ASTVผู้จัดการรายวัน- คอป.สรุปเหตุรุนแรงปี 53 ยันชายชุดดำมีจริง ใช้เอ็ม 79 และปืนเล็กยาวถล่มทหารตาย 8 ตำรวจอีก 2 กลุ่มคนรักสีลมอีก 1 มีหลักฐานชายชุดดำพัวพันกับ “เสธ.แดง” และการ์ด นปช. ระบุแกนนำแก๊งเสื้อแดงไม่พยายามควบคุมความรุนแรง ขณะที่ ศอฉ.บกพร่องไม่ประเมินผลการปฏิบัติการในสถานการณ์จริง ด้านศาลฯชี้ชัด "โชเฟอร์แท็กซี่"นปช.ดับ เกิดจากกระสุนเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงพรก.ฉุกเฉิน "ธาริต"รับลูกทันควัน"คดีฆาตกรรม"!
วานนี้ ( 17 ก.ย.) ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน รัชดา นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พร้อมกรรมการคอป. แถลงข่าวสรุปผลรายงานคอป.ฉบับสมบูรณ์หลังครบวาระการทำงาน 2 ปี โดยเนื้อหาในรายงานฉบับสมบูรณ์มีจำนวนเกือบ 300 หน้า พร้อมภาคผนวกเกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ผ่านมาของคอป.
โดยนายสมชาย หอมลออ กรรมการคอป. กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบเหตุรุนแรงมีผู้เสียชีวิต 92 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 8 คน ตำรวจ 2 คน ที่เหลือเป็นผู้ชุมนุม ไม่รวมคดีการเสียชีวิต 3 ศพ ที่สมานเมตตาแมนชั่น โดยทั้ง 92 คน มีหลักฐานเสียชีวิตเพราะชายชุดดำ 9 คน แยกเป็นทหาร 6 ตำรวจ 2 คน และกลุ่มคนรักษ์สีลม 1 คน โดยเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความสูญเสียมากที่สุดที่แยกคอกวัว และถนนดินสอ มีผู้เสียชีวิต 26 คน เป็นพลเรือน 21 คน รวมสื่อต่างประเทศ และทหาร 5 คน บาดเจ็บรวมกว่า 864 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารที่บาดเจ็บกว่า 300 คน
นายสมชาย กล่าวต่อว่า พบหลักฐานคนชุดดำ คือ บุคคลที่ไม่ทราบฝ่ายแน่ชัด ไม่ประกาศตัวชัด แต่ใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลัง 10 เม.ย. 2553 จากหลักฐานกองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พบมีการใช้ เอ็ม 79 และปืนเล็กยาวยิงใส่เจ้าหน้าที่ด้วย โดยการเสียชีวิตของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม พบว่าเสียชีวิตเพราะระเบิดเอ็ม 67 ไม่ใช่กระสุนปืนอย่างที่เคยเข้าใจ นอกจากนี้ ยังพบปฏิบัติการณ์ของชายชุดดำได้รับการสนับสนุนของการ์ดนปช. 6 คน โดยมีหลักฐานว่าพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง มีส่วนรู้เห็นด้วย เนื่องจากทั้งก่อนและหลังเกินเหตุรุนแรงพบว่าเสธ.แดงได้ปรากฏตัวในบริเวณดังกล่าวด้วย
สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งต้องการให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านโดยวิธีการของเจ้าหน้าที่คือการเข้ากระชับพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี โดยหวังว่าการกดดันจะทำให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายและไปขึ้นรถที่เตรียมไว้ที่สนามกีฬาแห่งชาติ แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่เคลื่อนไปมีความรุนแรงเกิดขึ้นและมีผู้เสียชีวิต โดยช่วงราชดำริขึ้นไปแยกสาระสิน มีผู้เสียชีวิต 6 คน เป็นทหาร 1 คน นักข่าวต่างประเทศ 1 คน ส่วนที่เหลือเป็นผู้ชุมนุม โดยทหารเสียชีวิตเพราะเอ็ม79
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้จัดการชุมนุมควรจัดให้ทุกอย่างอยู่ตามสิทธิกฎหมาย ต้องประสานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปราศจากอาวุธ สงบ และไม่ใช้สิทธิอันสมบูรณ์ เพราะเจ้าหน้าที่สามารถจัดการสถานการณ์ได้ตามอำนาจอันสมควรแก่เหตุ ดังนั้นจึงพบว่าแกนนำนปช. ยังไม่ใช้ความพยายามอย่างเพียงพอในการป้องกันเหตุรุนแรง
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในส่วนรัฐก็พบความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะศอฉ.ไม่มีระบบการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่ออกไปปฏิบัติการ นอกจากรอรับรับรายงาน ไม่มีการประเมินผลว่าคำสั่งปฏิบัติการจะมีผลอย่างไรกับผู้ชุมนุม ทำให้ผู้บริหารบางคนยังเข้าใจว่าไม่มีการใช้กระสุนจริง ทั้งที่จริงมีการใช้กระสุนจริงด้วย
ทั้งนี้การใช้อาวุธที่จะละเมิดต่อชีวิตจำเป็นต้องใช้ระวังเป็นพิเศษเช่นการยิงผู้ที่ไม่มีอาวุธอาจทำให้บาดเจ็บ ล้มตายได้ เคยมีคำพิพากษาเหตุรุนแรงเมื่อปี 2552 ว่าการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่แม้จะถูกยั่วยุโจมตีแต่ถ้าได้ใช้อาวุธกับคนไม่มีอาวุธในมือกองทัพต้องรับผิดชอบ
***ชี้นิรโทษฯไม่ทำให้เกิดปรองดอง
สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมนั้น รายงานข้อสรุปของคอป.ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า นิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง โดยเฉพาะในขณะที่สังคมมีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ การนำนิรโทษกรรม มาใช้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยต้องมีความเหมาะสมในแง่ของเวลาในขณะนี้ และต้องพิจารณาถึงองค์รวมของหลักความยุติธรรม ทั้งนี้คอป.เห็นว่าการนิรโทษกรรมจะต้องกำหนดขอบเขตความผิดและเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยให้แยกแยะการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ คอป.ยังได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเห็นกว่าการเร่งรัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยที่ประชาชนยังมิได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน และไม่เข้าใจกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง อาจจะทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อกระบวนการดังกล่างได้ โดยเห็นว่ารัฐต้องจัดให้มีเวทีสาธารณะหรือสานเสวนาเพื่ออภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเปรียบเทียบของประชาชนว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร
**“เหวง”ถามคอป.รับงานใครมาแถลงหรือไม่
นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ภายหลังที่ คอป.เสนอรายงานเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ว่า การที่ นายสมชาย หอมละออ กรรมการ คอป.แถลงเกี่ยวกับชายชุดดำนั้น ไม่มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์เพียงพอว่า มีชายชุดดำอยู่จริง โดยเฉพาะกรณีที่วัดปทุมวนาราม ที่บอกว่ามีรอยแตกที่ขอบรถไฟฟ้า พยายามโน้มน้าวว่า นั่นเป็นการยิงของชายชุดดำ ก็เลยทำให้ทหารต้องยิงคนในวัดปทุมฯ จึงตั้งข้อสงสัยว่ารับงานใครมาหรือไม่ นายสมชาย อธิบายล้วนมุ่งไปยืนยันว่า มีชายชุดดำทุกจุดที่เกิดการตาย แต่ในสำนวนสอบสวนของตำรวจ แม้ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ กลับไม่ปรากฏ และไม่เห็นอธิบายการตาย ของคนเสื้อแดงแม้แต่รายเดียว ทั้งนี้หวังว่าคอป.จะส่งหลักฐานต่างๆมาให้ตนพิจารณาด้วย
**ต้องเปิดใจกว้างรับฟังรายงานคอป.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ของคปอ. ที่มีการเสนอรายงานต่อสาธารณะว่า ได้ติดตามจากข่าว แต่คงต้องดูรายงานฉบับสมบูรณ์ก่อน จึงจะให้ความเห็นได้ เนื่องมีความยาวเกือบ 300 หน้า และมีความเกี่ยวพันกันหมด ทั้งข้อเท็จจริง การวิจัยสาเหตุ รากเหง้าปัญหา มาจนถึงข้อเสนอแนะ แต่อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจกว้าง เพราะคอป. มีความตั้งใจในการทำงานสืบค้นข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการสะท้อนให้เห็นปัญหาภาพรวม ซึ่งอาจจะขาดหายไปเวลาที่มีการถกเถียงกัน ทั้งนี้เห็นว่า สังคมควรจะได้เรียนรู้จากรายงานของคอป. เพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางที่จะนำไปสู่ความปรองดอง ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ เพราะการสร้างความปรองดองไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยฝ่ายเดียว สังคมต้องช่วยกัน และต้องดูข้อเสนอของคอป. ว่าครอบคลุมอย่างใดบ้าง
ส่วนกรณีที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำนปช. ออกมาแสดงความเห็น ไม่ยอมรับต่อรายงานของคอป.โดยระบุว่า ขาดความน่าเชื่อถือนั้น ตนเห็นว่า หากแต่ละฝ่ายอะไรถูกใจก็ยอมรับ อะไรไม่ถูกใจก็ปฏิเสธ หรือทำลายความเชื่อถือก็จะเป็นปัญหา ความปรองดองคงเกิดขึ้นไม่ได้ ยกเว้นมีความชัดเจนระบุได้ว่า คอป.ไม่น่าเชื่อถือเพราะอะไร มีอะไรมาหักล้างสิ่งที่คอป.นำเสนอ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และรัฐบาลก็ควรให้น้ำหนักกับรายงานของคอป. เพราะเขียนในนโยบายและนายกฯ ก็แถลงหลายครั้งว่าจะยอมรับการทำงานของ คอป. จึงควรเอาข้อเสนอแนะไปพิจารณา
สำหรับกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ไม่มีชายชุดดำ และสิ่งที่คอป.ตรวจสอบ ไม่ใช่บทสรุปเพราะไม่ใช่พนักกงานสอบสวนนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าพนักงานสอบสวนควรนำข้อค้นพบของคอป. ไปใช้ในสำนวนคดี จะละเลยคงไม่ได้ เพราะถ้าละเลย ก็เหมือนกับจงใจที่จะละเว้น
**"ประยุทธ์"ชี้รายงานคอป.ไม่ใช่บทสรุป
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงการแถลงผลสรุปของ คอป. ว่า สิ่งที่ คอป. สรุป เป็นการเสนอหนทางปรองดอง แต่ไม่ได้มาเสนอตน เขาเสนอรัฐบาล ตนไม่ใช่รัฐบาล ส่วนเรื่องคดีต้องไปสู้กันในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนทหาร ตนก็ต้องไปถามลูกน้องก่อน ซึ่งสิ่งที่ คอป.จะพูดคือ การออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง ส่วนจะจริง หรือไม่ ก็ให้แต่ละฝ่ายไปโต้แย้งกันเอง ส่วนทหารต้องไปถามผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต เพราะเขามีลูกเมีย สามี ต้องไปถามว่าเขาจะยอมรับหรือไม่
ทั้งนี้ ทหารต้องมีกติกาเช่นกองทัพบก ก็ต้องรักษากติกา ทำตามกฎหมาย ทำตามกระบวนการ แต่ถามว่า รับหรือไม่รับ เขาไม่ใช่กระบวนการศาล เมื่อนำข้อเท็จจริงออกมา ก็ต้องไปดูว่า จริงหรือไม่จริง สังคมจะได้เรียนรู้ว่า จริงหรือไม่จริง และจะเชื่อหรือไม่เชื่อ หากเขามีหลักฐาน ก็ต้องเชื่อเขา ส่วนใครจะยิงใคร ก็ต้องไปว่ากันที่กระบวนการยุติธรรม เรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน ไม่ใช่ว่า คอป.นำข้อสรุปออกมาเปิดเผยแล้วจะจบลงไปได้ เมื่อไม่จบจะมาถามตนทำไม
****ศาลชี้คดี“แท็กซี่แดง” ตาย ฝีมือทหาร
วานนี้ (17 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ อช.2/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ผู้ร้อง และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาผู้ตาย ผู้ร้องร่วม ยื่นคำร้องขอให้ศาลชันสูตรสาเหตุการตาย ของนายพัน คำกอง ชาวจ.ยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ลิงค์สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ระหว่างเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช.และเจ้านห้าที่ทหารได้ทำการกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์
คำร้องระบุว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มนปช. ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาอยู่ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศและบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ พ.ร.ก.บริหารสถานราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อควบคุมผู้ชุมนุมและมีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และแต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ต่อมามีการประกาศห้ามใช้ถนนถนนราชปรารภตั้งแต่สี่แยกประตูน้ำถึงสี่แยกมักกะสัน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมพื้นที่ พร้อมติดป้ายเขตใช้กระสุนจริง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 นายสมร ไหมทอง ขับรถยนต์ตู้กลับบ้านพักผ่านถนนราชปรารภ เจ้าหน้าที่ทหารประกาศให้หยุดรถ แต่นายสมร ขับรถไปต่อถึงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิ้งค์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธยิงหลายนัด อันเป็นการปฎิบัติหน้าที่ ทำให้นายสมร ถูกยิงได้รับบาดที่ลำตัวด้านหลัง และนายพัน ถูกกระสุนยิงตายหน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมไอดีโอ อันเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฎิบัติหน้าที่ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ตายเป็น ตายที่ให้ ตายเมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ตายเกิดจากอะไร ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150
จากพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้ร้องร่วมอันประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณีเจ้าพนักงานทหารผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องต่างๆ และพนักงานสอบสวน รวมถึงภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ได้ความว่า พ.ท.วรกานต์ ฮุ่นตระกูล ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ เบิกความว่า หลังเวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 มีคนร้ายยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 เข้าไปบริเวณที่ พ.ท.วรกานต์ รับผิดชอบ และมีวิทยุเครือข่ายทหารแจ้งว่าให้ระวังรถยนต์ตู้สีขาวอาจมีการทำคาร์บอร์มหรือขนอาวุธสงครามใช้ทำร้ายทหาร
ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ เบิกความว่า ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้สังเกตรถยนต์ตู้ จะมีการขนอาวุธและในวันเกิดเหตุเวลาเที่ยงคืน มีรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุขับไปจอดที่หน้าปากซอยราชปรารภ 8 จึงสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้รถยนต์ตู้แล่นกลับไปในทิศทางเดิมหรือเลี้ยวซ้ายไปทางประตูน้ำและต่อจากนั้นได้ใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บนรถประชาสัมพันธ์ประกาศให้ทราบอีกครั้ง รวมเวลาที่รถยนต์ตู้จอดอยู่ประมาณ 30 นาที
นายคมสันติ ทองมาก ผู้สื่อข่าวสำนักงานเนชั่นทีวีเบิกความว่า ได้ยินเสียงประกาศของเจ้าพนักงานทหารและได้ยินเสียงปืนดัง จึงใช้กล้องถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตัดต่อ นอกจากนี้นายอเนก ชาติโกฎิ พนักงานรักษาความปลอดภัยของคอนโดมิเนียมไอดีโอ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุนายพัน คำกอง ผู้ตายมาขอพักที่สำนักงานขายคอนโดมิเนียม ต่อมาได้ยินเสียงประกาศของเจ้าพนักงานทหาร หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังที่ละนัด
ศาลเห็นว่า ช่วงระยะเวลาที่ร.อ.เสริมศักดิ์ เบิกความว่าเห็นรถยนต์ตู้จอดอยู่เป็นเวลา 30 นาที ซึ่งเป็นเวลานานพอสมควรที่เจ้าพนักงานทหารที่ควบคุมสถานการณ์ขณะนั้นสามารถดำเนินการบางอย่างเพื่อให้ทราบว่ารถยนต์ตู้ดังกล่าวมีพฤติการณ์ดังที่ ร.อ.เสริมศักดิ์ และ พ.ท.วรกานต์ ได้ข้อมูลหรือไม่ แต่เจ้าพนักงานทหารก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร กลับปล่อยให้รถยนต์ตู้แล่นเลี้ยวขวาไปทางสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ควบคุม โดยมีคอนโดมิเนียมไอดีโอตั้งอยู่ริมถนนด้านขวาของรถยนต์ตู้ ร.อ.เสริมศักดิ์ , ส.อ.วรกร ผาสุกหรือผาสุก , ส.อ.ชิตณรงค์ สุดชัย ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ กลับยืนยันว่าขณะมีการระดมยิงรถตู้ ไม่มีใครเห็นและไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง ทั้งไม่ปรากฏในสรุปสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในเอกสารของเจ้าหน้าที่ทหาร ว่าในวันเกิดเหตุจะมีการทำคาร์บอร์มหรือขนอาวุธ จึงเห็นว่าพยานดังกล่าวเบิกความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและเหตุผล
นายอเนกและนายคมสันติ พยานทั้งสอง เป็นประจักษ์พยานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับใครมาก่อน เชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความตามความเป็นจริง ว่ามีการประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนแล้วจึงยิงปืนทีละนัด หลังจากนั้นจึงระดมยิงแบบอัตโนมัติ จากการประกาศแจ้งเตือนและการยิงปืนดังกล่าวทำให้ผู้ตายวิ่งไปหน้าสำนักงานคอนโดมิเนียมเพื่อยืนดูเหตุการณ์จึงทำให้ถูกลูกกระสุนปืนที่บริเวณหน้าอกซ้ายใต้ราวนม แฉลบทะลุไปถูกต้นแขนซ้ายและเส้นเลือดใหญ่ฉีกขาด เสียเลือดมากถึงแก่ความตาย โดยพล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม ผู้ชันสูตรพลิกศพผู้ตายและผ่าชันสูตรศพพบลูกกระสุนปืนรูปร่างปลายแหลมหุ้มทองเหลืองที่ต้นแขนซ้าย เป็นสาเหตุแห่งการตาย ส่วนพ.ต.ท.ธนงศักดิ์ บุญมาก ผู้ตรวจลูกกระสุนปืนที่ได้จากศพ เบิกความว่า ลูกกระสุนปืนจากศพเป็นลูกกระสุนปืนขนาดเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.) และว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ เผ่าถนอม ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนยืนยันว่าลูกกระสุนปืนที่พบจากศพเป็นส่วนประกอบของกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มม.) ซึ่งเป็นกระสุนปืนที่ใช้กับปืนความเร็วสูงชนิดเอ็ม 16 รุ่น เอ 2 แต่อาจนำไปใช้กับปืนเอ็ม 16 รุ่น เอ 1 ได้ เป็นอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม
เมื่อดูภาพถ่ายรถยนต์ตู้พบว่าบริเวณตัวถังรถยนต์ตู้ด้านหน้า ด้านซ้าย และด้านขวา มีร่องรอยถูกลูกกระสุนปืนจำนวนหลายแห่งและหลายชนิดแตกต่างกัน แสดงว่ามีผู้ร่วมยิงหลายคนใช้อาวุธปืนยิงจากอาวุธปืนหลายกระบอก และใช้กระสุนปืนต่างชนิดกัน ปรากฏในภาพเคลื่อนไหวมีบางเจ้าพนักงานทหารบางส่วนกำลังนั่งเล็งอาวุธปืนไปที่รถยนต์ตู้พร้อมจะยิงเพื่อช่วยเหลือสนับสนุน เชื่อว่าช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการยิงต่อสู้ระหว่างคนร้ายที่โจมตีด่านจุดตรวจหรือมีการปะทะกับเจ้าพนักงานทหาร ดังที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณได้รับรายงาน
นอกจากนี้ พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ นาคามาตย์ เบิกความยืนยันด้วยว่าในบริเวณที่กั้นลวดหนามเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถเข้าไปได้หากจะเข้าไปต้องถูกตรวจค้น ในช่วงดึกตนคอยบอกประชาชนว่าอย่าเข้าไปในถนนราชปรารภเพราะอาจถูกทหารยิง จึงเชื่อได้ว่าในที่เกิดเหตุมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถถืออาวุธปืนได้เท่านั้น โอกาสที่จะมีคนร้ายหลายคนพร้อมอาวุธปืนผ่านเข้าไปในพื้นที่ควบคุมดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้
จากพฤติการณ์ต่างๆดังกล่าวเชื่อว่าวันเกิดเหตุกลุ่มที่ร่วมระดมยิงอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามใส่รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุนั้นเป็นเจ้าพนักงานทหาร แม้ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าผู้ตายถูกลูกกระสุนปืนของผู้ใดแต่บริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมของเจ้าพนักงานทหารที่ควบคุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งถนนของที่เกิดเหตุ สภาพรถยนต์ตู้ก็ถูกยิงจากด้านหน้า ด้านซ้าย และด้านขวา ของตัวถังรถยนต์ ในช่วงเกิดเหตุไม่มีคนร้ายเข้าไปในที่เกิดเหตุในลักษณะเข้าไปยิงปะทะต่อสู้กับเจ้าพนักงานทหารตามที่วินิจฉัยข้างต้น คงมีเพียงเจ้าพนักงานทหารที่สามารถใช้อาวุธปืนยิงรถตู้เพราะฝ่าฝืนคำสั่งที่ประกาศเตือนไม่ให้แล่นเข้าไปในพื้นที่ควบคุม จึงเชื่อว่าการตายของผู้ตาย เกิดจากถูกลูกกระสุนปืนจากการยิงของเจ้าพนักงานทหาร
จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายชื่อนายพัน คำกอง ตายที่หน้าที่สำนักงานขายคอนโดมีเนียมชื่อไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค-8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฎิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า ยินดีที่ศาลมีคำสั่ง ทำให้รู้สึกว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ในเมืองไทย ซึ่งจะต้องทำให้ความจริงปรากฏและก็ไม่จำเป็นว่าความจริงนั้นจะต้องถูกใจทุกคน ต้องการให้คดีเสื้อแดงคดีอื่นดำเนินไปตามที่ควรจะเป็น และถือว่าคำสั่งคดีที่ออกมานั้นจะเป็นบรรทัดฐานให้อีก 19 สำนวนกับผู้เสียชีวิตอีก 98 ศพ คดีอื่นด้วย
***"ธิดา-เหวง"บิดประเด็นชายชุดดำ
ขณะที่ น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า คดีนี้ไม่มีชายชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเข้าให้การว่ามีกลุ่มชายชุดดำอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งจากคำสั่งศาลในวันนี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐและไม่มีกลุ่มชายชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยตนจะจับตาดูท่าทีของนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ต่อไป
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวภายหลังศาลอาญามีคำตัดสินคดี นายพันว่า คดีดังกล่าวถือเป็นคดีแรกจากจำนวน 36 ศพ ที่ทางดีเอสไอ ส่งสำนวนกลับไปยังตำรวจนครบาล เพื่อให้อัยการยื่นคำร้องขอไต่สวนต่อศาล ซึ่งคดีนี้อาจจะถือว่าเป็นปฐมบทอันสำคัญ เชื่อว่าคดีต่อๆไปการพิจารณาของศาลก็จะรวดเร็วยิ่งขึ้น และแนวทางก็จะเด่นชัดในเรื่องนี้ สำหรับทางดีเอสไอพร้อมที่จะรับเอาคำสั่งของศาลพร้อมสำนวนต่างๆ เพื่อมาดำเนินการต่อไป ซึ่งเราคงจะเรียกคดีต่อไปนี้ คือ คดีฆาตกรรม โดยการอาศัยการไต่สวนของศาลที่จะมีผลในวันนี้เป็นคดีปฐมบท
" ไม่ว่าผลคำตัดสินของศาลจะออกมาทางใด ดีเอสไอ ก็ต้องดำเนินการต่อเนื่องไป ผมคิดว่าข้อยุติโดยกระบวนการยุติธรรมของศาลในวันนี้ ส่วนหนึ่งก็จะทำให้หลายคนสบายใจว่า เราได้ความยุติธรรมกลับมาโดยข้อยุติของศาลแล้ว ความผิดถูกเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่จะว่ากันต่อไป ผมเชื่อว่าสังคมจะรับได้ เพราะว่ามันเป็นข้อยุติโดยศาลยุติธรรม ถ้าเราไม่เชื่อในสถาบันศาลยุติธรรมแล้วคงไม่มีอะไรจะยึดหน่วงอีกแล้ว ก็จำเป็นต้องช่วยกัน" นายธาริต กล่าว
**ยัดข้อหาฆาตกรรมตามธงเสื้อแดง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนได้ติดตามข่าวอยู่ แต่ยังไม่เห็นคำสั่งของศาลฉบับเต็ม ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยจากขั้นตอนนี้จะส่งกลับไปยังพนักงานอัยการ และพนังงานสอบสวน ซึ่งต้องว่าไปตามกระบวนการ
ส่วนกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ.) ออกมาระบุว่า จะดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรมนั้น ตนต้องถามว่า นายธาริต เห็นคำสั่งศาลครบถ้วนแล้วหรือยัง ซึ่งตนจะได้ดูการใช้อำนาจของฝ่ายต่างๆ ว่าเป็นไปตามกระบวนการหรือไม่ เพราะศาลก็ระบุว่า ศอฉ. มีคำสั่งให้เข้าไปควบคุมพื้นที่ คนละประเด็นกับการกล่าวหาว่า มีคำสั่งให้ไปฆ่าคน หรือทำให้เกิดความสูญเสีย จึงต้องดูสภาวะแวดล้อม พฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนังงานอัยการ และพนักงานสอบสวน แต่ถ้าคนที่สอบสวนมีธงโดยไม่สะท้อนความจริง คงไม่ได้ และไม่สามารถนำคดีนี้ไปเป็นบรรทัดฐานกับกรณีอื่นๆ ว่าเป็นเรื่องฆาตกรรมได้ เนื่องจากแต่ละกรณีเอามาผูกโยงไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ไม่ได้เกิดสถานที่เดียวกัน หรือเวลาเดียวกัน ซึ่งในกรณีของนายพัน ศาลระบุว่า การเสียชีวิตน่าจะเกิดจากช่วงที่มีการยิงรถตู้ ซึ่งจะนำไปใช้กับอีก 30 กรณี ที่ดีเอสไอ. ตั้งเรื่องคงไม่ได้
เมื่อถามว่า ดีเอสไอ. กำลังทำสำนวนให้ไปสอดรับกับข้อกล่าวหาทางการเมืองต่อ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ของฝ่ายคนเสื้อแดงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่านายธาริต พูดตามที่ฝ่ายการเมืองฝ่ายโน้นพูดมาก่อนหน้านี้ ตนก็ข้องใจอยู่ว่าเป็นการชี้นำหรือไม่
**โฆษกทบ.ยันทหารทำตามกม.
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลอ่านคำพิพากษาว่า การเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับรถแท๊กซี่ เกิดจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในการกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 53 ว่า เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ศาลท่านชี้ ตามสิ่งที่ได้ท่านไต่สวน ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เป็นผู้ดำเนินการหรือไม่ หรือการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง เกิดจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ ดังนั้นเราเคารพในการชี้ของศาล แต่ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องที่ทางศาลจะต้องส่งสำนวนต่อไปทางอัยการ และอัยการจะส่งต่อไปยังพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
“สิ่งหนึ่งที่กองทัพอยากชี้แจงทำความเข้าใจส่วนหนึ่งคือ ต้องย้อนกลับไปดูถึงสาเหตุในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ในขั้นต่อไปว่า ที่เกิดอย่างนั้น มีมูลเหตุมาจากอะไร เจ้าหน้าที่ทำตามกฏหมายอะไร แล้วพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าประกาศเป็นพื้นที่อันตรายที่ห้ามเข้าไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวังในการนำเสนอ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีผลกระทบต่อความรู้สึกของทุกฝ่าย อย่าลืมว่าในเหตุการณ์ที่ว่ามานี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนอยากให้เกิด ในขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต มีด้วยกันทุกฝ่าย ” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว.