xs
xsm
sm
md
lg

คอป.สรุปชายชุดดำผนึกแก๊งแดง ฆ่าทหาร 8 ตำรวจ 2 คนสีลม 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายชุดดำ กำลังยิงเอ็ม 79 บริเวณถ.ตะนาว เข้าใส่ทหาร เมื่อคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 (แฟ้มภาพ)
คอป.สรุปรายงานเหตุการณ์แดงก่อม็อบเผาเมืองปี 53 ฉบับสมบูรณ์ ยืนยันมีชายชุดดำจริง ใช้เอ็ม 79 และปืนเล็กยาวถล่มทหารตาย 8 ตำรวจอีก 2 กลุ่มคนรักสีลมอีก 1 และยังมีหลักฐานชายชุดดำพัวพันกับ “เสธ.แดง” และการ์ด นปช. ระบุแกนนำแก๊งเสื้อแดงไม่พยายามควบคุมความรุนแรง ขณะที่ ศอฉ.บกพร่องไม่ประเมินผลการปฏิบัติการในสถานการณ์จริง






ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน รัชดาฯ วันนี้ (17 ก.ย.) นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พร้อมกรรมการ คอป. แถลงข่าวสรุปผลรายงานการค้นหาความจริงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ของ คอป. ฉบับสมบูรณ์หลังครบวาระการทำงาน 2 ปี โดยเนื้อหาในรายงานฉบับสมบูรณ์ พร้อมภาคผนวกเกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ผ่านมาของ คอป.

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวมีความหนาจำนวนกว่า 300 หน้า โดยเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด และให้รายละเอียดเหตุการณ์เฉพาะกรณีจำนวน 10 เหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ความรุนแรงที่สถานีดาวเทียมไทยคมเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553, เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553, การเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สัวสัดิผล เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553, เหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณสวนลุมพินี-สีลม-ถนนพระรามที่ 4 บ่อนไก่ รวมทั้งเหตุการณ์วัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษาคม 2553 ด้วย

นายสมชาย หอมละออ คณะอนุกรรมการ คอป.กล่าวแถลงข่าวว่า สิ่งที่นำเสนอจะเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งก็คือเรื่องรายงานการตรวจสอบและค้นหาความจริง ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการที่จะนำไปสู่การปรองดองของคนในชาติ ปัจจุบันแต่ละคน แต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่มมีความจริงกันคนละชุด เราหวังว่าความพยายามของเราที่ทำงานอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาด้วยจิตอาสา และพยายามที่จะอาศัยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และหลักวิชาให้มากที่สุด คิดว่าจะสามารถนำเสนอภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สาเหตุต่างๆ ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค. 2553 ให้รัฐบาล รัฐสภา สังคม และนานาชาติได้ อย่างน้อยน่าจะทำให้ความเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวมีตรงกันไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของ คอป.ในการตรวจสอบและค้นหาความจริงที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องมาและได้รับการยอมรับในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งก็ได้ให้การสนับสนุนการทำงานของ คอป.เพื่อที่จะหาความจริงว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2553 เกิดขึ้นอย่างไร เพราะเหตุใด ในสภาพการณ์เช่นไร มีใครบ้างที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และมีเหตุผลในการเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ และสังคมไทย รัฐบาล และบุคคลที่เกี่ยวข้องจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือไม่ โดยวิธีใด ซึ่งรายงานจะเสนอต่อรัฐบาลและเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยหวังว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ ซึ่งการตรวจสอบและค้นหาความจริงของ คอป.จะแตกต่างจากการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน ที่มุ่งจะนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ คอป.มุ่งที่จะค้นหาความจริง

โดย คอป.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบค้นหาความจริง โดยคณะอนุกรรมการได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบเฉพาะกรณีขึ้นอีก 5 ชุด เป็นคณะทำงานเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรง 10 กรณี นับตั้งแต่เหตุการณ์สถานีวิทยุดาวเทียมไทยคม เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 ที่สี่แยกคอกวัวและหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์วัดปทุมวนารามในวันที่ 19 พ.ค. 2553 การเผาอาคารเซ็นทรัลเวิลด์และอาคารสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังศึกษาภาพรวมเหตุการณ์รวมทั้งภูมิหลังนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นต้นมา โดย คอป.ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญองค์การระหว่างประเทศ เช่น ยูเอ็นดีพี และไอซีทีเจ ในการฝึกอบรมอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์และการตรวจสอบเหตุการณ์โดยการสนับสนุนจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และมีผู้เชี่ยวชาญไทยอีกหลายคน เพื่อให้ได้ความจริงที่ใกล้เคียงที่สุด

ในตอนหนึ่ง นายสมชายกล่าวถึงการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเดือน เม.ย. ถึง พ.ค. 2553 โดยกล่าวว่ามีเหตุปัจจัยมาจากความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจต่อกันระหว่างรัฐบาล กับ นปช. และผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสืบเนื่องมาจากปี 2552 สืบเนื่องมาถึงปีต่อมา โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 มีผู้เสียชีวิต 92 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 8 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย นอกนั้นเป็นพลเรือน 82 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่าแทบจะไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเลย โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุม บางคนเป็นประชาชนที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุ มีช่างภาพชาวต่างประเทศ 2 คน และกลุ่มคนรักสีลมซึ่งไม่เห็นด้วยต่อการชุมนุม นปช. 1 คน ในจำนวน 92 คน มีข้อมูลพยานหลักฐานว่าเสียชีวิตจากการโจมตีของคนชุดดำ 9 คน เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 6 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย และกลุ่มคนรักสีลม 1 ราย ส่วนประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่

โดยจากการตรวจสอบเหตุการณ์วันที่ 9 เม.ย.กรณีสถานีดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี อย่างละเอียด แม้จะมีความรุนแรงแต่ก็ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่การที่เจ้าหน้าที่ทหารระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนเนล ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการยกระดับความรุนแรง การที่เจ้าหน้าที่นำอาวุธสงครามไปในการปฏิบัติ โดยเก็บไว้ในรถเสบียง ซึ่งผู้ชุมนุมยึดมาแล้วนำมาแสดงต่อสื่อมวลชน ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจจากผู้ชุมนุมมากยิ่งขึ้น การปฏิบัติของผู้ชุมนุมบางคนต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ปรากฏเป็นภาพที่เผยแพร่ที่ทำให้ทหารเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เช่น ผู้ชุมนุมบังคับให้ทหารคุกเข่า ส่วนทหารมีเหตุผลที่นำอาวุธสงครามแตกต่างกันไป เช่น เป็นอาวุธประจำตัว หรือเพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัย แต่การที่เกิดการระงับการออกอากาศของพีเพิลแชนเนลแม้จะใช้อำนาจที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นการกระตุ้นและยกระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์สำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดคือที่สี่แยกคอกวัวและถนนดินสอ วันที่ 10 เม.ย. 2553 มีผู้เสียชีวิต 26 ราย เป็นพลเรือน 21 รย รวมทั้งนายมูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย รวมทั้ง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม มีผู้บาดเจ็บทั้งผู้ชุมนุมและทหารรวมกว่า 864 คน เป็นเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 300 นาย โดยพบหลักฐานว่ามีคนชุดดำ ไม่ทราบฝ่ายแน่ชัด ใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารที่ถนนตะนาว และถนนข้าวสารบริเวณสี่แยกคอกวัว ในเวลาประมาณ 20.00 น. โดยใช้ระเบิดเอ็ม 79 และอาวุธปืนเล็กยาวหรืออาวุธสงครามยิงเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติการอยู่ที่ถนนตะนาวและถนนข้าวสาร เสียชีวิต 1 นาย สำหรับที่ถนนดินสอ จากหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่อเนื่องมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ถูกโจมตีโดยกลุ่มคนชุดดำเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นในเวลา 20.44 น. จากการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์จากทาง คอป. หลังจากมีการโจมตีแล้วเราพบว่ามีร่องรอยกระสุนที่มีวิถีการยิงมาจากที่เจ้าหน้าที่อยู่ ถ้าบนถนนตะนาวก็คือจากทิศทางวงเวียนวัดบวรนิเวศวิหารมาทางสี่แยกคอกวัว ถ้าที่ถนนดินสอจากสะพานวันชาติมาทางวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีร่องรอยมาก

ที่ถนนตะนาวนั้นนอกจากระเบิดเอ็ม 79 แล้วพบร่องรอยกระสุนที่ยิงสวนกลับไปแต่ไม่มากนัก สำหรับที่ถนนดินสอพบร่องรอยระเบิดซึ่งเป็นระเบิดเอ็ม 67 และผู้เชี่ยวชาญบางคนก็บอกว่าเป็นระเบิดเอ็ม 79 ด้วย โดยมีเอ็ม 67 อยู่ 2 ลูก แต่เราไม่พบร่องรอยกระสุนที่ยิงสวนไปจากวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทางสะพานวันชาติ จากการตรวจสอบหลายฝ่ายรวมทั้งฝ่ายเราด้วยพบว่าระเบิดเอ็ม 67 นั้นน่าจะขว้างมาจากบ้านไม้โบราณหลังหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับทางเข้าของโรงเรียนสตรีวิทยา และระเบิด 2 ลูกนี้เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นาย รวมทั้ง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมด้วย มีข่าวหรือการกล่าวในทางสื่อมวลชนว่า พ.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิตด้วยกระสุนปืน จากการชันสูตรพลิกศพไม่พบร่องรอยว่า พ.อ.ร่มเกล้านั้นถูกยิงด้วยกระสุนปืน และน่าเชื่อได้ว่าเสียชีวิตด้วยพิษจากสะเก็ดระเบิดเอ็ม 67

ประเด็นสำคัญ คอป.พบว่าเราพบการปฏิบัติการของคนชุดดำในทั้ง 2 พื้นที่นั้นได้รับการสนับสนุนจากการ์ด นปช.บางคน ด้านผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติวิทยาศาสตร์พยายามเปรียบเทียบกล้องวงจรปิดที่อยู่บริเวณนั้นกับกล้องของนักข่าว เพื่อที่จะทราบเวลาที่แน่นอนของการเกิดเหตุ และจากการตรวจสอบโดยละเอียดไม่พบหลักฐานของการเสียชีวิตของทหารทั้ง 5 นาย และบาดเจ็บจำนวนมากนั้นเกิดจากการโจมตีหรือการต่อสู้กันเองระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร แต่น่าเชื่อว่าได้เกิดจากการโจมตีและระเบิดสังหารโดยคนชุดดำ แต่เราไม่พบพยานหลักฐานเช่นเดียวกันว่ามีผู้ชุมนุมรายใดเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติการของคนชุดดำ อย่างไรก็ตาม พบว่าคนชุดดำบางคนเป็นผู้ใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และพบว่า พล.ต.ขัตติยะปรากฏตัวในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ตอนบ่าย เช่น สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาตั้งแต่ตอนเย็น ก่อนเกิดเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์ก็ได้ปรากฏตัวที่นั่นอีก

สำหรับบริเวณสี่แยกคอกวัวซึ่งมีภาพเผยแพร่ว่ามีคนซุ่มยิงบริเวณระเบียงของอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เราได้ร่วมตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว โดยการถ่ายภาพจำลองเหตุการณ์ พบว่าเป็นเงาของต้นปาล์ม ไม่ใช่คนซุ่มยิง และพบว่าทั้งคนชุดดำ และเจ้าหน้าที่ทหารเข้าใจว่าเป็นคนซุ่มยิง และยิงไปตรงจุดนั้น โดยพบแกนกระสุนที่เป็นเหล็ก ซึ่งเป็นกระสุนของปืนเอเค หรือปืนอาก้า ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ แต่ขณะเดียวกันเราก็พบร่องรอยตรงกำแพงระเบียงมีการยิงมาจากถนนข้าวสารด้วย ซึ่งเป็นทิศทางที่เจ้าหน้าที่อยู่ แสดงว่าภาพที่เห็นไหวๆ เหมือนกับคนซุ่มยิงนั้นทางทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันก็เข้าใจว่าเป็นคนซุ่มยิงแล้วก็ยิงของอีกฝ่ายแล้วก็ยิงไปอีกจุด ดังนั้นที่สี่แยกคอกวัวจึงไม่น่าจะมีคนที่ยิงมาจากที่สูง อย่างไรก็ตาม สำหรับบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยานั้น ช่างภาพ นักข่าวต่างประเทศและผู้ชุมนุมที่สัมภาษณ์เชื่อว่ามีการยิงลงมาจากอาคารชั้นบนสุดของโรงเรียนสตรีวิทยา โดยเขาบอกว่าเขาเห็นขณะที่ยิง โดยยิงมาที่ผู้ชุมนุมที่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในคืนนั้นเองผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งก็จะพยายามเข้าไปในโรงเรียนสตรีวิทยาเพื่อขึ้นไปตรวจสอบ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งพักอาศัยอยู่ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ที่โรงเรียนนั้นห้ามไม่ให้ขึ้นไป

เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้น คนพุ่งความสนใจไปเฉพาะเหตุการณ์ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว และบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาเท่านั้น แต่ความจริงแล้วความรุนแรงได้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนบ่าย คือบริเวณใกล้สะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งทหารได้เข้ามาสลายการชุมนุมของ นปช. นั้น ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 1 รายในช่วงเวลาบ่าย ใกล้สะพานมัฆวานฯ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เสียชีวิตด้วยกระสุนความเร็วสูง และในช่วงดึกของวันดังกล่าวหลังจากที่เหตุการณ์บริเวณถนนราชดำเนินสงบแล้ว มีพนักงานสวนสัตว์ดุสิตคนหนึ่งถูกยิงตายด้วยกระสุนความเร็วสูงเสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต จากการตรวจสอบพบว่าในสวนสัตว์ดุสิตนั้นมีทหารหน่วยหนึ่งพักอาศัยอยู่ แต่ก็ไม่ทราบสาเหตุของการยิงและทำไมถึงมีการยิงเกิดขึ้น และบริเวณนี้มีความสืบเนื่องกับเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้าในตอนเย็นด้วย ก็คือในช่วงบ่ายบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ในขณะที่กำลังทหาร เจ้าหน้าที่ทหารกำลังเคลื่อนจากฝั่งธนบุรีมาสมทบกับกำลังทหารที่ฝั่งพระนคร โดยข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้ามา แล้วก็พบว่านายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำคนหนึ่งของ นปช. พร้อมกับการ์ด นปช.จำนวนหนึ่ง ไปปฏิบัติการขัดขวางการเคลื่อนกำลังของเจ้าหน้าที่ และยึดอาวุธยุทธภัณฑ์ของทหารไป และมีการปรากฏตัวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ในบริเวณดังกล่าวด้วย

ในเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 พบว่าอย่างน้อย 2 พื้นที่ ปืนลูกซองของทหาร 35 กระบอก ปืนเล็กยาวหรือ ปลย. ชนิดทราโวจำนวน 12 กระบอก พร้อมกระสุนจริง 700 นัด ถูกการ์ด นปช.ยึดไป และในเหตุการณ์ที่โรงเรียนสตรีวิทยา ที่เจ้าหน้าที่สูญเสียมาก รถสายพานลำเลียงถูกเผา ปืนเล็กยาว ปลย. เอ็ม 16 จำนวน 9 กระบอก ทราโวจำนวน 13 กระบอก และอื่นๆ ถูกยึดไป อาวุธเหล่านี้ทางราชการได้กลับคืนมาเพียงปืนเอ็ม 16 1 กระบอก และปืนทราโว 2 กระบอกเท่านั้น ที่เหลือยังไม่ได้คืน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราถือว่าอัปเดต หากพนักงานสอบสวนมีข้อมูลที่อัปเดตกว่านี้ก็ขอให้นำเสนอด้วย แต่จนถึงบัดนี้ได้รับคืนเพียง 13 กระบอกเท่านั้น ประเด็นสำคัญก็คือ อาวุธปืนเหล่านี้การ์ด นปช.ได้นำไปมอบไว้ให้ที่เวที นปช.ตรงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่พนักงานสอบสวนคงต้องสอบสวนต่อไป เพื่อให้ความจริงเกี่ยวกับปืนจำนวนนี้ปรากฏ

ส่วนเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 นาย ซึ่งจากพยานหลักฐานเข้าใจว่าเสียชีวิตเนื่องจากถูกยิงด้วยความเข้าใจผิดจากเจ้าหน้าที่ทหาร ส่วนความรุนแรงที่ศาลาแดงซึ่งเกิดขึ้นหลายช่วง ช่วงหนึ่งก็คือวันที่ 13 เม.ย. ถึงวันที่ 13 พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ก่อน ศอฉ.จะใช้มาตรการปิดล้อมการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ในช่วงนี้มีการยิงอาวุธสงครามเข้าใส่ประชาชนและเจ้าหน้าที่บริเวณถนนสีลมหลายเวลา หลายครั้ง หลายวัน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 2 นาย พลเรือนเสียชีวิต 1 ราย ประเด็นสำคัญก็คือว่าการยิงนั้นยิงมาจากพื้นที่ควบคุมของผู้ชุมนุม บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 และสวนลุมพินี วันที่ 29 เม.ย. แกนนำ นปช. นายพายัพ ปั้นเกตุ ได้นำผู้ชุมนุมเข้าบุกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่แกนนำที่สี่แยกราชประสงค์ก็ได้ขอโทษประชาชนไปแล้ว และอธิบายว่าเป็นการดำเนินการโดยพลการเอง

ที่สำคัญที่คนให้ความสนใจมากก็คือการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ในวันที่ 13 พ.ค.ตอนเย็น ซึ่งถูกยิงขณะที่อยู่หน้าลิฟต์คนพิการสถานีรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที สถานีสีลมฝั่งสวนลุมพินี จากการตรวจสอบเชื่อว่ายิงมาจากอาคารสูงที่อยู่โดยรอบด้านขวาของ พล.ต.ขัตติยะ ก็คืออาจะเป็นโรงแรมดุสิตธานี สีลมพลาซ่า กระทั่งอาคารบางอาคารในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในช่วงนั้น ศอฉ.อนุญาตแล้ว แล้วก็ได้จัดให้มีพลแม่นปืนและพลซุ่มยิงประจำอยู่ตามอาคารต่างๆ โดยรอบ มีข้อสังเกตว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการปิดล้อมซึ่งจะมีในวันรุ่งขึ้นของ ศอฉ.หรือไม่ ประเด็นสำคัญก็คือทันทีที่ พล.ต.ขัตติยะถูกยิง มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศอย่างน้อย 1 คนเห็นคนชุดดำวิ่งเข้าไปในเต็นท์และหยิบปืนเล็กยาวออกมา แล้วยิงไปทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงแรมดุสิตธานีเนื่องจากเข้าใจว่า พล.ต.ขัตติยะถูกยิงมาจากตึกดังกล่าว แล้วพื้นที่นั้นก็คือลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของการ์ด นปช.

สถานการณ์ได้พัฒนามาอีกขั้นหนึ่ง คือการปิดล้อมตั้งแต่วันที่ 13-18 พ.ค. ซึ่งโดยสรุปมีผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวในช่วงปิดล้อมนั้นถึง 42 คน เป็นการเสียชีวิตที่สวนลุมพินี สีลม ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ 22 คน ถนนราชปรารภ ดินแดง ซึ่งเป็นจุดเดือดอีกจุดหนึ่ง 20 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุม มีบางคนเป็นชาวชุมชน และเป็นอาสาพยาบาล 1 คน เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาสาธารณภัย 1 คน โดยบริเวณสวนลุมพินี สีลม ถนนพระราม 4 บ่อนไก่ รวมทั้งถนนวิทยุ พบว่ามีการปฏิบัติการของชายชุดดำเช่นกัน พบร่องรอยกระสุนที่ยิงไปตามถนนพระราม 4 ที่ยิงมาจากหน้าอาคารอื้อจือเหลียง เชิงสะพานไทย-เบลเยียม ไปในทิศทางที่ไปทางด่วน ซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่ และมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือมีกระสุนปืนลูกกรดหรือแม็กนัม ที่อาจจะทำให้มีผู้เสียชีวิตบางรายอยู่ เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอาวุธชนิดนี้ใช้ในการปฏิบัติการ ส่วนจุดราชปรารภและดินแดงมีผู้เสียชีวิต 23 ราย รวมทั้งที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยด้วย ในจำนวนนี้ 3 รายเสียชีวิตวันที่ 19 พ.ค. มีเยาวชนต่ำกว่าอายุ 18 ปีอยู่ 2 รายด้วย

หลังจากที่มีการปิดล้อมแล้ว เหตุการณ์ก็ยกระดับในวันที่ 19 พ.ค. 2553 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ชุมนุมที่อยู่ตามจุดต่างๆ ได้กลับภูมิลำเนา โดยการเข้าไปกระชับพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี และถนนราชดำริตั้งแต่แยกศาลาแดงขึ้นไป โดยมีเป้าหมายคือโรงแรมโฟรซีซั่นส์ โดยหวังให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับไปขึ้นรถที่จัดเตรียมรอไว้ที่สนามกีฬาแห่งชาติ พบว่าขณะที่เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนไปมีความรุนแรงเกิดขึ้น กระทั่งมีผู้เสียชีวิต ซึ่งเข้าใจว่ามีแค่ 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม แต่บริเวณถนนราชดำริขึ้นไปจนถึงแยกสารสินมีผู้เสียชีวิต 6 คน เป็นทหาร 1 นาย ชายไม่ทราบชื่อ 1 ราย รวมทั้งนายฟามิโอด้วย ทหารถูกเสียชีวิตเนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 ซึ่งมีการโจมตีมาจากชายชุดดำ ขณะที่ทหารเคลื่อนกำลังไปถึงแยกสารสิน โดยมีทิศทางการยิงมาทางด้านทิศเหนือ หรือทิศที่ไปทางแยกราชประสงค์ อย่างไรก็ตาม ไม่พบพยานหลักฐานว่ามีพลเรือน นอกจากทหาร ช่างภาพ ถูกโจมตีด้วยเอ็ม 79 หลายลูกโดยคนชุดดำ และคนอื่นไม่พบว่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของคนชุดดำ

ส่วนเหตุการณ์วัดปทุมวนาราม แม้เห็นว่าค่อนข้างจะมีความเข้าใจพอสมควร แต่ประเด็นก็คือ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ที่ทหารบนรางรถไฟฟ้าเล็งปืนและยอมรับว่ายิงจำนวนหนึ่งไปหน้าวัดปทุมวนาราม หรือในวัดปทุมวนาราม ได้มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับคนชุดดำ ที่พยายามเข้าไปอำนวยความสะดวกในการดับเพลิงที่ไหม้อยู่ที่โรงหนังสยาม แล้วก็มีการไล่ตามกันมาจนคนชุดดำมาถึงแยกเฉลิมเผ่า แล้วพบร่องรอยรวมทั้งประจักษ์พยานว่ามีการยิงตอบโต้กันระหว่างคนชุดดำที่อยู่ใต้สกายวอล์กกับเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บนสถานีรถไฟฟ้าสยามฯ มีร่องรอยกระสุนปรากฏอยู่ทั้งสองส่วน คือ ส่วนที่เจ้าหน้าที่อยู่ และส่วนที่คนชุดดำอยู่ แล้วก็มีพยานหลักฐานที่พบว่าคนชุดดำนั้นได้วิ่งเลียบกำแพงวัดปทุมวนารามไปในตอนเย็นวันนั้น ส่วนร่องรอยกระสุน คอป.ยังมีภาพจำลองที่พูดถึงความเป็นไปได้ถึงวิถีกระสุนที่ทำให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งอาสาพยาบาลเสียชีวิต

ส่วนประเด็นที่ว่าวัดปทุมวนารามเป็นที่ซ่องสุมของชายฉกรรจ์หรือคนชุดดำหรือไม่ และมีการยิงจากในวัดเข้ามายังเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสถานีรถไฟฟ้าหรือไม่ ประเด็นนี้พบว่ามีรอยแตกบนอาคารรถไฟฟ้าที่สถานีสยามฯ แต่ไม่ทราบว่าเป็นรอยกระสุนหรือไม่ เนื่องจากอยู่ที่สูง เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานก็ไม่ได้เข้าไป แต่หากเป็นรอยกระสุนจริงก็น่าจะมีการยิงออกมาจากด้านในวัดเช่นกัน แต่ก็มีการ์ด นปช. มีผู้ถืออาวุธอยู่ในวัด ซึ่งก็ไม่ใช่วันที่ 19 พ.ค. จากการตรวจสอบในวัดวันที่ 20 พ.ค.เจ้าหน้าที่พบอาวุธปืนเอ็ม 16 อยู่ในวัดอีกด้วย ประเด็นก็คือ เอ็ม 16 กระบอกนี้เป็นกระบอกเดียวกับที่ผู้ชุมนุมยึดไปจากทหารเมื่อวันที่ 14 พ.ค. จากเหตุการณ์ที่ทหารขับรถเข้ามา แล้วผู้ชุมนุมก็เข้าไปยึดรถ ทุบตีเจ้าหน้าที่ และยึดอาวุธปืน เอ็ม 16 ไป ส่วนการเผาอาคารเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ไฟได้ไหม้จากห้างเซน และเข้าไปในเซ็นทรัลเวิลด์ ยังไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมาถึง แต่มีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณนั้นจำนวนมาก หลังจากที่แกนนำได้ประกาศมอบตัว

โดยสรุปว่ามีคนชุดดำหรือไม่ ก็สรุปว่ามีการปฏิบัติการของกลุ่มชายชุดดำจริง และมีการใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่อยู่ ประกอบการก่อวินาศกรรมทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุมในหลายสิบจุด ถึงบัดนี้ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ นอกจากคนร้ายที่ยิงเข้าไปในกระทรวงกลาโหม ปัญหาคือคนชุดดำที่มีอาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่มีความเกี่ยวพันกับใคร พบว่ามีความใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล คืออยู่ในกลุ่ม ไปไหนด้วยกัน และการปฏิบัติการของคนชุดดำในบางเหตุการณ์ได้รับความร่วมมือและสนับสนุน รวมทั้งรู้เห็นเป็นใจจากการ์ด นปช. แต่คนชุดดำจะมีความสัมพันธ์หรือใกล้ชิดกับแกนนำ นปช. หรือไม่ ไม่มีพยานหลักฐานที่โยงไปถึงขนาดนั้น แต่ในหลายเหตุการณ์อยู่ในพื้นที่ควบคุมโดยการ์ด นปช. ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราได้รับ ซึ่งสรุปได้ยากว่าจำนวนคนชุดดำมีเท่าไหร่ แล้วเป็นใคร

นายสมชายกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การชุมนุมเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้จัดการชุมนุมควรจัดให้ทุกอย่างอยู่ในสิทธิตามกฎหมาย ต้องประสานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปราศจากอาวุธ สงบ และไม่ใช้สิทธิอันสมบูรณ์ เพราะเจ้าหน้าที่สามารถจัดการสถานการณ์ได้ตามอำนาจอันสมควรแก่เหตุ ดังนั้นจึงพบว่าแกนนำ นปช.ยังไม่ใช้ความพยายามอย่างเพียงพอในการป้องกันเหตุรุนแรง

ในส่วนรัฐก็พบความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะ ศอฉ.ไม่มีระบบการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่ออกไปปฏิบัติการ นอกจากรอรับรายงาน ไม่มีการประเมินผลว่าคำสั่งปฏิบัติการจะมีผลอย่างไรต่อผู้ชุมนุม ทำให้ผู้บริหารบางคนยังเข้าใจว่าไม่มีการใช้กระสุนจริง ทั้งที่จริงมีการใช้กระสุนจริงด้วย

ทั้งนี้ การใช้อาวุธที่จะละเมิดต่อชีวิตจำเป็นต้องใช้ระวังเป็นพิเศษ เช่นการยิงผู้ที่ไม่มีอาวุธอาจทำให้บาดเจ็บ ล้มตายได้ เคยมีคำพิพากษาเหตุรุนแรงเมื่อปี 2552 ว่าการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่แม้จะถูกยั่วยุโจมตีแต่ถ้าได้ใช้อาวุธกับคนไม่มีอาวุธในมือกองทัพต้องรับผิดชอบ










นายสมชาย หอมลออ กรรมการ คอป.แถลงข่าวสรุปผลรายงาน การค้นหาความจริงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ของ คอป. ฉบับสมบูรณ์หลังครบวาระการทำงาน 2 ปี



กำลังโหลดความคิดเห็น