xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.โวแท็บเล็ต ป.1 ลดช่องว่างการศึกษา “เด็กชายขอบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.เดินหน้ากระจายเครื่องแท็บเล็ตให้กลุ่ม “เด็กชายขอบ” ได้มีสิทธิได้ใช้แท็บเล็ต สร้างความเท่าเทียมลดช่องว่างการศึกษา พร้อมเร่งเครื่องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและสังคม

วันนี้ (16 ส.ค.) ที่โรงเรียนบ้านวังใหญ่ อ.ไทรโยก จ.กาญจนบุรี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “แท็บเล็ตช่วยลดช่องว่างทางสังคมอย่างไร” เพื่อสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้เครื่องแท็บเล็ตในการเรียนการสอน โดยเฉพาะพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ที่มีเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้งชาวพม่า มอญ และกะเหรี่ยง ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหน้่งของนักเรียนทั้งหมดให้ได้รับโอกาสในการใช้แท็บเล็ตในการเรียนรู้ เพื่อช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้จัดเสวนาเรื่องแท็บเล็ตเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยแต่ละครั้ง สพฐ.พยายามให้เห็นความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ โดยพบว่า แท็บเล็ตสามารถตอบโจทย์ทางการศึกษาได้ 2 ประเด็น คือ การเข้าถึงโอกาส ทางการเรียนรู้และคุณภาพการศึกษา ซึ่ง เมื่อเด็กได้รับแท็บเล็ตมาแล้ว ครู ผู้บริหารต้องปรับกระบวนการคิดใหม่ ไม่ใช่ใช้แท็บเล็ตแต่สอนแบบเดิมๆ ไม่เช่นนั้นการศึกษาก็จะย่ำอยู่กับที่ เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ต้องมีการบูรณาการเรียนการสอน และออกแบบ การเรียนรู้ให้ได้ เพื่อการเรียนรู้จากแท็บเล็ตจะได้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายชินภัทร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แท็บเล็ตไมใช่เครื่องมือที่เราสร้างขึ้นเพื่อความ หรูหรา หรือบอกว่าเราไฮเทค แต่มันจะบอกว่าเราจะปฏิวัติการเรียนรู้ทางการศึกษาอย่างไร สําหรับความคืบหน้าในการจัดสรรแท็บเล็ตนั้น ภายในเดือน ส.ค.นี้ จะสามารถจัดสรรแท็บเล็ต 400,000 เครื่อง ได้แล้วเสร็จ และจากนั้นจะจัดสรรในรอบต่อไปอีก 400,000 เครื่อง โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาออกแบบประมวลผล และสรุปปัญหาการใช้แท็บเล็ตกลับมายัง สพฐ.เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ นักวิชาการด้านการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ (ทวิภาษา) กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราเคยมีโครงการแจกหนึ่งนักเรียนหนึ่งแล็บท็อปมาแล้ว ซึ่งผู้ใหญ่มักคิดว่า แท็บเล็ตเป็นของแพงเด็กจึงไม่ควรได้ใช้ แต่เมื่อเครื่องแท็บเล็ตถูก เด็กก็มีมีโอกาสได้ใช้ โดยตนได้ทำการทดลองให้ประเทศไทยแล้วกับโรงเรียนใน จ.ลำปาง ซึ่งเด็กในโรงเรียนนั้นได้รับการแจกแล็บท็อปทุกคนทุกระดับพร้อมกัน หลังจากนั้น เราก็ตั้งคำถามว่าครูจะใช้อย่างไร และเด็กนักเรียนจะใช้เพื่ออะไร สิ่งที่ได้มามีคุณค่ามาก คือ เห็นความกระตือรือร้น ตนจึงเชื่อว่า เครื่องแท็บเล็ตที่แจกให้นักเรียนจะมีคุณค่าต่อทั้งเด็ก ครู และผู้ใหญ่ เพราะหากไม่แจกให้ และเก็บไว้ที่โรงเรียน แม้เราจะซื้อมาได้ราคาถูก ถ้าไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็จะกลายเป็นของแพง

การแจกแท็บเล็ตให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น เด็กพม่าที่มาเรียนโรงเรียน บ้านวังใหญ่ ให้ได้ใช้แท็บเล็ตเหมือนกับเด็กไทย มองว่าเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน มีสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ถ้าเรามีการเรียนการสอนแบบไม่มีคอมพิวเตอร์ เวลาที่เด็กไปทำงาน โอกาสในการทำงานก็น้อยลง แนวโน้นเกิดขึ้น โรงเรียนไม่มีการพัฒนา เด็กก็จะเบื่อหน่ายโรงเรียน ยังมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนมีกับคนไม่มี ถ้าเราไม่ให้เขาได้ใช้ ช่องว่างก็จะมีมากขึ้น” ดร.สุชิน กล่าว

ดร.ซินเธีย หม่อง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส C.D.C กล่าวว่า แท็บเล็ตถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เด็กได้เข้าถึงข้อมูลในหลายๆ ด้าน และสามารถค้นหาข้อมูลได้ทุกเวลา เพราะปัญหาที่ผ่านมา อาจจะเป็นเรื่องของภาษาและการสื่อสาร เพราะเวลาที่เด็กนักเรียนอยู่บ้านก็จะพูดภาษาถิ่นของตัวเอง และเมื่อมาเรียนที่โรงเรียนต้องพูดภาษาไทย ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะพูดภาษาไทยได้ช้า แท็บเล็ตก็จะช่วยทำให้เด็กสามารถฝึกภาษาได้ง่ายขึ้นเพราะสามารถเปิดซ้ำไปซ้ำมา และสามารถนำกลับไปศึกษาร่วมกับครอบครัวได้ด้วย

ในประเทศไทยมีผู้ใช้ภาษาที่หลากหลาย ถ้าเราสามารถเรียนรู้ร่วมกันโดยใช้อุปกรณ์แท็บเล็ตก็จะสามารถแบ่งปันความรู้ต่างๆ ร่วมกันได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่จะเพิ่มความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างกัน หลังจากเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว จะทำให้ความสัมพันธ์ในทุกๆ ด้านดีขึ้น โดยเฉพาะการทำ แท็บเล็ตมาใช้ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้นในเรื่องของการสื่อสาร” ดร.ซินเธีย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น