xs
xsm
sm
md
lg

“ถวิล” โวยสลายแดงข้อเท็จจริงถูกบิดเบือน ฉะ ขรก.ขายมโนธรรมเพื่อรักษาเก้าอี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ถวิล” รับไม่ได้ข้อเท็จจริงถูกบิดเบือน กล่าวหาเจ้าหน้าที่ฆ่าประชาชน แจงเหตุสลายม็อบแดงเผาเมืองเพราะมีการกระทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชน ศาลแพ่งก็วินิจฉัยชัดเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แฉ “ธาริต” ตัวดีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใน ศอฉ. มีการเสนอแนะก่อนออกคำสั่งยุทธการ ยันชายชุดดำมีจริง ถูกจับกุมดำเนินคดี และอยู่ระหว่างประกันตัว แต่กลับถูกกลบหายไป เหน็บ “ธาริต” ไม่เปลี่ยนยังเป็นอธิบดีดีเอสไป แต่ตัวเองเปลี่ยนไปจากเลขาฯ สมช.มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ พ้อถ้าเจ้าหน้าที่ยอมทุกอย่างเพื่อรักษาตำแหน่ง ยอมฝืนมโนธรรม ฝืนความจริง ข้อกฎหมาย ก็เป็นความโชคร้ายของประเทศ ระบุเหตุที่ใช้ทหารเพราะตำรวจไม่พร้อมทำงานหลังใช้ความรุนแรงสลายพันธมิตรฯ 7 ต.ค. 2551 วอนให้ย้อนกลับไปดูสภาพบ้านเมือง และเหตุการณ์ม็อบแดงยึดราชประสงค์ เพื่อให้ความเป็นธรรมเจ้าหน้าที่ และผู้ถูกกล่าวหา

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"นายถวิล เปลี่ยนศรี"ให้สัมภาษณ์  

วันนี้(23ส.ค.)นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ อดีตเลขาธิการสภาความมั่งคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารในการสลายการการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ปี 2553 ว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาบ้านเมืองกลับตาลปัตร ดูแล้วสับสนวุ่นวาย ซึ่งจะขอพูดในส่วนที่เกี่ยวข้องช่วงที่ตนเป็นเลขานุการ ศอฉ. และข้อเท็จจริงในเวลานั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม แต่พอมาอีกเวลาหนึ่งกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จากขาวเป็นดำ เวลาผ่านมาไม่กี่เดือนก็เปลี่ยนไป

นายถวิลกล่าวว่า ข้อเท็จจริงบางอย่างถูกบิดเบือน ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป แล้วเราจะเขียนประวัติศาสตร์ในระยะหลายๆ ปีได้อย่างไร ต่อไปข้างหน้าเราไม่ต้องเอาหัวเดินต่างเท้าหรือ โดยสิ่งตนจะพูดมี 3 ประเด็น คือ 1. เหตุการณ์ สถานการณ์ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในช่วงเกิดเหตุ พ.ค. 2553 2. กรณีที่หลายฝ่ายข้องใจ ที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พูดถึง ศอฉ. และการทำงานของ ศอฉ.ในขณะนั้น และ 3. คำสั่งทางยุทธการหรือแผนปฏิบัติงานที่รั่วไหลมาทางสื่อ

1. เหตุการณ์ความไม่สงบมีความต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 จากกรณีที่ไปล้มการประชุมที่พัทยา และต่อเนื่องมาจนถึง พ.ค.2553 ซึ่งเริ่มมีความบิดเบือน ทั้งที่ความจริงมีข้อเท็จจริงเดียวและต้องไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเหตุการณ์ปี 2553 เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ออกมารักษาความสงบ และศาลแพ่งก็มีการวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้

“ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไม่มีอะไรทำแล้วคว้าอาวุธมาไล่ฆ่าประชาชน อย่างที่มีความพยายามจะกล่าวหากัน ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ออกไปจะเป็นเรื่องที่แปลก เพราะตอนนั้นต้องรักษาความสงบให้ได้ และระงับการชุมนุมที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งการออกของเจ้าหน้าที่ ผมยืนยันว่าทำไปด้วยความรู้สำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี มีเจ้าหน้าที่หลายคนไม่สบายใจที่ออกไปทำงาน แต่ด้วยหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ต้องไปปฏิบัติภารกิจให้เรียบร้อย เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ควรได้รับคำชมมากกว่าคำด่า หรือการหาว่าเขาไปฆ่าคน เราควรดำเนินการตามยุติธรรมมากกว่าในการไปค้นหาความจริง ไม่ใช่ไปกล่าวหาว่ามีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธ เอาสไนเปอร์ออกไปไล่ฆ่าคน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหน้าที่ เพราะคำสั่งที่ออกไปเป็นการพิจารณาที่รอบคอบแล้ว”

นางยุวดี ธัญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล จาก นสพ.บางกอกโพสต์ถามว่า เป็นการแก้ต่างให้ ศอฉ.หรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า ไม่ได้แก้ต่าง แต่ตนเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ. ยืนยันว่าการทำงานขณะนั้นเรายึดกฎหมาย ยึดหลักสากลในการทำงาน เป็นการออกคำสั่งโดยที่มีการพิจารณารอบคอบ

ส่วนที่นางยุวดีถามว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติเกินกว่าเหตุหรือไม่ทำให้มีคนตาย 98 ศพ และบาดเจ็บอีกเป็น 2 พันคน นายถวิลกล่าวว่า ตนได้สะท้อนแล้วว่ามีคนบาดเจ็บร่วมพัน ซึ่งจำนวนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจจำนวนมาก เหตุการณ์ที่ลำดับให้ฟังจะเห็นว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว หรือเกิดเพราะเจ้าหน้าที่ลุยปราบปรามสลายการชุมนุม ส่วนใหญ่เป็นการยิงเจ้าหน้าที่ และเหตุการณ์กระชับวงล้อม ซึ่งเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 2553 นั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้บุกเข้าไป เพียงแต่ไปตั้งกำลังเพื่อปิดล้อม เจตนาที่พูดกันใน ศอฉ.คือต้องการให้สลายการชุมนุมเอง โดยไม่มีผู้เข้าไปร่วมชุมนุมใหม่ ให้ผู้ชุมนุมเก่าเดินทางกลับภูมิลำเนา จึงไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ตะลุยเข้าไปยิง

ส่วนที่ถามว่ามีบางส่วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่นั้น เมื่อมีข้อมูลการสอบสวนเบื้องต้นของดีเอสไอระบุเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่จะมีการไต่สวน ร้องต่อศาล ศาลก็ให้มีการไต่สวน แต่ขณะนี้มันมีการกล่าวหานอกศาลแล้วว่าเจ้าหน้าที่ฆ่าประชาชน ซึ่งตนคิดว่าเจ้าหน้าที่ออกไปทำงาน แม้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เขาไม่มีสิทธิที่จะทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ ถ้าเขาผิดจริงตามกระบวนการไปถึงชั้นศาล เขาก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งนั้นจะเป็นความยุติธรรม แต่ไม่ใช่มากล่าวหาเขาตรงนี้ ทั้งที่เป็นฝ่ายนำพาชาติบ้านเมืองให้ไปสู่ความสงบในขณะนั้น ถ้าสภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นมีการเผาอาคาร มีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ตนก็มองไม่เห็นว่าถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำงานในช่วงนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองจะนำไปสู่อะไรบ้าง

นายถวิลกล่าวว่า เรื่องที่ 2 การทำงานใน ศอฉ. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น มอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศอฉ. และเป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติงาน ส่วนนายอภิสิทธิ์จะเข้าประชุมในฐานะนายกฯ ที่กรมทหารราบที่ 11 รอ.ด้วย ซึ่งการทำงานของ ศอฉ.จะมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งรวมถึงนายธาริตด้วย ส่วนตนเป็นเลขานุการตามกฎหมาย ซึ่งมีการประชุมกันทุกวัน และมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม มีการประเมินสถานการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกวัน

ในการประชุมมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง แต่ไม่มีการสั่งการปฏิบัติการในที่ประชุม ใครไม่เห็นชอบกับเรื่องที่ประชุมก็สามารถโต้แย้งได้ ซึ่งนายธาริตก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการประชุม หากไม่มีท่านเราคงเหนื่อยกว่านี้ เพราะท่านเป็นคนที่เสนอเรื่องที่มีประโยชน์ เมื่อประชุมเสร็จก็จะมอบให้หัวหน้าออกแผนปฏิบัติ เพราะเรื่องนี้จะให้นายสุเทพออกไปสั่งว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ซึ่งแผนดังกล่าวเรียกว่าคำสั่งยุทธการ โดยทุกครั้งจะคำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน แต่การปฏิบัติการเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ใช่การชุมนุมที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีการใช้อาวุธ จะเห็นว่าช่วงกระชับวงรอบ 18-20 พ.ค. มีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

นายถวิลกล่าวว่า 3. เรื่องคำสั่ง ซึ่งเรายึดกฎหมายและระเบียบราชการเป็นหลัก ซึ่งเรากำชับหัวหน้าผู้ปฏิบัติการตลอด แต่เราอาจจะไม่สามารถกำชับไปยังผู้ปฏิบัติการได้ ทั้งนี้เรากำชับให้ระวังความปลอดภัยของประชาชนมากที่สุด เพ่งเล็งไปที่ผู้ใช้อาวุธและต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เป็นหลัก และคำสั่งที่รั่วไหลออกมาทางสื่อ ตนยังไม่เห็นว่ามีคำสั่งไหนลุแก่อำนาจหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไปฆ่าประชาชน ซึ่งลำดับขั้นตอนต่างๆ ก็เป็นไปอย่างถูกต้อง และแน่นอน คำสั่งเหล่านี้ไม่น่าจะออกมาตามสื่อ ซึ่งคำสั่งต่างๆ ไม่ใช่เรื่องของความลับ แต่การที่มีแตงโม มะเขือเทศ ส้มโอ อยู่ด้วย ฉะนั้นการสั่งการไม่ได้มีการสั่งการที่ชัดเจน แต่ตนยืนยันว่ามีการตกลงกันในเชิงนโยบาย กรรมการ ศอฉ.ทุกคนรับทราบก่อนจะออกเป็นแผนปฏิบัติการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า พูดมาทั้งหมดเหมือนแก้ต่างให้ ศอฉ. เพราะศอฉ.ไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นเลยว่าชายชุดดำที่ออกมายิงเป็นใครบ้าง เหตุการณ์ที่มีการเผาต่างๆ ก็ไม่เห็นตัวชุดดำ นายถวิลกล่าวว่า เรื่องเหล่านี้ถูกกระแสทำให้ไม่ปรากฏขึ้นมา ความจริงการดำเนินคดีต่อกลุ่มที่ใช้อาวุธและกลุ่มชายชุดดำ มีการจับกุมดำเนินคดี แต่ขณะนี้มีการประกันตัวไปเกือบทั้งหมด แต่ขณะนี้มันมีกระแสอย่างอื่นเข้ามากลบ อย่างที่ถามเรื่องเพ่งเล็ง ใครเผาราชประสงค์ ชายชุดดำถูกดำเนินคดีหรือไม่ มันมีการจับกุม เพราะระหว่างที่ทำงานกันมา ตำรวจและดีเอสไอ มีการรายงานเข้ามาว่ามีการจับกุม ควบคุมตัวไว้แล้ว จนกระทั่งตนถูกต่อว่า และไปยืนยันนายธาริตว่าจากการสอบสวน ทราบข่าวว่ามีการไปฝึกอาวุธจากประเทศเพื่อนบ้าน ตนแถลงว่ารับทราบจริงและนายธาริตได้มีการรายงานผลงานการสอบสวนจริงๆ เรื่องแบบนี้ถูกกลบ ถ้าบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ ความจริงก็ไม่เป็นความจริง ความจริงเวลาหนึ่ง กลายเป็นความเท็จเวลาหนึ่ง ถ้าบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ความจริงก็ไม่เป็นความจริง

ต่อข้อถามว่า ที่บอก ศอฉ.ต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อความชัดเจนให้สังคมโปร่งใส คำสั่งยุทธการทั้งหมดพร้อมแสดงให้สังคมได้รับรู้ รับทราบหรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า ควรเป็นหน้าที่ของกฎหมาย ถ้าจำเป็นศาลจะเรียกดูได้ หากเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางเจ้าหน้าที่ของเราคงไม่ขัดข้อง ขณะนี้เป็นกระบวนการนอกศาล ซึ่งไม่เป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองบทบาทการทำงานของนายธาริตในขณะนี้อย่างไรบ้าง นายถวิลกล่าวว่า นายธาริตทำงานทั้งในฐานะกรรมการ ศอฉ. รวมทั้งทำงานในฐานะอธิบดีดีเอสไอได้ทำงานหลายอย่าง ซึ่งเป็นผลดีต่อการระงับความรุนแรง การรักษาความสงบเรียบร้อย นายทหารหลายคนได้พูดคุยกับตนว่าถ้าไม่ได้นายธาริตเราจะเหนื่อยกันมากกว่านี้ เพราะนายธาริตอยู่ดีเอสไอ มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในขณะนั้น โดยวิธีปฏิบัติของนายธาริตในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องร่วมมีอด้วยกับ ศอฉ.ในขณะนั้น เพราะมีเหตุการณ์เช่นที่ว่าเราพูดเรื่องหนึ่ง เมื่อเหตุการณ์หมดไปแล้วมันไม่เห็นภาพ ขณะนี้หากไปเดินแยกราชประสงค์ก็ไม่เห็นภาพที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ ณ วันนั้นมันไม่ใช่ ราชประสงค์เป็นพื้นที่ที่รัฐเข้าไปดูแลไม่ได้

“ที่ถามถึงคุณธาริต ผมก็อยากให้กำลังใจท่าน ผมรู้จักกับท่านดี ท่านเป็นมืออาชีพ วันนี้ท่านก็ยังเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่ต้องรักษาความยุติธรรม รักษาการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ผมว่าท่านไม่ละทิ้งตรงนั้น คนอื่นอาจจะสงสัยท่าน แต่ผมไม่เคยมีข้อสงสัยอะไรในตัวท่าน”

ส่วนที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์นายธาริตว่าเปลี่ยนไป นายถวิลกล่าวว่า ตนไม่ขอวิจารณ์ ตนต่างหากที่เปลี่ยนเพราะตอนนั้นเป็นเลขาฯ สมช.แต่ตอนนี้ตนเป็นที่ปรึกษานายกฯ แต่นายธาริตยังเป็นอธิบดีดีเอสไอ

ส่วนที่นายธาริตอ้างว่าไม่รู้ข้อมูลการสั่งการของฝ่ายยุทธการ นายถวิลกล่าวว่า การขอคืนพื้นที่เป็นความเห็นชอบร่วมกันของ ศอฉ. แต่การปฏิบัติมันสั่งการในที่ประชุมไม่ได้ ผู้ปฏิบัติหรือมีหน้าที่รับผิดชอบต้องไปออกแผนปฏิบัติของตัวเองตามกรอบที่ ศอฉ.ให้ไว้ ถ้ามีใครไม่เห็นด้วย หรือเห็นว่าการกระทำไม่ถูกต้องก็สามารถให้ความเห็นในที่ประชุมได้ เมื่อถามว่าแผนปฏิบัติในฐานะเลขาฯ ศอฉ.รับรู้ด้วยหรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า แม้จะทราบก็อ่านแผนไม่ออกว่าสั่งการอย่างไร เมื่อถามว่าแผนออกมาแล้วต้องขออนุมัติจากใครจึงจะไปปฏิบัติได้ นายถวิล กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเร็ว มาก แค่สั่งการแล้วแยกย้ายกันปฏิบัติงานยังไม่ทันเลย ฉะนั้นคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าหน่วย ผู้ที่สั่งการออกไปปฏิบัติอย่างไร แต่ถ้าบอกว่าเอาแผนมาให้นายอภิสิทธิ์ หรือนายสุเทพดูก่อนหรือไม่ตนก็ไม่ยืนยันเพราะไม่ได้เห็นในส่วนนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปราบจลาจลทั่วโลกเขามีวิธีการสากลอยู่แล้ว ทำไมเราถึงใช้กำลังทหารติดอาวุธและรู้ว่าทหารทำแล้วต้องรุนแรง ไม่เหมือนตำรวจดำเนินการ นายถวิลกล่าวว่า ถ้าตนพูดทุกคนอาจจะเข้าใจตนผิด ตนคิดว่าวิธีการที่เราทำงานในบ้านเมืองเราอะลุ้มอล่วยมากที่สุดแล้วถ้าเทียบกับต่างประเทศ ส่วนที่ถามว่าทำไมใช้ทหารเพราะตำรวจไม่เพียงพอในการปฏิบัติงาน และตำรวจไม่พร้อมทำงาน เพราะบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ต.ค. 2551 ยังเลียแผลไม่หาย แม้จะบอกว่าตำรวจทำงานได้กลมกลืนมากกว่าเพราะถูกฝึกมา แต่ตำรวจก็ยังโดน เพราะฉะนั้น ทหารหรือไม่ใช่ทหารก็ไม่สำคัญเท่ากับเราสรุปบทเรียนเมื่อ 7 ต.ค. 2551 เอาคำสั่งศาลมาดูขอบเขตปฏิบัติได้มากแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหมือนว่าข้อเท็จจริงถูกเปลี่ยนไปตามรัฐบาลในแต่ละยุคหรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า ตนรู้สึกอย่างนั้น แต่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว เรื่องอื่นเกินหน้าที่ของตน แค่นี้ก็กลุ้มใจพอแล้ว สักวันหนึ่งถ้าตนเดินมาแล้วเอาสองเท้าเดินแล้วคนบอกว่าเพี้ยนแล้วต้องใช้หัวเดินแทนถึงจะถูกต้อง ถ้าบ้านเมืองถึงขณะนั้นก็เลิกกัน และเจ้าหน้าที่รัฐยอมทุกอย่างเพื่อรักษาตำแหน่งหน้าที่เอาไว้ และทำทุกอย่างที่ฝืนมโนธรรม ฝืนความจริง ข้อกฎหมาย ก็เป็นความโชคร้ายของเรา แต่ตนไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน ตนจะไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น ส่วนที่ว่าหมายถึงนายธาริตหรือไม่นั้นก็ทุกท่าน ใครเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น รวมถึงตนหากเป็นอย่างนั้นก็จะด่าตัวเอง

ส่วน 98 ศพที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากใครจะต้องรับผิดชอบนั้น นายถวิลกล่าวว่า ใครทำผิดก็รับผิดชอบ แต่เจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ คนที่เป็นนายกฯ ก็คงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบ และจะต้องรับผิดชอบมากกว่านายสุเทพที่เป็น ผอ.ศูนย์ด้วยซ้ำ เพราะนายกฯ เป็นหัวหน้าบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะมอบให้ใครก็ต้องรับผิดชอบถ้ามีความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่ตนขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม อย่าให้เป็นเรื่องใครไปกล่าวหาใครว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เมื่อถามว่าขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังพุ่งเป้าไปที่นายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ที่จะให้รับผิดชอบ นายถวิลกล่าวว่า สังคมมันเพี้ยนไปมาก การสั่งการเป็นไปด้วยความรอบคอบ ทำไปด้วยความยั้งคิดอย่างมาก เราผ่านประสบการณ์อย่างนี้มาพอสมควร พอเวลาผ่านมาการไปรักษาความสงบเรียบร้อยในขณะนั้น แต่กระแสขณะนี้กลับบอกว่าออกไปฆ่าประชาชน ตนคิดว่ามันไม่ยุติธรรม

“ถ้านึกย้อนปี 2 ปีที่ผ่านมา ลำดับเหตุการณ์ดูว่ามันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐถูกต่อว่าด้วยซ้ำจากประชาชนทั่วไปว่ารักษาบ้านเมืองอย่าปล่อยให้คนมาละเมิดกฎหมาย เอาประเทศไทยมาเป็นตัวประกัน ผมเรียกร้องให้ฉายหนังกลับไปว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น ผมคิดว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หย่อนด้วยซ้ำไป ด้วยความเป็นธรรม ผมอยากให้ไปดูพัฒนาการสถานการณ์ในขณะนั้นเทียบกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ความยุติธรรมก็มีการเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่าย อย่าฟังฝ่ายเดียว ฟังส่วนที่เป็นกลาง หรือกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่าความเป็นธรรม ข้อเท็จจริงมันมีอยู่หนึ่งเดียว ความจริงมันมีอยู่แล้ว แต่การเข้าหาความจริงต้องอาศัยองค์กร ผมคาดหวังว่าถ้าจะเอาชาติบ้านเมืองให้อยู่รอดต่อไปได้ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องทำงานอย่างมีจริยธรรม ตรงต่อหน้าที่ ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก”

ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมควรเรียนรู้อย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น นายถวิลกล่าวว่า การชุมนุมเรียกร้องเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญมันจะมีต่อไป ดังนั้นต้องมีกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ถูกต้องจะต้องได้รับการคุ้มครอง มิฉะนั้นเมื่อ 7 ต.ค. 51 ตำรวจง่อยเปลี้ยเสียขาไป แล้วจะให้ปี 53 เจ้าหน้าที่ทหารเป็นอย่างนั้นไปด้วยหรือไม่ ต่อไปข้างหน้าจะเอาใครมาทำงาน เมื่อทำงานเสร็จสิ้น ไม่ชม แต่ไปไล่บี้อย่างนี้ มันไม่เป็นธรรม ต่อไปบ้านเมืองเกิดวิกฤตจะเรียกร้องใคร ถ้าไม่รักษาตรงนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อบางกลุ่มในระยะสั้น แต่ระยะยาวลูกหลานจะทนทุกข์ต่อสิ่งที่เราทำวันนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น