คลื่นใต้น้ำภายในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ดูจะไม่จบง่ายๆ หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงในองค์กร ตั้งแต่การเด้งถวิล เปลี่ยนศรีจากเลขาธิการสมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ
ล่าสุด เมื่อเร็วๆนี้ซึ่งที่ประชุมคณะมนตรีเห็นชอบให้มีการโยกสลับระหว่าง พลโทภราดร พัฒนถาบุตร จากที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกเด้งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แล้วย้ายนาย สมเกียรติ บุญชูรองเลขาฯสมช.มานั่งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นตำแหน่งแขวนแทนพลโทภราดร
โดยสมเกียรติ นั้นเป็นรองเลขาธิการสมช.สายพลเรือน ที่ถูกมองว่าอยู่ในขั้วของ ถวิล เปลี่ยนศรี ขณะที่พลโทภราดร ที่ใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร
ร่ำลือกันว่า พลโทภราดรคือคนที่รัฐบาลชุดนี้วางตัวให้จ่อคิวรับตำแหน่งเลขาธิการสมช.คนต่อไปต่อจากพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ซึ่งอาจจะอยู่ไม่ถึงกันยายนปีหน้าก็ได้
แรกทีเดียว คิดกันว่า ปัญหาความวุ่นวายในสมช.เรื่องคงไม่บานปลาย ปล่อยให้เป็นเรื่องการฟ้องร้องคดีปกครองกันไประหว่าง ถวิล กับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหลังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมไม่รับคำร้องของถวิล และเมื่อโยกพลโทภราดรกลับมาแล้ว การทำงานด้านการข่าวในสมช.คนที่จะควบคุมทุกอย่างก็คือพลโทภราดร ไม่ใช่พล.ต.อ.วิเชียร ที่แม้จะเป็นเลขาธิการสมช.แต่ก็คงไม่ใช่คนที่รัฐบาลเพื่อไทยจะไว้วางใจ
แต่ตอนนี้ได้เกิดแรงต้านไม่ให้สมช.กลายเป็นองค์กรที่ระบอบทักษิณจะเข้ามายึดครองได้ง่ายๆ อันเป็นขบวนการที่เกิดจากการนำของ ถวิล อดีตเลขาธิการสมช.ที่ร่วมกับ 2 อดีตเลขาธิการสมช.คือ นายสุวิทย์ สุทธานุกูล และนายขจัดภัย บุรุษพัฒน์
ทั้ง 3 คนร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2555 ที่โยกสลับระหว่าง พล.ท.ภราดร กับ สมเกียรติ บุญชู
ซึ่งจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า ในนามอดีตเลขาธิการ สมช. ซึ่งรับราชการรับราชการใน สมช.มาตั้งแต่ระดับต้นคนละไม่ต่ำกว่า 30ปี มีความรู้สึกไม่สบายใจต่อการโอนย้ายข้าราชการในสมช.ครั้งนี้
เนื่องจากงานความมั่นคงเป็นงานสำคัญของชาติ เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้จำกัดแค่ความมั่นคงด้านการทหารและการป้องกันประเทศเท่านั้น จำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ผ่านการเลือกสรรเป็นลำดับและขั้นตอน
“การโอนย้ายโอนย้ายนายสมเกียรติ บุญชู ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องก่อการร้ายและปัญหาความไม่สงบภาคใต้ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ จึงเป็นการโอนย้ายที่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรมในระบบราชการ
ทำให้ขวัญกำลังใจของข้าราชการ สมช.ที่เติบโตตามสายงานเสียหาย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลในการบริหารประเทศ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนคำสั่งอีกครั้ง เพิ่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”หนังสือดังกล่าวระบุไว้
“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ” มองการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวเล็กๆ ของคนที่เคยอยู่ในสมช. อีกทั้งตัว ถวิล เองที่ร่วมเคลื่อนไหวด้วย แม้จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้เพราะมีข้อพิพาทอยู่กับนายกรัฐมนตรีที่เด้งตัวเองออกจากเลขาธิการสมช.
แต่การแสดงออกเช่นนี้ ที่มีข่าวว่าคนในสมช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ออกตัวมากไม่ได้เพราะเป็นข้าราชการ ปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า ยังมีคนที่ยังไม่ยอมจำนนต่ออำนาจการเมืองที่จะใช้อำนาจแบบไม่มีขอบเขต เข้าไปล้วงลูกบริหารจัดการทุกอย่างในหน่วยงานของรัฐทั้งบุคลากร-งบประมาณ-นโยบาย เสมือนกับว่าองค์กรของรัฐอย่างสมช.เป็นบริษัทเอกชนที่ตัวเองเป็นเจ้าของ
จนอาจมีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการในหน่วยงานรวมถึงประสิทธิภาพการทำงานด้านการข่าวของสมช. แม้อดีตเลขาธิการสมช.2 คนคือ นายสุวิทย์ สุทธานุกูล นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว จึงไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจการเมืองใดๆ แต่เมื่อทั้งสองคนได้ร่วมกับ ถวิล เปลี่ยนศรีออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ มันก็เป็นการทำให้ฝ่ายการเมืองต้องหยุดคิดเช่นกันว่า
อย่าได้ชะล่าใจ ใช้อำนาจการเมืองมากเกินไป เพราะคิดว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วแรงต้านไม่มี คิดจะทำอะไรก็ได้ รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า แรงต่อต้านหรือเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนหรือรัฐบาลของประเทศไหน ก็เริ่มก่อตัวจากเสียงไม่เห็นด้วยในจุดเล็กๆ แล้วขยายผลออกไปเรื่อยๆ
โดยเฉพาะหากยิ่งรัฐบาลหรือผู้นำประเทศไม่คิดจะรับฟังเสียงสะท้อนนั้นเพื่อไปแก้ไข ก็มีบทเรียนให้เห็นมามากต่อมากแล้วว่า วันหนึ่งรัฐบาลก็ต้องล้มคลืนถึงจุดจบในไม่ช้า
ก็เหมือนกับที่ระบอบทักษิณต้องถูกต่อต้านอย่างหนักในช่วงปี 48-49สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะระบอบทักษิณใช้อำนาจการเมืองเข้าไปกลั่นแกล้งรังแกข้าราชการและแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานต่างๆของรัฐ จนระบบต่างๆ เช่นระบบคุณธรรมพังไปหมด เพราะถูกระบบพวกพ้องกลืนกิน สุดท้าย รัฐบาลทักษิณก็ถึงจุดจบ
กรณีปัญหาคลื่นใต้น้ำในสมช. ยิ่งลักษณ์ อย่าได้ชะล่าใจหรือเพิกเฉยและใช้วิธีหนีปัญหา เพราะเมื่อแรงต้านเกิดขึ้นในสมช.ได้ ก็ย่อมมีแรงต้านลักษณะเช่นนี้ได้ในหน่วยงานอื่น หากข้าราชการทั้งหลายยังยึดมั่นในหลักการความถูกต้อง ไม่ยอมสยบใต้อุ้งมือนักการเมือง เมื่อเห็นความไม่ถูกต้องก็ออกมาบอกกับสังคมและเคลื่อนไหวให้คนภายนอกได้รับรู้
ภาพที่ยิ่งลักษณ์ ซึ่งโดยตำแหน่งก็คือ ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่เป็นเสมือนประธานบอร์ดข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ ไม่ยอมไปเป็นประธานพิธีประกาศเกียรติคุณและมอบครุฑทองคำแก่ผู้บริหารข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2553-2554 ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 11 ก.ค. 2555
อันเป็นรางวัลที่จัดโดยสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ประกาศเกียรติคุณ ผู้ที่มีผลงานสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและระบบราชการ ด้วยความทุ่มเทเสียสละอุทิศตนให้กับงานในหน้าที่จนเป็นที่ยอมรับแก่ประชาชน
โดยธรรมเนียมแล้ว จะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบรางวัลดังกล่าวแทบทุกครั้ง แต่มารอบนี้ ยิ่งลักษณ์ กลับให้ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยทำหน้าที่แทน
เรื่องนี้ได้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า เพราะเหตุใด นายกฯจึงไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ หรือเป็นเพราะไม่กล้า “เผชิญหน้า”กับ ถวิล เปลี่ยนศรี ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วยในสายระดับปลัดกระทรวงหรือซี 11 แบบซึ่งๆ หน้า
แม้จะมีการอ้างจากนายยงยุทธว่า เหตุที่นายกฯไม่ได้มาเป็นประธานมอบดังกล่าว เพราะติดภารกิจในการต้อนรับนายเมิ่ง เจี้ยนจู้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงมั่นคงสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน และการประชุมด้านความมั่นคง แต่สื่อมวลชนก็รายงานข่าวว่า ยงยุทธ ได้รับแจ้งจากนายกฯ ก่อนหน้าจะเริ่มงานเพียงแค่ 40 นาทีเท่านั้น คือได้รับแจ้งเมื่อเวลา13.20 น. ขณะที่งานจะเริ่มขึ้นในเวลา 14.00 น.
เป็นเรื่องที่ทำให้หลายคน อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าหากคนที่จะได้รับการประกาศเกียรติคุณการเป็นข้าราชการดีเด่นดังกล่าว ไม่มีชื่อของถวิล รวมอยู่ด้วย นายกฯยิ่งลักษณ์ จะมอบหมายให้ยงยุทธรับหน้าเสื่อแทนหรือไม่
เนื่องจากคงเป็นเรื่องแปลกพิลึก หากยิ่งลักษณ์ จะต้องร่วมชื่นชม ถวิล เปลี่ยนศรี ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ทั้งที่ตัวยิ่งลักษณ์ เป็นคนใช้อำนาจบริหารสั่งเด้ง ถวิล เปลี่ยนศรี เพื่อให้พล.ต.อ.วิเชียรมาเป็นเลขาธิการสมช.แทน ตามแผนดันเอาพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่เป็นเครือญาติมาเป็นผบ.ตร.
เพราะหากยิ่งลักษณ์มาเป็นประธานงานดังกล่าว ก็คงเป็นการประจานตัวเองไปในตัวว่ารัฐบาลชุดนี้ไปกลั่นแกล้งรังแกข้าราชการน้ำดีที่ได้รับรางวัลครุฑทองคำ
อย่างไรก็ตาม กรณีการเคลื่อนไหวต่อต้านจากคนในสมช. ดูแล้ว นายกฯยิ่งลักษณ์ คงไม่สนใจข้อเรียกร้องของ 3 อดีตเลขาธิการสมช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการโยกพลโทภราดร มาเป็นรองเลขาธิการสมช.แน่นอน
ส่วน สมช.ต่อจากนี้ จะเป็น หน่วยงานการข่าวลับด้านการเมืองและความมั่นคง ที่มีประสิทธิภาพและทำงานเพื่อความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้หรือไม่ ต้องจับตาดูกันต่อไป