คุณจะพบ “อดีตของปาตานี” รูปแบบใด ถ้าศึกษาผ่านโรงหนัง ตำรวจ คนทรง “บารูดิง” นิคมธารโต ถนนหลวง และประวัติชีวิตของบุคคล? ร่วมเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานี ผ่านงานเสวนาวิชาการ “ปาตานีในมิติประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม” ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2555 ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
มูลนิธิเอเชีย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ร่วมกับองค์กรพันธมิตรหลายราย จัดงานเสวนาทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้อย่างยั่งยืน และการถ่ายทอดความรู้ด้านประวัติปัตตานีในมุมมองใหม่แก่ครู อาจารย์ นักคิดนักเขียน และผู้สนใจในพื้นที่
โดยงานนี้ ได้เชิญนักวิชาการคนสำคัญที่มีชื่อเสียงด้านการเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นองค์ปาฐก ได้แก่ อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี นักประวัติศาสตร์ปัตตานี ชาวมาเลเซีย ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ปัตตานี” ที่ได้รับการอ้างอิงอย่างแพร่หลายยาวนานในหมู่นักวิชาการในพื้นที่ พร้อมด้วยนักเขียน/นักวิชาการรางวัลศิลปินแห่งชาติ ผู้เขียนนวนิยาย “ขุนเดช” สุจิตต์ วงศ์เทศ
การเสวนาเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด การกำหนดสร้างองค์ประธานใหม่ในการเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานี/ปาตานี เพื่อให้หลุดพ้นจากกรอบคิดที่ว่า ประวัติศาสตร์ปัตตานี/ปาตานี เป็นเพียงปริมณฑลแห่งการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำระหว่างรัฐไทยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานีเพียงอย่างเดียว จนมองไม่เห็นมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม และความหลากหลายของวิถีชีวิตมนุษย์
นักวิชาการที่ร่วมเสนอผลงานส่วนใหญ่จึงเป็น “นักปัตตานีศึกษารุ่นใหม่” ที่มีกรอบคิด และมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์แบบใหม่ และน่าสนใจ เช่น ทวีศักดิ์ เผือกสม ภมรี สุรเกียรติ ศุกรีย์ สะเร็ม ธนภาษ เดชาพาวุฒิกุล ปริญญา นวลเปียน พุทธพล มงคลวรรณ ทวีลักษณ์ พลราชม วารชา การวินพฤติ สะรอนี ดือเระ ปิยะนันท์ นิภานันท์ นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน มูฮำหมัดอิลยาส หญ้าปรัง บัณฑิต ไกรวิจิตร อสมา มังกรชัย โชคชัย วงษ์ตานี และ เจริญพงศ์ พรหมศร
ในงานทั้ง 2 วันจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับงานศึกษาจากโครงการวิจัยชุด “สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย : การค้นหาประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรมปาตานี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย
มีบทความย่อยๆ นำเสนอ 18 บทความ เช่น “พิธีกรรมและศิลปะการละเล่นพื้นบ้านมลายูปาตานี : วัฒนธรรมลูกผสมกับสภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย” ของ บัณฑิต ไกรวิจิตร “ปาตานีผ่านแว่นของจักรวรรดิและดวงตาสมัยใหม่ : การสำรวจทางมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรัฐมลายูของสยาม ค.ศ.1899-1900” โดย พุทธพล มงคลวรวรรณ “ตำรวจมลายู : ลูกผสมของความสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรนแรง” โดย อสมา มังกรชัย “การตีความความเป็นสมัยใหม่ : ตวนกูรูอิสมาแอล สะปนยัง (2498- ) อูลามาอ์สายจารีตในสังคมปาตานีสมัยใหม่” ของ มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง และ “ความทันสมัยในภาพเรืองแสง: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของโรงภาพยนตร์ในสังคมปัตตานี” โดย ปิยะนันท์ นิภานันท์ เป็นต้น ซึ่งบทความเหล่านี้ผู้เข้าร่วมสามารถหาซื้อได้ในงานด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการจัดแสดงงานวิจัย โครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ร้อยเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปาตานี และโครงการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานี ในความสัมพันธ์กับสยาม และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางกาลเวลาเพื่อเปิดมุมมอง/มิติใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี/ปาตานี เพื่อสามารถก้าวข้ามปัญหาความรุนแรง ที่คณะผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากกรอบคิดอันขับเคี่ยวต่อสู้กันระหว่างประวัติศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์รัฐชาติ/รัฐพื้นเมือง
โดยในเวลา 09.00 วันที่ 15 มิถุนายนนั้น จะเริ่มเปิดพิธีโดยประธานโครงการ และมีกล่าวปาฐกถาโดย อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตอนี ตามด้วยการล้อมวงเสวนาในหัวข้อ “ปาตานี : การติดต่อกับสภาวะความเป็นสมัยใหม่” ตามด้วย “สรรพเสียงของประวัติศาสตร์ : คุยกับมุสลีมะห์ปาตานี บนเส้นทางการศึกษาสมัยใหม่” ก่อนจะปิดท้ายวันด้วยการเสวนาเรื่อง “ปาตานี: ตัวกลางของสภาวะความเป็นสมัยใหม่” พิเศษสำหรับวันนี้คือการแสดง “บารูดิง Unplugged” โดยทีมงานบารูดิง นักร้องเพลงดิเกร์มิวสิกชื่อดังในพื้นที่
ในวันที่ 16 มิถุนายน เริ่มด้วยการแสดงปาฐกถาโดยนักเขียนชื่อดัง สุจิตต์ วงษ์เทศ และการแนะนำโครงการ “ร้อยเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปัตตานี” วงเสวนาเริ่มด้วย “ปาตานี : การเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่” กับ “สรรพเสียงของประวัติศาสตร์ปาตานี : คุยกับชาวธารโต” โดย ภมรี สุรเกียรติ และชาวบ้านจากธารโต “สรรพเสียงของประวัติศาสตร์ปัตตานี : คุยกับชาวมลายูบางกอก” และ “ทบทวนอัตลักษณ์มลายูปาตานี”
ปิดท้ายด้วยการอ่านบทกวีโดยนักเขียนซีไรต์ ปี 2553 ซาการีย์ยา อมตยา กฤช เหลือละไม และ “กวีปาตานี” ผู้เคยถูกจำคุกในคดีความมั่นคงเมื่อ พ.ศ.2525 อาแซ บูงอสายู