ส่งออกหดตัว อาจไม่น่ากลัวที่จะก่อวิกฤตได้เท่ากับ
นโยบายที่ขัดแย้งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
หากการส่งออกที่หดตัว หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และความไม่เชื่อมั่นต่อการจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ภายใต้กรอบแนวคิดของตัวแบบรุ่นที่ 1 และ 2 คำถามที่อยากรู้ก็คือวิกฤตเศรษฐกิจไทยในครั้งต่อไปจะอยู่ในวิสัยที่สามารถมองเห็นได้ในอนาคตอันใกล้ด้วยสาเหตุข้างต้นนี้หรือไม่?
เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2555 ก็ยังอาศัยการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวรถจักรลากจูงประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าเช่นเดียวกับในอดีตเมื่อวิกฤตที่เกิดขึ้น 15 ปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกที่เน้นปริมาณในสินค้าเกษตรและเน้นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อมา “ประกอบ” ภายในประเทศเพื่อส่งออกไปอีกครั้งหนึ่งในสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าเพิ่มจากการส่งออกจึงมีต่ำเพราะสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ขายในรูปวัตถุดิบที่ไม่ได้แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมดูไปแล้วแม้มีมูลค่าส่งออกสูงแต่ก็มีมูลค่านำเข้าสูงเช่นเดียวกัน มูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมที่ตกอยู่ภายในประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของค่าแรงหรือสินค้าที่ส่งออกไม่ได้ (non-tradable goods) เป็นสำคัญ
ดังนั้น ภาพรวมในรอบกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา Terms of Trade ที่เป็นดัชนีเปรียบเทียบระหว่างราคาสินค้าส่งออกโดยรวมเทียบกับราคาสินค้านำเข้าจึงเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ มิได้เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด
หัวรถจักรการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นเช่นรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ไม่เคยได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด
ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ การส่งออกที่ชะลอตัวลงไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบแต่อย่างใดไม่ หากแต่ประเทศไทยเริ่มนำตัวเข้าไป “ติดน้ำมัน-ก๊าซ” มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างถอนตัวไม่ขึ้นเฉกเช่นเดียวกับเด็กดมกาว สาเหตุที่สำคัญก็คือ รัฐบาลที่ผ่านมาต่างมุ่งทำให้พลังงานเป็นสินค้าการเมืองเพื่อหาเสียง จากราคาพลังงานถูก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซจึงถูกควบคุมให้มีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาโดยตลอด การประหยัดพลังงานหรือการคิดค้นใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ จึงไม่เกิดขึ้น
ผลเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือประสิทธิภาพที่แสดงออกโดยขีดความสามารถในการแข่งขันที่ตกต่ำลง คนไทยต้องนำสินค้ามากชนิดและ/หรือในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นไปขายต่างประเทศเพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศมาจ่ายแลกกับการนำเข้าพลังงาน
ตัวอย่างง่ายๆ ในปี 2548 คนไทยขาย ยาง+ข้าว อันเป็นสินค้าของไทยล้วนๆ เพราะเป็นสินค้าเกษตรผลิตจากผืนดินไทย ประมาณ 2.1 แสนล้านบาทแต่ก็ยังไม่พอเพียงกับที่นำเข้าน้ำมันดิบที่มีมูลค่าถึง 6.8 แสนล้านบาท แต่ในปี 2554 ยาง+ข้าวขายได้ 3.7 แสนล้านบาทแต่กลับต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง 1 ล้านล้านบาท ราคาสินค้าเกษตรที่ขายจึงเพิ่มไม่เท่าทันราคาพลังงานที่นำเข้า
ช่องว่างนี้เริ่มถ่างมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ การจะโอน ปตท.กลับมาเป็นของรัฐเหมือนเดิม หรือการค้นพบบ่อน้ำมันในอ่าวไทย ก็ไม่ได้แก้ปัญหานี้แต่อย่างใดหากคนไทยยัง “ติดน้ำมัน-ก๊าซ” มากขึ้นดังเช่นที่เป็นอยู่
สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากไปกว่านี้ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ก็คือนโยบายการส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย ยิ่งมามากขึ้นเท่าใดก็หมายความว่านักลงทุนและผู้บริโภคต่างชาติก็จะได้ผลประโยชน์จากการใช้พลังงานราคาถูกที่อุดหนุนโดยคนในประเทศไทยมากขึ้นเท่านั้น ช่างเป็นสวรรค์ของต่างชาติเสียนี่กะไร น้ำมัน-ก๊าซก็ถูกกว่าบ้านเขา มลพิษก็ทิ้งอยู่ที่ไทยได้ ภาษีก็เสียน้อยหรือไม่เสียเลย
เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2009 ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มอียูยังไม่สำแดงอาการ อัตราการเจริญเติบโตของไทยวัดโดย GDP ก็ติดลบหดตัวลงไปกว่าร้อยละ 2 แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาการส่งออกอย่างชัดเจน
พัฒนาการของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้คู่ค้าที่สำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น มีความต้องการสินค้าจากไทยลดน้อยลงอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านั้นชะลอตัวลง ในขณะที่จีนที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกก็มีชะลอตัวในการส่งออกเช่นเดียวกัน
การจะหาตลาดอื่นมาทดแทนเป็นเรื่องที่พูดง่ายเหมือน “เอาอยู่” แต่ทำยาก “เอาไม่อยู่” เพราะทุกประเทศที่ส่งออกได้น้อยลงก็ทำเช่นเดียวกันเพื่อรักษาระดับการส่งออก หาคำสั่งซื้อป้อนโรงงานเพื่อไม่ให้คนงานว่างงาน
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มอียูที่ไม่รู้ว่าจะมีจุดต่ำสุดอยู่ที่ใดนั้นเป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่
การรับจำนำข้าว ยาง หรือสินค้าเกษตรที่สำคัญเกือบทุกชนิดที่ถูกทำให้เป็นสินค้าการเมืองที่รัฐเข้าไปมีบทบาทรับประกันราคาที่ทำให้ส่งออกไม่ได้เพราะราคารับประกันสูงเกินกว่าราคาในตลาดโลก หรือนโยบายการเพิ่มการใช้น้ำมัน-ก๊าซ เช่น นโยบายรถคันแรก ที่นอกจากจะเอาเงินทุกคนมาอุดหนุนให้คนบางคนได้ใช้รถในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมแล้วยังจะผลาญน้ำมัน-ก๊าซจากจำนวนรถที่ออกมาวิ่งในท้องถนนที่มีอยู่อย่างจำกัด
ผู้ซื้อรถคันแรกที่รับรถช่วง ม.ค.-ส.ค. 55 น่าจะรู้แล้วว่าตนเองเป็น 1 ใน 600,000 คันเศษ (จากเดิมเพิ่มปีละประมาณ 200,000 คัน) ที่นำรถใหม่มาจอดติดบนถนนใน กทม.ที่มีความจุเพียง 1.6 ล้านคัน ส่วนที่ยังไม่ได้รถก็ควรจะรับรู้ว่าต้องเผชิญกับรถสะสมที่มีอยู่แล้วถึง 7 ล้านคัน ในขณะที่ต้องนำเข้าพลังงานที่แพงขึ้น
นโยบายที่ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เหล่านี้จะมีผลทำให้มีการขาดดุลการค้ามากขึ้นเพราะนำเข้าเท่าเดิมหรือมากขึ้น ไม่ได้ลดลงตามการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลงแต่อย่างใด
แม้จะคิดเข้าข้างตนเองว่าประเทศไทยในปัจจุบันไม่เหมือนปี 2540 เนื่องจากมีเงินทุนสำรองอยู่มากและใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะหลุดรอดพ้นวิกฤตไปได้เพราะหากปราศจากแนวทางการแก้ไขความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นความเชื่อมั่นก็ไม่เกิด
นโยบายที่ขัดแย้งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
หากการส่งออกที่หดตัว หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และความไม่เชื่อมั่นต่อการจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ภายใต้กรอบแนวคิดของตัวแบบรุ่นที่ 1 และ 2 คำถามที่อยากรู้ก็คือวิกฤตเศรษฐกิจไทยในครั้งต่อไปจะอยู่ในวิสัยที่สามารถมองเห็นได้ในอนาคตอันใกล้ด้วยสาเหตุข้างต้นนี้หรือไม่?
เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2555 ก็ยังอาศัยการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวรถจักรลากจูงประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าเช่นเดียวกับในอดีตเมื่อวิกฤตที่เกิดขึ้น 15 ปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกที่เน้นปริมาณในสินค้าเกษตรและเน้นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อมา “ประกอบ” ภายในประเทศเพื่อส่งออกไปอีกครั้งหนึ่งในสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าเพิ่มจากการส่งออกจึงมีต่ำเพราะสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ขายในรูปวัตถุดิบที่ไม่ได้แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากนัก ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมดูไปแล้วแม้มีมูลค่าส่งออกสูงแต่ก็มีมูลค่านำเข้าสูงเช่นเดียวกัน มูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมที่ตกอยู่ภายในประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของค่าแรงหรือสินค้าที่ส่งออกไม่ได้ (non-tradable goods) เป็นสำคัญ
ดังนั้น ภาพรวมในรอบกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา Terms of Trade ที่เป็นดัชนีเปรียบเทียบระหว่างราคาสินค้าส่งออกโดยรวมเทียบกับราคาสินค้านำเข้าจึงเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ มิได้เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด
หัวรถจักรการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นเช่นรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ไม่เคยได้รับการปรับปรุงให้มีความทันสมัยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด
ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ การส่งออกที่ชะลอตัวลงไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบแต่อย่างใดไม่ หากแต่ประเทศไทยเริ่มนำตัวเข้าไป “ติดน้ำมัน-ก๊าซ” มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างถอนตัวไม่ขึ้นเฉกเช่นเดียวกับเด็กดมกาว สาเหตุที่สำคัญก็คือ รัฐบาลที่ผ่านมาต่างมุ่งทำให้พลังงานเป็นสินค้าการเมืองเพื่อหาเสียง จากราคาพลังงานถูก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซจึงถูกควบคุมให้มีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาโดยตลอด การประหยัดพลังงานหรือการคิดค้นใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ จึงไม่เกิดขึ้น
ผลเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือประสิทธิภาพที่แสดงออกโดยขีดความสามารถในการแข่งขันที่ตกต่ำลง คนไทยต้องนำสินค้ามากชนิดและ/หรือในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นไปขายต่างประเทศเพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศมาจ่ายแลกกับการนำเข้าพลังงาน
ตัวอย่างง่ายๆ ในปี 2548 คนไทยขาย ยาง+ข้าว อันเป็นสินค้าของไทยล้วนๆ เพราะเป็นสินค้าเกษตรผลิตจากผืนดินไทย ประมาณ 2.1 แสนล้านบาทแต่ก็ยังไม่พอเพียงกับที่นำเข้าน้ำมันดิบที่มีมูลค่าถึง 6.8 แสนล้านบาท แต่ในปี 2554 ยาง+ข้าวขายได้ 3.7 แสนล้านบาทแต่กลับต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง 1 ล้านล้านบาท ราคาสินค้าเกษตรที่ขายจึงเพิ่มไม่เท่าทันราคาพลังงานที่นำเข้า
ช่องว่างนี้เริ่มถ่างมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ การจะโอน ปตท.กลับมาเป็นของรัฐเหมือนเดิม หรือการค้นพบบ่อน้ำมันในอ่าวไทย ก็ไม่ได้แก้ปัญหานี้แต่อย่างใดหากคนไทยยัง “ติดน้ำมัน-ก๊าซ” มากขึ้นดังเช่นที่เป็นอยู่
สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากไปกว่านี้ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ก็คือนโยบายการส่งเสริมการลงทุนให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย ยิ่งมามากขึ้นเท่าใดก็หมายความว่านักลงทุนและผู้บริโภคต่างชาติก็จะได้ผลประโยชน์จากการใช้พลังงานราคาถูกที่อุดหนุนโดยคนในประเทศไทยมากขึ้นเท่านั้น ช่างเป็นสวรรค์ของต่างชาติเสียนี่กะไร น้ำมัน-ก๊าซก็ถูกกว่าบ้านเขา มลพิษก็ทิ้งอยู่ที่ไทยได้ ภาษีก็เสียน้อยหรือไม่เสียเลย
เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2009 ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มอียูยังไม่สำแดงอาการ อัตราการเจริญเติบโตของไทยวัดโดย GDP ก็ติดลบหดตัวลงไปกว่าร้อยละ 2 แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาการส่งออกอย่างชัดเจน
พัฒนาการของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้คู่ค้าที่สำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น มีความต้องการสินค้าจากไทยลดน้อยลงอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านั้นชะลอตัวลง ในขณะที่จีนที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกก็มีชะลอตัวในการส่งออกเช่นเดียวกัน
การจะหาตลาดอื่นมาทดแทนเป็นเรื่องที่พูดง่ายเหมือน “เอาอยู่” แต่ทำยาก “เอาไม่อยู่” เพราะทุกประเทศที่ส่งออกได้น้อยลงก็ทำเช่นเดียวกันเพื่อรักษาระดับการส่งออก หาคำสั่งซื้อป้อนโรงงานเพื่อไม่ให้คนงานว่างงาน
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มอียูที่ไม่รู้ว่าจะมีจุดต่ำสุดอยู่ที่ใดนั้นเป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่
การรับจำนำข้าว ยาง หรือสินค้าเกษตรที่สำคัญเกือบทุกชนิดที่ถูกทำให้เป็นสินค้าการเมืองที่รัฐเข้าไปมีบทบาทรับประกันราคาที่ทำให้ส่งออกไม่ได้เพราะราคารับประกันสูงเกินกว่าราคาในตลาดโลก หรือนโยบายการเพิ่มการใช้น้ำมัน-ก๊าซ เช่น นโยบายรถคันแรก ที่นอกจากจะเอาเงินทุกคนมาอุดหนุนให้คนบางคนได้ใช้รถในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมแล้วยังจะผลาญน้ำมัน-ก๊าซจากจำนวนรถที่ออกมาวิ่งในท้องถนนที่มีอยู่อย่างจำกัด
ผู้ซื้อรถคันแรกที่รับรถช่วง ม.ค.-ส.ค. 55 น่าจะรู้แล้วว่าตนเองเป็น 1 ใน 600,000 คันเศษ (จากเดิมเพิ่มปีละประมาณ 200,000 คัน) ที่นำรถใหม่มาจอดติดบนถนนใน กทม.ที่มีความจุเพียง 1.6 ล้านคัน ส่วนที่ยังไม่ได้รถก็ควรจะรับรู้ว่าต้องเผชิญกับรถสะสมที่มีอยู่แล้วถึง 7 ล้านคัน ในขณะที่ต้องนำเข้าพลังงานที่แพงขึ้น
นโยบายที่ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เหล่านี้จะมีผลทำให้มีการขาดดุลการค้ามากขึ้นเพราะนำเข้าเท่าเดิมหรือมากขึ้น ไม่ได้ลดลงตามการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลงแต่อย่างใด
แม้จะคิดเข้าข้างตนเองว่าประเทศไทยในปัจจุบันไม่เหมือนปี 2540 เนื่องจากมีเงินทุนสำรองอยู่มากและใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะหลุดรอดพ้นวิกฤตไปได้เพราะหากปราศจากแนวทางการแก้ไขความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นความเชื่อมั่นก็ไม่เกิด