xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพบกถูกจับเป็นตัวประกัน! “ทหารฆ่าประชาชน...”

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ประโยคนี้ดังขึ้นอีกครั้งจากคนกลุ่มเดิมๆ หลังศาลอาญามีคำสั่งชันสูตรพลิกศพตามคำร้องของอัยการในคดีการตายของคนขับแท็กซี่บริเวณถนนราชปรารภช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553

ผมเคยเขียนไว้ ณ ที่นี้ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้งและพูดผ่าน ASTV หลายครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2554 ถึงช่วงเดือนมีนาคม 2555 แล้วว่าคำสั่งศาลอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ในคดีการตายของคนจำนวนหนึ่งในช่วงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2555 จะเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองไทย โดยได้เสนอแนะให้กองทัพบกลุกขึ้นสู้

คำว่าลุกขึ้นสู้หมายถึงการออกแรงต่อสู้ทางกฎหมายตั้งแต่ต้นทาง!

โดยกองทัพบกในฐานะหน่วยต้นสังกัดที่ออกปฏิบัติราชการตามคำสั่งอันถูกต้องชอบธรรมจะต้องปกป้องกำลังพลของตนโดยอาศัยช่องทางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคเก้า แต่งทนายความเข้าไปขอนำสืบพยานหลักฐานเพื่อคัดค้านสำนวนชันสูตรพลิกศพของตำรวจ-อัยการที่สรุปว่าการตายที่เกิดเกิดขึ้นเป็นการกระทำโดยเจ้าพนักงานฯ แม้จะไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาในสำนวนชั้นสอบสวนนี้นำสืบคัดค้านได้ แต่ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติห้าม และความในมาตรานี้ 150 วรรคเก้านี้กล่าวว่า...

“เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้ และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและการทำคำสั่ง...”

ไม่ใช่ปล่อยไปเฉยๆ แล้วบอกว่าข้อกฎหมายไม่เปิดช่องให้

ไม่ใช่แค่เขียนและพูดในเวทีเครือข่ายสื่อทางเลือกแห่งนี้ แต่ผมได้เสนอในวาระต่างๆ ของการประชุมคณะกรรมาธิการวุฒิสภาชุดที่เกี่ยวข้อง หวังจะให้ผู้ใหญ่ของกองทัพบกรับไปพิจารณา

แต่สุดท้ายก็ไร้เสียงขานรับ!

ในเหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตต่างกรรมต่างวาระต่างฝ่ายรวมมากกว่า 90 ศพ แต่คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานสอบสวนทำสำนวนคืบหน้าไปได้ไกลที่สุดขณะนี้มีอยู่ไม่ถึง 20 ศพ ต่างกรรมต่างวาระเช่นกัน แต่มีความเหมือนกันอยู่อย่างคือสาเหตุการตายที่ถูกสรุปโดยเจ้าพนักงานสอบสวนว่า...

“เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่”

แม้จะยังคงอยู่ในชั้นสอบสวน แต่ได้ผ่านขั้นตอนชันสูตรพลิกศพไปแล้ว โดยพนักงานอัยการเข้ามาร่วมด้วยตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคสาม

ตำรวจได้ร่วมกับอัยการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ส่งสำนวนส่งไปถึงมือพนักงานอัยการแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 ตามเงื่อนเวลาบังคับในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคสี่ จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการไต่สวนในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคห้า วรรคหก และวรรคเจ็ด

แน่นอนว่ายังไม่ใช่การฟ้องร้อง ยังไม่มีโจทย์ไม่มีจำเลย ยังอยู่ในขั้นตอนสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวนคือตำรวจและ/หรือ DSI แต่เนื่องจากเป็นการตายผิดธรรมชาติ และเป็นการตายที่ชี้ว่าเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงออกแบบถ่วงดุลอำนาจตำรวจไว้ 2 ชั้น ชั้นหนึ่งให้อัยการเข้ามาร่วมชันสูตรพลิกศพและทำสำนวนชันสูตรพลิกศพด้วย อีกชั้นหนึ่งต้องให้ศาลเปิดการไต่สวนเพื่อมีคำสั่งว่าเป็นการตายที่เกิดโดยเจ้าพนักงานจริง

เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วจึงจะส่งสำนวนการไต่สวนกลับไปยังอัยการเพื่อส่งต่อไปยัง DSI ต่อไป

บัดนี้ศาลอาญามีคำสั่งออกมาแล้ว 1 คดี!

แม้จะยังไม่ถึงขั้นการฟ้องร้อง ยังไม่มีตัวจำเลยเป็นบุคคล และกว่าคดีจะถึงที่สุดก็อีกนานเป็นปีๆ หรือหลายปี และเจ้าพนักงานที่เป็นต้นเหตุของการตาย คือทหาร อาจจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับโทษในท้ายที่สุด แต่คำสั่งศาลที่ออกมาก็จะมีความสำคัญยิ่ง ผมเคยเขียนเปรียบเทียบไว้ว่าเสมือนเป็นการจุดหัวไม้ขีด

ถ้าจุดติด ก็คือหลังการไต่สวนศาลมีคำสั่งออกมาตามที่ตำรวจและอัยการยื่นคำร้องขอไป คือเป็นการตายโดยเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ คำสั่งศาลที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณามาตรา 150 วรรคสิบบัญญัติไว้ให้ถือเป็นที่สุดนี้นอกจากจะเป็นการนับ 1 กระบวนการหาตัวผู้กระทำความผิดในเชิงบุคคลมาฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว ในเชิงการเมืองและสังคมคำสั่งศาลดังกล่าวจะถูกนำมาทำซ้ำถ่ายทอดต่อผ่านวาทกรรมต่างๆ ว่าทหารฆ่าประชาชน!

การทำซ้ำถ่ายทอดคำสั่งศาลผ่านวาทกรรมลักษณะดังกล่าวจะไม่เฉพาะภายในประเทศ แต่จะไปยังต่างประเทศด้วย เพราะมีอยู่ 2 ศพที่เป็นชาวต่างประเทศ

จริงอยู่วาทกรรมดั่งว่าไม่ใช่ของใหม่ คนกลุ่มหนึ่งพูดซ้ำซากมานานแล้ว แต่คราวนี้น้ำหนักจะต่างกัน เพราะเป็นคำสั่งศาล

คงไม่ต้องพูดถึงผลสะเทือนทางสังคมและทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสะเทือนต่อกองทัพไทยในบริบทต่างๆ ให้มากความ

รวมทั้งคงไม่จำเป็นต้องตอบคำถามที่ว่านี่เป็นแผนจับทหารและนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลขณะเกิดการตายเป็นตัวประกันเพื่อให้สามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรด้วยหรือไม่ เพราะทั้งหมดนี้ท่านผู้อ่านย่อมคิดได้เอง

ดูเหมือนทุกวันนี้หลังศาลอาญามีคำสั่งออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ใครๆ ก็พูดเป็นโทนทางเดียวกันว่านี่คือแผนจับทหารและอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณเป็นตัวประกัน

คงพอตอบได้ว่าเป็นการเข้าทางร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่ยังคาอยู่ในระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่?

สติปัญญาผมมีจำกัด จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าทำไมกองทัพบกไม่ต่อสู้ให้เต็มที่ตามช่องทางกฎหมาย

ทั้งๆ ที่มีนักกฎหมายระดับกูรูหลายคนพร้อมว่าความให้!


การตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาที่จะไม่ต่อสู้ในชั้นไต่สวน อาจจะเพราะถือว่ายังไม่ตกเป็นจำเลย ยังไม่ถูกฟ้องร้อง อาจจะเพราะอ่านประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ทุกวรรครวมทั้งวรรคเก้าแล้วเห็นต่างจากนักกฎหมายระดับกูรูที่พร้อมว่าความให้กองทัพ คือเห็นว่าไม่เปิดช่องให้แต่งทนายความเข้าไปต่อสู้ได้ และอาจจะไปหลงเชื่อนักการเมืองบางคนว่าไม่ต้องตกใจจะไม่มีทหารคนใดตกเป็นจำเลย หรือจะเพราะเหตุผลอื่นใด ผลก็คือเท่ากับให้ศาลสืบพยานฝ่ายเดียว และศาลจะไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่นอกจากทำคำสั่งตามที่อัยการสรุปเสนอมาในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

ศพแรกถูกขยายผลแค่ไหนพี่น้องลองประเมินดู!

แล้วถ้าศพที่ 2, 3, 4, ... หรือส่วนใหญ่ในจำนวนเกือบ 20 ศพที่ยื่นให้ศาลไต่สวนเพื่อมีคำสั่งล่ะ?


เจ็บปวดแทนทหารระดับปฏิบัติการที่ออกปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงตายในพื้นที่แล้วเห็นการสูญเสียเพื่อนไปต่อหน้าต่อชนิดที่วันนี้ยังหาวี่แววคนกระทำผิดไม่ได้แต่กลับต้องมาแบกรับความเป็นจำเลยต่อสังคมฐานสังหารประชาชนเสียเองอีก

หวังว่าผู้บังคับบัญชาของท่านที่เปี่ยมไปด้วยสติปัญญาจะมีเหตุผลถูกต้องในการตัดสินใจครั้งนี้นะ

กำลังโหลดความคิดเห็น