ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-บมจ.บ้านปู เจอศึกหนักทั้งราคาถ่านหินอ่อนตัวลงมากจากผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจโลก ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ศาลแพ่งมีคำสั่งให้บ้านปูและบริษัท บ้านปู เพาเวอร์จำกัด จ่ายเงินค่าเสียหายให้กับนายศิวะ งานทวีและพวกรวมเป็นเงินสูงถึง 31,000 ล้านบาท
โดยศาลแพ่งมีคำสั่งในคดีที่นายศิวะและพวกได้ยื่นฟ้องบมจ.บ้านปู และบริษัทย่อยประกอบด้วย บริษัท บ้านปูอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด นายชนินท์, นายชาญชัย ชีวะเกตุ และนายองอาจ เอื้ออภิญญกุล เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 63,500 ล้านบาท โดยระบุว่าบ้านปู บริษัทย่อยและผู้บริหารหลอกลวงโดยเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนกับนายศิวะกับพวก เพื่อประสงค์ได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินรวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา สปป.ลาว และได้ใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานเหมืองและสัญญาก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าของนายศิวะกับพวก เพื่อที่บ้านปูจะได้เข้าไปทำสัญญากับรัฐบาลลาว
ทั้งนี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งให้บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด ชำระค่าเสียหายจำนวน 4,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5%ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องที่ 30 ก.ค. 2550 ให้แก่นายศิวะกับพวก ประกอบด้วย บริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด บริษัท หงสาลิกไนท์ จำกัด บริษัท ไทยลาวเพาเวอร์ จำกัด และบริษัท เซ้าอีสท์ เอเซียเพาเวอร์ จำกัด รวมทั้งส่งคืนเอกสารข้อมูลจำเพาะต้นฉบับ 13 รายการ ให้แก่โจทย์
นอกจากนี้ ศาลฯสั่งให้บ้านปูและบริษัทย่อย ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ในอนาคตอีกนับแต่ปี 2558-2570 ในอัตราปีละ 860 ล้านบาท และในอัตราปีละ 1,380 ล้านบาท นับแต่ปี 2571 จนถึงปี 2582 ซึ่งรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 31,000 ล้านบาท โดยให้ชำระภายในวันสิ้นปีของแต่ละปี หากจำเลย ผิดนัดไม่ชำระในแต่ละปี ให้เสียดอกเบี้ยในระหว่างระยะเวลาที่ผิดนัดอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
แน่นอนว่า งานนี้บ้านปูไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล และประกาศชัดเจนว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ขณะเดียวกันก็หารือกับผู้สอบบัญชีบริษัทฯเกี่ยวกับการตั้งสำรองค่าเผื่อความเสียหายจากคดีความดังกล่าว หลังแพ้ในยกแรก
ที่ผ่านมา บ้านปูได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกลุ่มนายศิวะมาตลอดว่าไม่เป็นความจริง พร้อมชี้แจงว่านายศิวะกับพวกได้ชักชวนบ้านปูให้เข้าร่วมพัฒนาโครงการหงสา ซึ่งบ้านปูเห็นว่าเป็นโครงการที่สอดคล้องกับธุรกิจหลักที่ทำอยู่แล้ว จึงได้เข้าร่วมพัฒนาโครงการหงสาดังกล่าว แต่ในระหว่างที่ดำเนินการ นายศิวะกับพวกบอกเลิกสัญญาร่วมพัฒนาโดยไม่มีเหตุอันควร รัฐบาลลาวจึงยกเลิกข้อตกลงในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าและสัมปทานเหมืองถ่านหินที่ให้แก่นายศิวะกับพวก เพราะเกรงว่าโครงการหงสาจะต้องล่าช้าออกไปอีก
หลังจากนั้นรัฐบาลลาวได้เปิดประมูลใหม่ให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการเพื่อดำเนินโครงการหงสาต่อไปได้ ซึ่งบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประมูลด้วย รัฐบาลลาวได้พิจารณาคัดเลือกและอนุมัติให้บริษัทเป็นผู้ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการหงสา
แต่เมื่อศาลฯสั่งให้บ้านปูและบริษัทย่อยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กลุ่มนายศิวะเบ็ดเสร็จรวม 31,000 ล้านบาท ทำให้บ้านปูอยู่นิ่งไม่ได้ คงต้องหาเร่งข้อมูลเอกสารมาแก้ต่างๆ เพื่อให้พ้นผิด งานนี้คงไม่ง่าย เนื่องจากกลุ่มนายศิวะชี้ความมั่นใจหลักฐานในมือ โดยก่อนหน้านี้ บริษัทไทยลาวลิกไนต์ได้ยื่นฟ้องรัฐบาล ผิดสัญญายกเลิกสัมปทานโครงการหงสาต่ออนุญาโตตุลาการ ผลปรากฏว่าศาลที่สหรัฐฯพิพากษาให้รัฐบาลลาวแต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับไทยลาวลิกไนต์เป็นเงิน 56 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเดือนส.ค. 2554 ซึ่งขณะนี้ระหว่างการดำเนินการบังคับใช้
นายธีระพันธ์ เพ็ชร์สุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักงาน ฟาร์อีสท์ (ประเทศไทย ) จำกัด ในฐานะทนายความ ของกลุ่มนายศิวะ อยู่ระหว่างการรอคัดคำพิพากษาก่อนพิจารณายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล เนื่องจากเห็นว่าการชดใช้ค่าเสียหายจากบ้านปูต่ำกว่าที่ยื่นคำฟ้องไว้มากถึง 63,500 ล้านบาท
พร้อมยืนยันว่าตัวเลขที่ฟ้องร้องกว่า 60,000 ล้านบาทเหมาะสม คำนวณมาจากรายได้ที่ควรได้ทั้งธุรกิจเหมืองถ่านหินที่นายศิวะจะได้ต้องจากค่ารอยัลตี้ของถ่านหินที่ขุดได้จากเหมืองตันละ 1 เหรียญฯเศษ จากปริมาณถ่านหินที่ใช้ในโรงไฟฟ้าหงสาอยู่ที่ 350 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 20,000 ล้านบาท ค่าข้อมูลที่กลุ่มบ้านปูนำไปใช้ 4,000 ล้านบาท ค่าสัมปทานโรงไฟฟ้าอีก 3 หมื่นกว่าล้านบาท รวมทั้งกำไรที่กลุ่มนายศิวะควรจะได้หากทำโรงไฟฟ้าตลอด 25 ปีตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยโรงไฟฟ้าหงสาจะทำกำไรตลอดอายุสัญญา 25 ปีเกือบ 100,000ล้านบาท
เชื่อว่าคดีนี้คงสู้ถึง 3ศาล ใช้เวลานาน 3-5 ปีกว่าจะสิ้นสุด ไม่ใครก็ใครก็จะชนะ หรือแพ้ แต่ที่แน่ๆ ผู้ถือหุ้นบ้านปูเจ๊งก่อน เพราะราคาหุ้นร่วงอย่างไม่ทันตั้งตัว