู่และยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นหากปล่อยไว้ถึงจุดหนึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นของธนาคารกลางไทยได้ จึงฝากการบ้านให้ฝ่ายบริหาร ธปท.กำหนดเป้าหมายและแผน พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการมาหนึ่งชุด เพื่อดูแลด้านนี้เฉพาะและสามารถหารือร่วมบอร์ดแบงก์ชาติได้
“ธปท.ได้รายงานว่า ณ ช่วงปลายปีก่อน ธปท.มีส่วนของทุนติดลบประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เมื่อถึง ณ ไตรมาสแรกของปีนี้ ค่าเงินบาทขึ้นลงเรื่อยๆ ซึ่งค่อนข้างผันผวน ทำให้ส่วนของทุนติดลบขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสน ซึ่งแสดงว่า ธปท.ขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่เท่าที่ดูข้อมูลขณะนี้เชื่อว่า ช่วงไตรมาสสองของปีนี้ทุนติดลบต่ำกว่าปลายปีก่อน คือ 3 แสนล้านบาท
เพราะเงินบาทอ่อนค่าลง แสดงว่าช่วงไตรมาสสอง ธปท.จะเริ่มมีกำไรกลับมา 1 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้ ต้นตอของปัญหานี้ที่สำคัญ เนื่องจากธปท.มีต้นทุนแพงกว่าจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่าย (negative carry)ในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับเงินบาท ซึ่งแนวโน้มส่วนนี้เพิ่มขึ้น อีกทั้งสินทรัพย์ที่มีอยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ ซึ่งคือ ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศก็ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ถือว่าซ้ำเติมไปอีก ขณะที่ ธปท.ได้ชี้แจงว่าการขาดทุนดังกล่าวมีที่มาที่ไปและทุกประเทศก็เจอปัญหากันหมด บางประเทศหนักกว่าไทย แต่ธปท.จะนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณา
อย่างไรก็ตาม การฝากการบ้านในครั้งนี้ ทางบอร์ดแบงก์ชาติยังไม่ได้ระบุช่วงเวลาส่งเรื่องนี้กลับมาให้พิจารณาว่าจะเป็นช่วงเวลาใด เพราะให้เป็นหน้าที่ของธปท.กลับไปพิจารณา อีกทั้งบอร์ดแบงก์ชาติยังต้องการให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีทั้งกรรมการในบอร์ดแบงก์ชาติร่วมกับผู้บริหารธปท.ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการหารือในประเด็นการชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุนฟื้นฟูฯ) ที่เหลืออยู่ 1.14 ล้านล้านบาท เช่นกัน แต่ในที่ประชุมไม่ได้ติดใจเรื่องอะไร เพราะเห็นว่ามีแนวทางกำหนดไว้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องช่วงเวลาจะชำระหนี้ได้เร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเงินฝากจะโตตามภาวะเศรษฐกิจไทย ขณะที่ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มีการหารือในการประชุมครั้งนี้.