xs
xsm
sm
md
lg

“ญี่ปุ่น” ขาดดุลการค้าเดือน ก.ค. สูงเป็นประวัติการณ์ 2 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่าเรือสินค้านานาชาติในกรุงโตเกียว
เอเอฟพี - ความซบเซาของตลาดส่งออกทั้งในยุโรปและเอเชียฉุดให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมยิ่งกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะย่ำแย่ สถิติเผยวันนี้ (22)

ยอดขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมพุ่งสูงถึง 517,400 ล้านเยน (ราว 200,500 ล้านบาท) ซึ่งเป็นสถิติต่อเดือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเกือบเป็น 2 เท่าของยอดขาดดุล 275,000 ล้านเยนที่รัฐบาลญี่ปุ่นคาดไว้ก่อนหน้านี้

สถิติล่าสุดยังสวนทางโดยสิ้นเชิงกับตัวเลขเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งญี่ปุ่นกลับมาได้ดุลการค้าประมาณ 60,300 ล้านเยน (ราว 24,000 ล้านบาท)

ทากาฮิโร เซกิโดะ นักวางแผนยุทธศาสตร์จากสถาบันวิจัยโกลบอล มาร์เกตส์ ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ระบุว่า ยอดขาดดุลการค้าในเดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า “การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและยุโรปเริ่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าของญี่ปุ่น”

จากบทสัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวดาวโจนส์ นิวส์ไวร์ เซกิโดะ ชี้ว่า ตัวเลขการค้าเดือน ก.ค. อาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ

เซกิโดะคาดว่าบีโอเจน่าจะออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งถัดไปภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงบีโอเจจะแถลงภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก

มูลค่าการส่งออกโดยรวมของญี่ปุ่นลดลง 8.1 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 5.32 ล้านล้านเยน อันเป็นผลจากยอดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง แม้ว่าการส่งออกรถยนต์จะขยายตัวก็ตาม

เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปดิ่งลงถึง 25.1 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 10.6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้โตเกียวขาดดุลการค้ากับสหภาพยุโรปประมาณ 95,200 ล้านเยน

ยอดส่งออกสินค้าไปจีนลดลงราว 11.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.3 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับสถิติเดือนมิถุนายน

ขณะเดียวกัน ยอดส่งออกสินค้าญี่ปุ่นไปยังเกาหลีใต้, ฮ่องกง, ไต้หวัน และสิงคโปร์ ก็ลดลงประมาณ 14.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 4.7 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวถึง 15.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยอดนำเข้าสินค้าจากอเมริกาเพิ่มขึ้น 7.6 เปอร์เซ็นต์

โนริโอะ มิยางาวะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยและที่ปรึกษา มิซูโฮ ซีเคียวริตีส์ ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ยังเพิ่มขึ้นบวกกับปัญหาราคาเชื้อเพลิง ทำให้ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะขาดดุลการค้าต่อไปอีก แต่ก็พอมีสัญญาณดีอยู่บ้างจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแววกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น