xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งจ่าย 3 หมื่นล้าน! บ้านปูแพ้คดีโครงการถ่านหินในลาวต่อกลุ่ม “ศิวะ งานทวี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - “บ้านปู” อ่วม! ศาลสั่งจ่ายชดเชยความเสียหาย ให้ “กลุ่มศิวะ งานทวี และพวก” กรณีข้อพิพาทโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา ลาว ด้วยเงิน 31,000 ล้านบาท ด้านทนายความเชื่อเรื่องไม่ยุติง่ายๆ เหตุเม็ดเงินต่ำกว่าประเมิน ด้านบ้านปูเตรียมยื่นอุทธรณ์ กดราคาหุ้นร่วง 6 บาท

วันนี้ (20 ก.ย.) ศาลพิพากษากรณีคดีความระหว่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และนายศิวะ งานทวี และกลุ่มบริษัทของนายศิวะ ซึ่งได้ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อ BANPU และบริษัทย่อย ประกอบด้วย บริษัท บ้านปูอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด นายชนินท์ นายชาญชัย ชีวะเกตุ และนายองอาจ เอื้ออภิญญกุล โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 63,500 ล้านบาท และผู้บริหารของบริษัทฯ ซึ่งเป็นคดีความตั้งแต่ปี 50 นั้น

โดยกล่าวอ้างว่า BANPU บริษัทย่อย และผู้บริหารทำการหลอกลวงโดยเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนกับนายศิวะกับพวก ประกอบด้วย บริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด บริษัท หงสาลิกไนท์ จำกัด บริษัท ไทยลาวเพาเวอร์ จำกัด และบริษัท เซ้าอีสท์ เอเซียเพาเวอร์ จำกัด เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหิน รวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (โครงการหงสา) หลังจากนั้น ใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จ ทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานเหมืองถ่านหิน และสัญญาก่อสร้าง และดำเนินกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าของนายศิวะกับพวกเพื่อที่ BANPU จะได้เข้าทำสัญญากับรัฐบาลลาวเอง

อย่างไรก็ดี วันนี้ศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คือ BANPU ส่งคืนเอกสารข้อมูลจำเพาะต้นฉบับ 13 รายการ ให้แก่โจทก์ทั้ง 5 คือ กลุ่มนายศิวะและพวก กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายอีก 4 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว ตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องเมื่้อ 3 ก.ค.50) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้ง 5 และให้จำเลยที่ 1 และ 3 ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ในอนาคตอีกนับแต่ปี 58-ปี 70 ในอัตราปีละ 860 ล้านบาท และในอัตราปีละ 1,380 ล้านบาท นับแต่ปี 71 จนถึงปี 82 ซึ่งรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 31,000 ล้านบาท

โดยให้ชำระภายในวันสิ้นปีของแต่ละปี หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดนัดไม่ชำระในแต่ละปี ให้เสียดอกเบี้ยในระหว่างระยะเวลาที่ผิดนัดอีกร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นที่ผิดนัดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้ง 5 โดยกำหนดค่าทนายความ 5 ล้านบาท ยกฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของโจทก์ที่ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 และในส่วนของฟ้องแย้งเป็นพับ

นายธีระพันธ์ เพ็ชร์สุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสำนักงาน ฟาร์อีสท์ (ประเทศไทย ) จำกัด ในฐานะทนายความของกลุ่มนายศิวะ เปิดเผยว่า ผลการตัดสินดังกล่าวคงไม่ยุติเพียงเท่านี้ เพราะ BANPU เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นจึงเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องทำต่อไป ดังนั้น เป็นไปได้ที่ BANPU จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแน่นอน

“ส่วนเราก็จะยื่นอุทธรณ์เช่นกัน เพราะมูลค่าความเสียหายที่ศาลพิพากษาออกมาคำนวณออกมาแล้วโจทก์จะได้เงินเพียง 31,000 ล้านบาท แต่เขายื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายไป 63,000 ล้านบาท ตัวเลขได้ไม่ถึงครึ่ง หากนำตัวเลขการจ่ายตามคำสั่งศาลมาคำนวณแล้วมันจะต่ำลง เพราะต้องมองถึงหลักการในอนาคตด้วย ซึ่งจะต้องใช้การคำนวณตามที่ต้องนำ NPV (net present value) ซึ่งเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ซึ่งหากนำมาคำนวณในวันข้างหน้ามูลค่าก็อาจถูกลดทอนลงไปอีก คือ คงไม่ได้ตามตัวเลขที่ศาลสั่ง ทั้งที่โจทก์ก็เสียหายจากการกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุน ณ ขณะนั้นเกือบ 8 พันล้านบาท ค่าเสียโอกาส และอื่นๆ ผมว่ามันคงไม่จบง่ายๆ หรอกครับ”

ขณะที่ BANPU แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว บริษัทไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาของศาลแพ่ง และจะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อไป

สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.(บ้านปู) วันนี้ (20 ก.ย.) ปิดที่ระดับ 442.00 บาท ลดลง 6.00 บาท หรือ 1.34% มูลค่าการซื้อขาย 1,236.50 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า (19 ก.ย.) ที่อยู่ในระดับ 448.00 บาท

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า โครงการเหมืองแร่หงสา มีทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 และเริ่มเข้าก่อตั้งบริษัทในพื้นที่ปี พ.ศ.2545 โครงการประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรก การทำเหมืองแร่เพื่อป้อนลิกไนต์ให้โรงไฟฟ้า ส่วนที่สอง โรงไฟฟ้าถ่านหิน รัฐบาลลาวได้เซ็นสัญญาสัมปทานสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานกับบริษัทหงสาเพาเวอร์เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เป็นมูลค่า 847 พันล้านกีบ

เหมืองแร่ และโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสาตั้งอยู่ที่เมืองหงสา ของจังหวัดไชยบุรี ในประเทศลาว ห่างจากใจกลางเมืองหงสาประมาณ 10 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนไทยที่จังหวัดน่านเพียง 30 กิโลเมตรเท่านั้น และห่างจากเวียงจันทน์กว่า 300 กิโลเมตร ลักษณะของเหมืองเป็นเหมืองเปิดคล้ายกับเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง มีพื้นที่เหมืองประมาณ 76.2 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เหมืองมีลักษณะเป็นป่า มีชุมชนที่จะต้องโยกย้าย จำนวน 6 หมู่บ้าน จำนวน 400 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ

การทำเหมืองถ่านลิกไนต์ มีผู้ถือหุ้นคือ ลาวโฮลดิ้งสเตสเอนเตอร์ไพส (LHSE) ถือหุ้น 25% ในกิจการเหมืองลิกไนต์ และบริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (BPP) ถือหุ้น 37.5% ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) คือ ถือหุ้น 37.5% ส่วนที่สอง โรงไฟฟ้าลิตกระแสไฟฟ้า ลาวโฮลดิ้งสเตสเอนเตอร์ไพส (LHSE) ถือหุ้น 20% และบริษัทบ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (BPP) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 40% มีการลงนามข้อตกลงกับบริษัท การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 302 พันล้านกีบ (3.7 พันล้านดอลลาร์) มีกำหนดที่จะเริ่มต้นภายในสิ้นปี พ.ศ.2553

โรงไฟฟ้าหงสาจะเป็นโรงไฟฟ้าลิกไนต์แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในลาว มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,878 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร ตามข้อตกลงในเดือนธันวาคม พ.ศ.2550 ระหว่างรัฐบาลลาวและไทย ลาวจะเริ่มส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า 7,000 เมกะวัตต์ ให้ประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2553 สำหรับโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสานั้น มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ประเทศไทย โดยบริษัทหงสาเพาเวอร์ จำกัด (HPC) ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในเดือนเมษายน พ.ศ.2553 จำนวน 1,473 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 25 ปี ทันทีที่โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องในปี พ.ศ.2558 กำลังการผลิตที่เหลือระหว่าง 100-170 เมกะวัตต์ จะถูกจ่ายให้แก่การไฟฟ้าลาว Electricite du Laos (EDL) เพื่อใช้ภายในประเทศ กับส่วนที่เหลือจะถูกใช้ในโครงการการทำเหมืองถ่านหิน และการดำเนินงานผลิตไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าหงสาถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 จะเริ่มจ่ายไฟจากโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1-2 จำนวน 982 เมกะวัตต์ ภายในเดือนพฤษภาคม 2558 และโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 3 จะจ่ายไฟฟ้า 491 เมกะวัตต์ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น