กาญจนบุรี - เลขา สพฐ.ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านวังใหญ่ กาญจนบุรี ติดตามความคืบหน้าการจัดส่งแท็บเล็ต พร้อมเชิญนักวิชาการชื่อดังร่วมเสวนา ภายใต้หัวข้อ “แท็บเล็ตช่วยลดช่องว่างทางสังคมได้อย่างไร”
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (16 ส.ค.) ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมด้วย ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเจ้าหน้าที่ระดับสูง เดินทางไปที่โรงเรียนบ้านวังใหญ่ หมู่ 2 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดส่งแท็บเล็ต พร้อมกำหนดการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “แท็บเล็ตช่วยลดช่องว่างทางสังคมได้อย่างไร” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ นักวิชาการด้านการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ (ทวิภาษา) ดร.ซินเธีย หม่อง ผอ.ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส c.d.r.(children SDevelopment Centre)และ มร.ไมเคิล อันเบิร์ต ผู้จัดการองค์กรไรท์ทูเพลย์ประจำประเทศไทย ครั้งนี้ มีนายอธิวัฒน์ พันธ์ประชา ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 1 กล่าวให้การต้อนรับ
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทาง สพฐ.ได้จัดส่งแท็บเล็ตจำนวนทั้งสิ้น 129,632 เครื่อง 20 จังหวัดทั่วประเทศ จากยอดรวมการจัดส่งทั้งหมดกว่า 800,000 เครื่อง และคาดว่าการจัดส่งจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2555 นี้ ซึ่งได้จัดการอบรมให้แก่วิทยากรศึกษานิเทศก์ครบแล้วจำนวน 183 เขต ซึ่งวิทยากรดังกล่าวจะสามารถขยายผลไปสู่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้เมื่อเขตพื้นที่นั้นๆ ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา หรือแท็บเล็ตแล้ว เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยนโยบาย 1 แท็บเล็ต ต่อ 1 นักเรียน ป.1 เป็น 1 ในนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมโอกาสการเข้าถึง และยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชน โดยกระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดให้มีการพัฒนาสื่อการสอนในแท็บเล็ตพีซี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็ก ป.1 ทุกคนมีความสามารถในการอ่าน รัก และสนใจในการอ่านมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาขององค์กรค์ยูเนสโกที่ต้องริเริ่มแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ และการขาดแคลนครู ทั้งนี้ สพฐ.จะนำข้อมูลการฝึกหัดของนักเรียนแต่ละคนมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน และครู ป.1 ต่อไป
“สำหรับแผนการสอนจะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อให้คุณครูสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้ครู ผู้ปกครอง เข้าใจนักเรียน และบุตรหลานของตนมากขึ้น นอกจากนั้น สพฐ.ยังได้จัดให้มีการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับแนวทางแก้ไขข้อกังวลในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ เช่น ด้านการพัฒนาสมอง หรือโรคสมาธิสั้น ด้วยการออกแบบสื่อแท็บเล็ตให้คุณครูสามารถช่วยเสริมให้มีการพัฒนาการทางสมองของนักเรียนมากขึ้น และให้ใช้แท็บเล็ตในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่าเด็กนักเรียน คือ ทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เมื่อเด็กได้รับการพัฒนาทางด้านการศึกษาจะสามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการพัฒนาประเทศจะเพิ่มขึ้นเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับอัตราการพัฒนาพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลนั้นๆ” ดร.ชินภัทรกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับโรงเรียนบ้านวังใหญ่ เป็นโรงเรียนที่อยู่ติดกับแนวชายแดนไทย-พม่าเป็นโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนไทยประมาณ 40% ส่วนอีก 60% เป็นเด็กนักเรียนชาวพม่า กะเหรี่ยง มอญ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมซึ่งสอดคล้องกับทิศทางขององค์การยูนิเซฟที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ส่วนเด็กนักเรียนชั้น ป.1 มีอยู่ทั้งหมด 25 คน ทาง สพฐ.ได้แจกแท็บเล็ตทั้งหมด 25 เครื่อง โดยมี น.ส.พัชรี จันทร์ละออ ครูประจำชั้นเป็นผู้ฝึกสอน