xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เล็งทำแผนพัฒนากองทุนเทคโนโลยีการศึกษาเสนอ กสทช.“สุชาติ” ขีดเส้น 2 สัปดาห์เสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศธ.เตรียมทำ 6 แผนงานพัฒนากองทุนเทคโนโลยีการศึกษา เล็งเสนอให้ เลขาธิการ กสทช.รับทราบก่อนกำหนดแนวทางชัดเจน ปลัด ศธ.ระบุ “สุชาติ” ให้เวลาทำงาน 2 สัปดาห์

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ครั้งที่ 1 โดยมีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าดำเนินการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาฯ จำนวน 5 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำรองเงินไว้ให้ 125 ล้าน รวมเป็น 130 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามเจตนารมณ์ ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 68 ที่ให้มีการระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนฯ จากเงินอุดหนุนของรัฐ ค่าสัมปทาน และผลกำไรนั้น อย่างไรก็ตาม นับแต่มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาฯ มาแต่ปี 2552 นั้น ยังไม่ได้มีการวางระเบียบและแผนปฏิบัติงาน ดังนั้น ในการประชุมครั้งแรกนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้ตนและที่ประชุมหารือเพื่อวางแผนงานในการจะดึงเงิน กสท.มาใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยที่ประชุมเห็นว่ามี 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ที่เรียกว่า คอนเทนต์ (content) ทางการศึกษา ควรใช้ไอซีทีในการพัฒนาสื่อ เช่น การใช้ power point ของครู การพัฒนาหลักสูตร หากสามารถนำมาไว้ในระบบก็จะสามารถดึงข้อมูลไปใช้ได้ 2.การใช้เทคโนโลยีในการสืบค้น องค์ความรู้ เช่น ที่ประชุมเห็นว่าปัจจุบันมีเว็บวิกิพีเดีย ที่รวบรวมข้อมูลไว้มากมาย เราเองก็น่าจะมีเว็บที่คล้ายกันอาจจะเป็นวิกิพีเดียไทย ที่เป็นแหล่งความรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการด้านการศึกษา และสามารถเข้าถึงการค้นหาได้ทุกที่ ทุกเวลา
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
3.แผนงานกฎหมายระเบียบ ย้อนกลับมาดูใน พ.ร.บ.เน้นแต่เรื่อง กสทช.ว่า กสทช.ต้องจัดสรรเงินมาให้กองทุน แต่อื่นๆ ก็จำเป็นต้องให้ คล้ายๆ กับภาษีที่เก็บจากน้ำเมาให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน อะไรที่เกี่ยวกับไอทีก็จะต้องมีเหมือนกันที่จะย้อนกลับมาให้การศึกษา ซึ่งจะต้องไปศึกษาว่ายังมีระเบียบกฎหมายอะไรที่สกัดให้งานนี้ไม่เดินหน้า จึงต้องไปดูว่าอะไรที่เกี่ยวกับไอทีแล้วไปเก็บเงินจากประชาชน และทำให้ผลประโยชน์จากไอทีไม่ย้อนกลับมาเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา 4.การกำหนดนโยบายและทิศทางทำงานให้ชัดเจน เดิมที่เคยร่างอาจไม่มีนโยบาย แต่ขณะนี้นโยบายของรัฐบาลชัดเจน เช่น การใช้แท็บเล็ตพีซีทางการศึกษา การเผยแพร่ให้ทุกคนได้เข้าสู่ระบบการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตตามอัธยาศัย ซึ่งไม่ได้หมายถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว แต่รวมถึงการเรียนผ่านดาวเทียม และทีวี เป็นต้น” ปลัด ศธ.กล่าว

น.ส.ศศิธารา กล่าวต่อว่า 5.ต้องมีการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการการศึกษาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอน ผู้บริหาร นักเรียน รวมถึงผู้ปกครอง เพราะขณะนี้บางคนที่อยู่ในระบบการศึกษาปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เช่น การใช้ SMS ในการสื่อสาร การทำ power point เป็นต้น และ 6.การใช้ช่องทางต่างๆ ที่จะทำให้การสื่อสารเชื่อมโยงกันได้ เช่น Teacher Channel สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) R-Radio เป็นต้น ซึ่งควรจะนำกระบวนการทั้งหมดมาพัฒนา โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกัน และจะวิเคราะห์ว่าในแต่ละเรื่องอะไรสำคัญที่สุด นำไปสู่แผนปฏิบัติการและแนวทาง เมื่อแล้วเสร็จตนจะนำไปหารือกับประธานและเลขาธิการ กสทช.ตามที่ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายและจะนำมาสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอีกครั้ง ก่อนนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ทั้งนี้ โดย รมว.ศึกษาธิการ กำหนดว่าเรื่องนี้ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น