xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สมการที่ไม่ลงตัวของไทยพีบีเอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ในที่สุด “เทพชัย หย่อง”หรือ พี่ซิ่ว ของนักข่าว น้องชายสุทธิชัย หยุ่น ก็ต้องถอนตัวจากการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ของคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

หลังจากมีหนังสือร้องเรียนของพนักงานไทยพีบีเอส เกี่ยวกับการบริหารบุคคล โดยเฉพาะตำแหน่ง ผู้อำนวยการในไทยพีบีเอส

ทำนองเล่นพรรคเล่นพวก จนเต็มไปด้วคนที่ไม่มีความสามารถ

แปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือ การร้องเรียนระบบพรรคพวกในไทยพีบีเอส นั่นเอง

แต่ไม่มีใครเชื่อว่า เทพชัย หย่อง ถอนตัวเพราะเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้

แม้ในไทยพีบีเอส จะเต็มไปด้วยคลื่นใต้น้ำก็ตาม

จดหมายเปิดผนึกของพนักงานที่อ้างว่า มีประมาณ 200 คน ระบุว่า

ในนามของพนักงานและลูกจ้างองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มีความตระหนักถึงพันธกิจที่มีค่าขององค์กรในฐานะสื่อสาธารณะของประชาชนที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมคุณภาพและคุณธรรม มีพันธกิจในการเผยแพร่ข่าวสาร ชี้นำปัญญาสนับสนุนส่งเสริมสังคมการมีส่วนร่วมตามครรลองประชาธิปไตย ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 (มาตรา 7)

พนักงานไทยพีบีเอส ขอใช้พลังน้ำใจและอุดมการณ์ และเจตนารมณ์ที่ต้องการรักษาปกป้องสื่อสาธารณะแห่งนี้ เพื่อนำไปสู่การบูรณาการด้านโครงสร้างการบริหารจัดการทุกภาคส่วน ทุกระบบของสื่อสาธารณะ เพื่อทำให้สถาบันแห่งนี้ สร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นให้เกิดกับสังคมโดยรวม จึงขอเรียกร้องให้การตรวจสอบในประเด็นต่างๆ ตามเอกสารแนบ เพื่อนำไปสู่การบริหารงาน การบริหารคน และการบริหารการคลัง ความชอบธรรมในข้อปฏิบัติต่อไปนี้เป็นการเร่งด่วนที่สุด และทำการชี้แจงต่อพนักงานทุกภาคส่วนขององค์กรภายใน 3 วัน นับจากการยื่นคำร้องเรียน

1. ขอให้ผู้บริหาร ส.ส.ท.ทุกตำแหน่ง มีความตระหนักยึดมั่นในการบริหารงานที่โปร่งใส มีคุณธรรม เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสื่อสาธารณะเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง ละเว้นการสืบทอดอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง และให้สัตยาบรรณต่อพนักงานทุกชีวิต ที่ร่วมใช้สิทธิ์ในตั้งกระทู้ต่อคณะกรรมการตรวจสอบร้องเรียนการร้องทุกข์ของพนักงาน องค์กร/หน่วยงานอิสระภายนอก เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดอำนาจคุกคามต่อพนักงานที่ดำเนินการเรื่องร้องเรียนด้วยการกระทำใดใด ที่จะส่งผลกระทบต่อพนักงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องด้วยพนักงานใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมีในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นด้วยเจตนารมณ์ในการเรียกร้องให้เกิดการชี้แจง และตรวจสอบระบบบริหารงานในประเด็นต่างๆ

2. เรื่องการแต่งตั้ง และคัดเลือกพนักงานระดับบริหาร ซึ่งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ผู้บริหารและพนักงานระดับผู้บริหารต้องไม่มีผลประโยชน์ทั้งทางตรง และแอบแฝงตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของกรรมการผู้บริหารและพนักงาน พ.ศ.2551 ข้อ 4 (1) หลักผลประโยชน์สาธารณะ ข้อ 4 (5) หลักความโปร่งใส หากตรวจสอบประวัติจะพบว่ามีบุคลากรหลายภาคส่วนมิได้มีประสบการณ์การบริหารอย่างมืออาชีพ และ / หรือมีประสบการณ์เฉพาะด้านมาก่อน ส่งผลเสียหายต่อองค์กรเพราะจะนำมาซึ่งบุคลากรที่ไม่มีศักยภาพและคุณภาพการทำงานการทำงานมาร่วมขับเคลื่อนองค์กรในส่วนต่างๆ

ผู้บริหารที่เข้ามาด้วยความไม่ชอบธรรม และไม่ผ่านการประเมินที่ถูกต้องขาดความโปร่งใสด้วยระบบเครือข่ายดึงกันมา เพราะเป็นคนของตนเองซ้ำยังทิ้งผลงานแห่งการบริหารงานจัดการที่ล้มเหลวไว้ กระทำการซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรสื่อ ขอให้พิจารณาลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรักษาภาพลักษณ์ และอนาคตที่ดีขององค์กรสื่อสาธารณะ โดยขอให้มีการตรวจสอบผู้บริหารระดับผู้อำนวยการสำนัก ตลอดจนตำแหน่งผู้ชำนาญการ ตำแหน่งผู้จัดการที่เข้ามารับตำแหน่ง นับตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน นับตั้งแต่กระบวนการสัมภาษณ์-คัดเลือก การประเมินผลเพื่อผ่านการบรรจุเป็นผอ.สำนัก / ผู้จัดการว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์และมีความโปร่งใสอย่างไร

ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรม ของกรรมการผู้บริหาร และพนักงานพ.ศ. 2551 ตามข้อ 4 (5) หลักความโปร่งใส ผู้บริหาร ต้องแสดงให้เห็น และพร้อมชี้แจงความโปร่งใสในการกำหนดการปฏิบัติงานขององค์กร ในกรณีกระบอกเงินเดือนและ การประเมินค่างานตามโครงสร้างใหม่

โดยขอให้พิจารณาตรวจสอบฐานเงินเดือนตามความสามารถและประสบการณ์ของพนักงานนั้นๆ อย่างถูกต้องเป็นธรรม เพราะมิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดความสงสัยว่ามีเจตนาอันไม่สุจริต ตามข้อบังคับฯ ข้อ 4 (4) ว่าด้วยหลักความสุจริต

เนื่องด้วยเชื่อได้ว่า มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านกระบอกเงินเดือนของพนักงานในองค์กร
เพื่อนำไปสู่การพิจารณาทบทวนรื้อฐานปรับปรุงเงินเดือนใหม่และการปรับโครงสร้างค่างานใหม่ทั้งหมด โดยความสามารถและประสบการณ์ของพนักงานนั้นๆ อย่างถูกต้องเป็นธรรมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ โดยศึกษาจากคู่แข่งขันตลาดแรงงานในแต่ละสาขา และให้พิจารณาจากประสบการณ์ ความสามารถ และผลงานในสายวิชาชีพของพนักงานทุกชั้นทุกระดับอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดแรงงาน

3. ขอให้พิจารณาทบทวนปรับปรุงสวัสดิการการรักษาพยาบาลต่างๆ ตลอดจนอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงทั้งการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งค่าเบี้ยเสี่ยงภัย ค่าปฏิบัติงานล่วงเวลาฯลฯ

4. พนักงานที่ได้รับความไม่เป็นธรรมในเรื่องต่างๆ ที่ถูกละเลยจากการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบ ให้ความเป็นธรรม ขอให้มีการนำกลับมาพิจารณาโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะเพื่อนพนักงานที่ถูกลดตำแหน่งทั้งที่ไม่เคยกระทำความผิดทางวินัยใดใด หรือการถูกโอนย้ายไปในตำแหน่งต่างๆอย่างขาดความชอบธรรม

5. ผู้บริหารที่พึงกระทำการข่มขู่พนักงาน ทั้งด้วยวาจา หรือการกระทำใดใด ที่เป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล และขวัญกำลังใจพนักงาน ซึ่งอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตามข้อ 4 (3) และ ข้อปฏิบัติของกรรมการและผู้บริหารองค์กรต้องมีข้อประพฤติปฏิบัติ ตาม (9) (11) เนื่องด้วยคุณธรรมธรรมภิบาลล้วนเป็นนามธรรม แต่จะเป็นกรรมเวร และเวรกรรม ของท่านและตราบาปติดตัวติดใจของผู้กระทำไว้ จึงขอให้พิจารณาลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรักษาภาพลักษณ์และอนาคตที่ดีกว่าขององค์กรสื่อสาธารณะ และเปิดพื้นที่ให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาพัฒนาองค์กรได้อย่างถูกทิศทาง

6. ขอให้มีการกำหนดกลไกใหม่ ในการประเมินผลงานของระดับผู้อำนวยการทุกๆสองปี เพื่อการบริหารสื่อสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของสังคม

เป็น 6 ข้อเรียกร้องที่ดุเดือดพอสมควร

แม้ เทพชัย จะตอบแฟนคลับในเฟซบุ๊กว่า

“ขอขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่ให้ครับ มีความหมายมากครับ และขอยืนยันว่า การถอนตัวของผมไม่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของพนักงานบางส่วนของไทยพีบีเอส ที่กำลังเป็นข่าวในขณะนี้ เป็นความตั้งใจของผม ที่จะแสดงจุดยืนบางอย่างตั้งแต่ต้น”

แต่หลายคนเชื่อว่า ปัญหาการบริหารบุคคลในไทยพีบีเอส มีมากพอสมควร

ทั้งๆ ที่ในวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา เทพชัย วสันต์ ภัยหลีกลี้ สมชัย สุวรรณบรรรณ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ กับคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. เพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้ทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส”

หลังจากองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้ประกาศรับสมัครผู้อำนวยการ ระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน ถึง 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และปรากฏว่ามีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้งสิ้นรวม 5 คน เป็นชาย 4 คน ผู้หญิง 1 คน จากการพิจารณาคุณสมบัติทั่วไป ลักษณะต้องห้ามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง และวิสัยทัศน์การบริหารองค์กรสื่อ คณะกรรมการสรรหาฯ เห็นควรเสนอชื่อต่อคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. 3 คน เรียงลำดับตามวันที่รับสมัคร

แต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา เทพชัย แถลงผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัว http://www.facebook.com/thepchaiyong มีนื้อหาระบุว่า

" เช้าวันนี้ผมได้ถอนใบสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และสละสิทธิ์การเข้าแสดงวิสัยทัศน์ ต่อกรรมการนโยบายที่กำหนดไว้ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ ผมขอขอบคุณเพื่อนๆ และทุกๆ ท่านที่ให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงานของผมมาตลอด ผมมีความเชื่อมั่นว่า ไทยพีบีเอสจะเดินหน้าในฐานะสื่อสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างมั่นคงต่อไป"

แม้ไม่มีใครเชื่อว่า เทพชัย จะถอนตัวเพราะเหตุผลจากเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกเพียงฉบับเดียว

แต่เบื้องลึกเบื้องหลัง น่าจะมีเหตุผลมากกว่านั้น โดยเฉพาะเหตุผลจากการเปลี่ยนแปลงในองค์กรต้นสังกัด “เนชั่น”

เนชั่น ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากผู้ถือหุ้น โดยแต่งตั้งให้ สุทธิชัย หยุ่น เป็นประธานบริษัทคนที่สอง ต่อนายธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ และกำลังบุกเบิกธุรกิจการศึกษาอย่างเต็มตัว

หาก เนชั่น ต้องการแม่ทัพเพื่อไปผลักดันธุรกิจสื่อ เทพชัย น่าจะเหมาะสมกับภาระกิจนี้มากกว่า ผลักดันสื่อสาธารณะอย่าง ไทยพีบีเอส

นั่นทำให้ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. อธิบายนัยสำคัญของจดหมายอย่างเป็นกลางว่า “ในขณะนี้ทราบว่าเอกสารได้ส่งไปที่คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของพนักงาน ซึ่งจะมีกำหนดประชุมในวันจันทร์ที่ (30 ก.ค.) จะถึงนี้อยู่แล้ว”

“ เราถือเป็นหน้าที่ซึ่งจะต้องดูแลทุกข์สุขของพนักงานทุกคนหลายประเด็น อาทิ กระบวนการประเมินผลผู้บริหาร เรื่องสวัสดิการ ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ฝ่ายบริหารเคยได้รับข้อมูลแล้ว และกำลังพิจารณาอยู่ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นจดหมายร้องเรียนตัวจริง ส่วนตัวเลขของพนักงานที่ระบุว่าเป็นร้อยคน ก็ต้องมีหลักฐาน แต่แม้ว่าจะเป็นเพียงคนเดียวลงชื่อ เราก็จะรับฟัง ”

ผิดกับนักเคลื่อนไหวที่ไม่เคยคิดแบบคนทั่วไปอย่าง บก.ลายจุด

โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์ไม่เอาเผด็จการ หรือ บก.ลายจุด โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นผ่าน @nuling ถึงกรณีการคัดเลือก ผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส โดยระบุในหัวเรื่องว่า "ซีรีย์ ทีวีสาธารณะ TPBS ณ บัดนาว" โดยระบุว่า

"หากให้ความป็นธรรมผลงานของ TPBS ถือว่าสอบผ่าน เป็นสถานีที่มีนวัตกรรมมีความคิดสร้างสรรค์ สำหรับผมเงิน 2000 ล้าน กับช่องนี้ ผม OK แต่จุดอ่อนของ TPBS คือ มีความเป็นอาณาจักรของคนเฉพาะกลุ่มฯ พวกที่รู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะสร้างขึ้นมากับมือ และ ทีมข่าวที่เทพชัยสั่งได้ การที่เทพชัย ดึง ก่อเขต ( ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ อดีต บก.คมชัดลึก ) มานั่งเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าว โดยเริ่มต้นจากลูกจ้างชั่วคราว แล้วใส่เป็นพนักงานประจำในที่สุด ช็อกคนใน TPBS ในฐานะแฟนคลับเก่าเครือ Nation การสยายปีกจากธุรกิจสื่อ มาสู่สื่อสาธารณะ ดูไม่ดีเลย ขัดตาทุกครั้งที่เห็น"

ข้อความในเฟสบุ๊กยังระบุอีกว่า การตัดสินใจลงสมัคร ผอ.TPBS อีกครั้งของ เทพชัย หย่อง ทำให้ตนหมดใจกับเขา แต่ยังโชคดีว่า ล่าสุดเทพชัย ขอถอนตัวผู้ผ่านการคัดเลือกในการชิงชัยตำแหน่ง ผอ.TPBS เหลือ 2 คน คือ สมชัย สุวรรณบรรณ แห่ง BBC และ วสันต์ ภัยหลีกลี้ ซึ่ง วสันต์ ภัยหลีกลี้ แข่งจากตำแหน่งเดิม รอง ผอ.TPBS ส่วน สมชัย สุวรรณบรรณ ลงทุนลาออกจากกรรมการนโยบาย TPBS มาชิงดำ แม้เทพชัย จะไปแล้ว แต่คำถามคือ บุคคลากรที่เขาเคยจัดวางไว้จะไปอยู่ไหน ที่เดิม หรือ เคลื่อนย้ายตามออกไป เรื่องคนของเทพชัย ที่ดึงมาเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่พนักงานร่วมลงชื่อกว่า 2 ร้อยคน เพื่อออกจดหมายเปิดผนึก ปมร้อนที่ต้องจัดการสำหรับ ผอ.ใหม่

ดูเหมือน คนตาบอดสีแบบสมบัติ คงมองเห็นเพียง เทพชัย-ก่อเขต เท่านั้น จนทำให้ไทยพีบีเอส กลายเป็นเครือเนชั่นไป

ตรงกันข้ามกับ ผลงานวิจัยของ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง เรื่องความเป็นอิสระของทีวีสาธารณะ และการถ่ายทอดวาทกรรมและปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐ : กรณีศึกษาการชุมชุมทางการเมือง ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 พบว่า “แม้ว่าในบางช่วงทีวีไทยเป็นช่องที่เสนอข่าวการชุมนุมมากกว่าฟรีทีวีโดยเฉลี่ย แต่การที่ทีวีไทยไม่ได้เสนอข่าวที่รัฐพยายามใช้สื่อโทรทัศน์ในการทำสงครามจิตวิทยาต่อสาธารณะ ในขณะที่มีการรับและถ่ายทอดวาทกรรมต่างๆ ที่รัฐสร้างขึ้นภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง ( ซึ่งอย่างน้อยบางส่วนเป็นวาทกรรมทีเห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นเพื่อดำเนินการตอบโต้กับผู้ชุมนุมและ/หรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ) มาใช้เป็นภาษาข่าวของสถานี โดยปราศจากการตั้งคำถามหรือมุมมองที่วิเคราะห์วิจารณ์ต่อสาธารณะ”

“ การที่แทบจะไม่เสนอข่าวการแทรกแซงสื่อและการปิดกั้นเว็บไซต์ ต่างๆ ของรัฐและกองทัพ จึงทำให้ภาพของทีวีไทยในด้านความเป็นอิสระของ “สื่อสาธารณะ” ไม่ได้มีความโดดเด่นไปจากสื่อโทรทัศน์ของรัฐ หรือสื่อโทรทัศน์ทั่วไปที่มักอยู่ภายใต้วัฒนธรรมกำกับการทำงานของรัฐ และมีแนวโน้มที่จะให้พื้นที่เต็มที่กับภาครัฐ และรับวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้นมาเหมือนโดยปราศจากคำถาม หรือมุมมองวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ทีวีไทยยังไม่ได้มีภาพของสื่อที่มีความเป็นมืออาชีพและเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นความคาดหวังของคนจำนวนมากต่อทีวีไทย ในช่วงที่มีการผลักดันให้ตั้งทีวีช่องนี้ขึ้นมา”

ผลการศึกษาพบว่า “ทีวีไทยมีแนวโน้มที่ไม่เป็นอิสระหรือเข้าข้างรัฐบาลในช่วงการชุมนุมทางการเมือง ในระหว่างเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม 2553 นี้อาจจะไม่ได้หมายความว่า ทีวีไทย เข้าข้างรัฐบาลหรือกองทัพเสมอไป แต่อาจจะสะท้อนความไม่เป็นกลางหรือการเลือกข้างของทีวีไทย ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เอียงข้างฝ่ายตรงข้ามกับรัฐในการชุมนุมทางการเมืองในช่วงก่อนปี 2552 ”

ไทยพีบีเอส จึงเป็นที่ถูกตั้งคำถามจำนวนมาก บนความคาดหวังของสังคมเกินร้อยปอร์เซ็นต์ !!!
เทพชัย หย่อง
วสันต์ ภัยหลีกลี้
สมชัย สุวรรณบรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น