xs
xsm
sm
md
lg

SCB ลดเป้าจีดีพีปีหน้าห่วงส่งออกเดี้ยง-หนี้รัฐท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์ประเมินเศรษฐกิจปีหน้ามีความเสี่ยงเพิ่ม ลดเป้าหมายเหลือเติบโต 4.7% จากเดิม 5% ชี้ส่งออกยังน่าห่วงหากยุโรปเดี้ยงหนัก คาดส่งออกร่วงเหลือ 5% เตือนนโยบายคลังกู้เพลิน-หนี้ท่วม กระทบเชื่อมั่น

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(SCB)เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ในปี 2556 ลงเหลือ 4.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 5% เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงไปมากว่าที่หลายสำนักประเมินไว้ รวมถึงราคาน้ำมันที่ไม่ได้ลดต่ำลงในระดับที่คาดการณ์ไว้ และเศรษฐกิจโลกที่ยังคงความไม่แน่นอน ซึ่งหากเป็นกรณีเลวร้ายก็จะเติบโตเพียง 2.7%

ส่วนปีนี้ยังคงประมาณการจีดีพีไว้ในระดับเดิมที่ 5.5% แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายคาดว่าจะโตเพียง 4.6% โดยการขับเคลื่อนส่วนใหญ่จะมาจากการบริโภค-ลงทุนภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูสภาพหลังน้ำท่วม แต่ในปีหน้าคาดว่าส่วนนี้น่าจะชะลอลง ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 5 กันยายนนี้ แม้ว่าคณะกรรมการน่าจะให้น้ำหนักในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ 3% เพื่้อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากช่องในการปรับลดดอกเบี้ยมีไม่มากนัก จากดอกเบี้ยที่แท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว

“ในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ไป มีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งกรณีความชัดเจนในการประกาศใช้ QE3 ความชัดเจนในแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตยุโรป ซึ่งหากวิกฤตยุโรปแย่กว่าคาด อาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้เพียง 5% ทั้งในปีนี้ และปีหน้า จากที่คาดการณ์ไว้ 8% และ 11%”

เตือนกู้เพลินหนี้ท่วม

ด้านฐานะการคลังของรัฐบาลนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจประเมินว่า หากยังมีการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 60% ของจีดีพี ในปี 2558 เนื่องจากต้องมีการกู้เงินมาเพื่อชดเชยการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากถึงระดับดังกล่าวก็อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีของสเปนที่มีหนี้สาธารณะ 60% และเมื่อมีเหตุกระทบคบเชื่อมั่น หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นเป็น 90% ภายใน 6 เดือน จากต้นทุนในการกู้ยืมที่สูงขึ้น

“อีกประเด็นที่ต้องจับตา คือ การขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยที่หนี้สาธารณะยังไม่ต้องถึง 60% ด้วยซ้ำ ซึ่งปัจจุบันไทยขาดดุลการค้าไปแล้ว ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดยังมีภาคบริการช่วยอยู่ แต่ก็เห็นการเกินดุลที่ลดลง และหากการท่องเที่ยวลดลงก็จะฉุดส่วนนี้ลงไปอีก จึงเป็นส่วนที่ต้องระวัง”

ชี้รับจำนำข้าวทำเสียระบบ

สำหรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้น น.ส.ธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์ Head of Sectoial Strategy กล่าวว่า นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกนั้นได้ส่งผลให้สัดส่วนรถยนต์ส่งออกลดลงเหลือ 43% จากเดิม 50% และยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 57% จากเดิม 50% โดยการเพิ่มขึ้นเป็นส่วนของรถยนต์ขนาดเล็ก 1500 ซีซี หรืออีโค คาร์ จากก่อนหน้านี้ที่การผลิตรถยนต์ของไทยส่วนใหญ่จะเน้นรถยนต์ขนาดกลาง 1500-3000 ซีซี

“รัฐบาลควรจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาว่า เราจะเปลี่ยนมาเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีโค คาร์ในภูมิภาคอาเซียน แล้วลดความสำคัญของการผลิตรถยนต์ขนาด 1500-3000 ซีซี ซึ่งในปัจจุบันเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกลุ่มรถยนต์นั่งของโลก และยังมีอัตราการเติบโตถึง 10% ขณะที่รถอีโคคาร์มีราคาต่อคันที่ต่ำ ต้องให้ความสำคัญต่อการผลิต และการขายในเชิงปริมาณ ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอาจส่งผลต่อการขยายมูลค่าการส่งออก และผลประกอบการของผู้ผลิตในอนาคตได้”

ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนั้น เห็นผลในเชิงลบค่อนข้างชัดกว่า โดยจะทำให้ชาวนามีแรงจูงใจให้เร่งปลูกพันธุ์ข้าวอายุสั้นเพื่อเพิ่มรอบการผลิตโดยขาดแรงจูงใจในการพัฒนาพันธุ์ข้าว ทั้งนี้ ยังจะมีผลต่อคุณภาพของดินทำให้ต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น และราคารับจำนำสูงกว่าตลาดมากทำให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ไทยเสียตำแหน่งผู้นำในการส่งออกข้าวในตลาดโลก

ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตนั้นควรจะหันไปให้ความสนใจ และสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพ การจัดรูป และปรับที่ดินให้เหมาะสมต่อการผลิต รวมถึงการให้ความสำคัญกับการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิต และความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาวมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น