xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ยงยุทธ”ทิ้งเก้าอี้ สละชีพรักษา"ระบอบแม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ แถลงลาออกจากหัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เมื่อ 4 ต.ค.2555
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุดนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปก่อนหน้านี้

มองผิวเผิน อาจดูเหมือนว่านี่คือการแสดงสิปิริตของนายยงยุทธ ต่อการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง กรณีนายยงยุทธขณะดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยปฏิบัติหน้ามิชอบด้วยการเซ็นรับรองการซื้อขายที่ดินของสนามกอล์ฟอัลไพน์อันที่เป็นที่ธรณีสงฆ์

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 ชี้มูลนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา และส่งเรื่งให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการสั่งโทษตามฐานความผิด ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2555 แล้ว

หลังจากนั้นราวกลางเดือนสิงหาคม 2555 ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งโทษตามฐานความผิด คือ ปลดออก หรือให้ออก ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจากที่ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วไม่ได้ โดยกระทรวงมหาดไทยจะต้องดำเนินการสั่งการภายใน 30 วันนับจากที่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. ซึ่งตามกฎหมายคนที่จะพิจารณาโทษของคนทำหน้าที่ปลัด คือ รัฐมนตรี

นั่นหมายถึงว่า นายยงยุทธในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะต้องสั่งลงโทษนายยงยุทธในฐานะปลัดกระทรวงฯ ที่กระทำความผิด

นายยงยุทธจึงลังเลอยู่นาน จนกระทั่งนายอภินันท์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการ ป.ป.ช.ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ว่า ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยแล้ว เพื่อให้นายยงยุทธดำเนินการตามมติของ ป.ป.ช. ซึ่งหากนายยงยุทธไม่กล้าที่จะสั่งลงโทษตัวเอง ก็ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการแทนได้

แล้วก็ไม่ผิดจากการคาดหมายนัก เมื่อนายยงยุทธไม่ดำเนินการให้มีการลงโทษตัวเอง แต่ได้โยนเรื่องไปให้คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.กพ.)กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ลงมติว่าจะลงโทษหรือไม่แทน

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า จะมีการใช้ พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 ลบล้างความผิดให้นายยงยุทธ จนนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ต้องออกมาปรามว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะ พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 มีเจตนาล้างมลทินให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดก่อนวันที่ 5 ธ.ค. 2550 แต่นายยงยุทธเพิ่งจะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงในวันที่ 13 มิ.ย. 2555 ก็เท่ากับยังไม่เคยมีความผิดมาก่อน

  แล้วก็ไม่ผิดคาดอีกเช่นเคย เมื่อนายพระนาย สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธาน อ.กพ.กระทรวงมหาดไทยแถลงมติที่ประชุม อ.กพ.เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ว่า ให้ไล่ออกนายยงยุทธจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามที่ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิด

แต่นั่นไม่ได้หมายว่า อ.กพ.กระทรวงมหาดไทย เห็นว่า การกระทำของนายยงยุทธมีความผิดตามที่ ป.ป.ช.กล่าวหา นายพระนายแถลงชัดเจนว่า การพิจารณาของ อ.กพ.กระทรวงมหาดไทยนั้น เห็นว่า นายยงยุทธไม่มีความผิด แต่ อ.กพ.ก็ต้องพิจารณาโทษตามมติ ป.ป.ช.เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ จึงเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งลงโทษตามฐานความผิดให้ออกจากราชการ ตามระเบียบ ข้อ 15 ของ อ.ก.พ.

ประเด็นสำคัญ คือให้คำสั่งลงโทษดังกล่าวมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 นับตั้งแต่วันที่นายยงยุทธเกษียณราชการแล้วนำไปอ้างว่า นายยงยุทธอยู่ในหลักเกณฑ์การล้างมลทินตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษ หรือถูกลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ
  
      ทำให้นายยงยุทธไม่ขาดคุณสมบัติของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรัฐมนตรี ส.ส.หรือหัวหน้าพรรค
    
    เมื่อนักข่าวถามนายพระนายถึงข้อสังเกตที่นายยงยุทธยังไม่เคยได้รับโทษในกรณีนี้มาก่อนจะเข้าข่ายการล้างมลทินหรือไม่นั้น นายพระนายเลี่ยงก็ที่จะตอบ โดยให้ไปสอบถามกับนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญเอง แต่ยืนยันว่า อ.ก.พ.ได้พิจารณาข้อกฎหมายอย่างถี่ถ้วนแล้วโดยอ้างอิงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

เป็นอันว่า นายยงยุทธได้ผ่านการฟอกผิดจาก อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทยโดยเสร็จสรรพ

และตัวเขาเอง ก็ไม่ยอมรับว่าได้กระทำความผิด โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายยงยุทธยังคงให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า กรณีที่ตนได้ใช้อำนาจรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยรับรองการซื้อขายที่ดินวัดธรรมาธิการราม กับบริษัทอัลไพน์นั้น ดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และยืนยันว่า ได้ทำตามเจตนารมณ์ของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่บริจาคที่ดินให้กับวัดธรรมมิการาม โดยอ้างว่าเรื่องนี้ทางมหาเถรสมาคมก็ได้มีหนังสือรับรองแล้ว

ทั้งที่โดยข้อกฎหมายนั้น ที่ดินที่มีผู้บริจาคให้วัดถือเป็นที่ธรณีสงฆ์ ไม่สามารถนำมาซื้อขายกันได้

อย่างไรก็ตาม คนทำอะไรผิดย่อมรู้อยู่แก่ใจ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ก.ย. นายยงยุทธจึงไม่เป็นประธานการประชุมแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังอยู่ระหว่างการไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะที่นายยงยุทธเป็นรองนายกฯ อันดับ 1 โดยให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ อันดับ 2 เป็นประธานการประชุมแทน

กระนั้นก็ตาม นายยงยุทธยังคงยืนยันว่า ตนเองไม่มีความผิดและจะไม่ลาออก พร้อมโบ้ยให้นักข่าวไปถาม อ.กพ. กับคณะกรรมการกฤษฎีกาเอาเอง ส่วนที่ไม่เข้าประชุม ครม.นั้น อ้างว่า เป็นเพราะนายกฯ โทรศัพท์มาสั่งการให้ไปดูน้ำท่วมที่จังหวัดจันทบุรีเป็นการด่วน

เมื่อยังดื้อรั้น นายยงยุทธจึงถูกแรงกดดันถาโถมเข้าใส่ ทั้งจากคนในพรรคเพื่อไทยเอง ที่ต้องการนั่งเก้าอี้แทนนายยงยุทธ จึงมีกลุ่มเสื้อแดงจากจังหวัดสุรินทร์ออกมาเคลื่อนไหวให้นายยงยุทธลาออก

ขณะที่กลุ่มกรีนได้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.)ตรวจสอบว่านายยงยุทธมีคุณสมบัติในการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและเป็นผู้สมัคร ส.ส.หรือไม่ นั่นเพราะหาก อ.กพ.มีมติให้นายยงยุทธมีความผิดย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 ก.ย.2545 ก็เท่ากับว่า นายยงยุทธขาดคุณสมบัติการเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง รวมทั้งคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.และขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีด้วย

ส่วนพรรคฝ่ายค้าน ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเข้าชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายยงยุทธด้วย

แรงกดดันเหล่านี้ คงไม่เท่าแรงกดดันภายในพรรค โดยเฉพาะความเห็นจากนายใหญ่ที่เห็นว่า หากนายยงยุทธยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ต่อไป จะทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

กระแสข่าวที่ว่ามีคำสั่งจากทางไกลให้นายยงยุทธลาออกดังกระหึ่มตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. นายยงยุทธจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยในวันต่อมา

แต่แรงกดดันก็ยังถาโถมเข้าใสนายยงยุทธไม่หยุด โดยเฉพาะเมื่อ ก.ก.ต.เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัตินายยงยุทธ และพรรคประชาธิปัตย์รวบรวมรายชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายยงยุทธเรียบร้อยแล้ว

นายยงยุทธจึงได้ประกาศขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. โดยอ้างว่า ถึงแม้ อ.ก.พ.กับคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความทางกฎหมายให้ตนสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่ตนขอลาออกเพื่อแสดงจริยธรรมของนักการเมือง

นั่นเท่ากับว่า นายยงยุทธไม่ได้สำนึกผิดแม้แต่น้อย และไม่ยอมรับความจริงว่า ที่ต้องลาออก เพราะตนเองถูกดดันอย่างหนักจากรอบด้านจนไม่เหลือทางออกอื่น โดยเฉพาะหากมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญหรือ ก.ก.ต.ออกมา อาจทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบ รัฐบาลนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจถึงคราวหมดอำนาจลงอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น