“อภิสิทธิ์” เรียกร้องถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขจัดเงื่อนไขขัดแย้ง ชี้แค่ดร็อปไม่ชัดเจนจะนำขึ้นมาพิจารณาเมื่อใด ห่วงสัญญาณเตือนเศรษฐกิจถอถอย ทั้งขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 15 ปี ยอดส่งออกข้าวตก จี้ “นายกฯ ปู” ทบทวนโครงการจำนำข้าว หลังทีดีอาร์ไอติงทำหนี้สาธารณะพุ่งเกิน 60% ระบุหากรัฐบาลยังไร้สำนึกพาชาติเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ส่วนดีเอสไอสอบระบายข้าวปี 53 เป็นเรื่องเก่าสมัยรัฐบาลชุดก่อน แนะ “นช.แม้ว” ใช้วันเกิดทบทวนตัวเองหากคิดได้ชีวิตมีสุข
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะไม่เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่ค้างการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาฯ ว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีและอยากให้มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะอะไรที่ช่วยขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งได้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ดีที่สุดคือ ถ้าสามารถทำให้ผู้ที่เสนอได้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองให้ชัดเจนไปเลย เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ หากยังคาอยู่ในสภาก็จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่า สัปดาห์นี้ไม่เอา สัปดาห์ต่อไปจะพิจารณาหรือไม่ก็ไม่มีใครทราบ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรขจัดเงื่อนไขความขัดแย้ง เพราะมีปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งดูแลแก้ไขอยู่มาก
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจอย่างน้อยสองตัวที่รัฐบาลต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ คือ เรื่องการขาดดุลการค้า และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหากเดินอย่างนี้ไปถึงสิ้นปี จะทำให้เป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 15 ปี เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกที่สำคัญในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ และตัวเลขที่ 2 คือ การส่งออกข้าวของไทยตกไปอยู่อันดับ 3 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายจำนำข้าว จึงอยากให้เร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่นเดียวกับปัญหาภาคใต้ นายกรัฐมนตรีในฐานะที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ศอ.บต.ต้องมีการทบทวนหรือประเมินสถานการณ์และนโยบายด้วย เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง
ส่วนที่ ทีดีอาร์ไอออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะจะพุ่งสูงเกิน 60% หากยังเดินหน้านโยบายจำนำข้าวต่อนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นโยบายนี้หากทำต่อเนื่องหลายปีจะเป็นการสะสมภาระทางด้านการคลังค่อนข้างมาก ยังไม่นับรวมปัญหาที่ก่อให้เกิดกับระบบค้าข้าว สำหรับการก่อหนี้ของรัฐบาล ทั้งเรื่องโครงการน้ำก็มีการผ่านกฎหมายไปแล้ว แต่ตนไม่สบายใจว่ารัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะทำเพิ่มเติมเพื่อหลบเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ จึงไม่อยากให้รัฐบาลตั้งอยู่บนความประมาท เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่จำเป็น โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะที่รับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง แต่ความไม่แน่นอนและตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องระมัดระวังมากขึ้น ไม่ใช่ประมาท
“แต่หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาเตือนอย่างนี้ ผมก็ยังไม่ได้ยินสัญญาณจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งที่ผมคิดว่าต้องออกมาแล้ว เช่น นายกรัฐมนตรีจะเอาอย่างไรกับนโยบายจำนำข้าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และมีผลกระทบชัดเจนแล้ว จะต้องทบทวน เช่นเดียวกับที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายตัวเลขการส่งออกไว้สูงมาก แต่ภาวะการขาดดุลที่เกิดขึ้นส่งผลอย่างไรจะต้องทบทวน เพราะ ธปท.และภาคเอกชนก็ประเมินตรงกันว่าตัวเลขาการส่งออกจะอยู่ในระดับ 7% ขณะที่รัฐบาลวางเป้าหมายที่ 15% รัฐบาลต้องยอมรับความจริงและหาแนวทางที่จะบริหารตรงนี้ให้ดีที่สุดมากกว่า เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกพอสมควร และยิ่งประสบกับภาวะขาดดุลด้วยก็จะเป็นภาระต่อไปในอนาคต”
ส่วนกรณีที่ดีเอสไอเตรียมส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการระบายข้าวในสต๊อกช่วงปี 2553 นัน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นการตรวจสอบต่อเนื่องตามที่มีการร้องเรียนตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เนื่องจากตอนนั้นโครงการจำนำยังเดินอยู่และต้องทำต่อเนื่องเพื่อให้จบฤดูกาลนั้น โดยทั้งหมดนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีการชี้แจงไปแล้ว
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าคงไม่ขออะไร แต่หวังว่าเจ้าของวันเกิดคงอยากมีความสุข จึงคิดว่าความสุขที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อยากให้ไปทบทวนดูว่า ที่ชีวิตเดินมาถึงจุดนี้มีอะไรบ้างที่น่าจะทบทวน และถ้าคิดได้จะได้มีความสุข